สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดันทุรัง ปรองดอง หายนะมาเยือน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

สถานการณ์ทางการเมืองกำลังเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง จะด้วยความตั้งใจหรือบกพร่องโดยสุจริตก็ตาม แต่ทุกอย่างได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวัน ที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะพรรคเพื่อไทยสามารถดันทุรังให้สภาเริ่มนับหนึ่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติวันนี้

พลันที่พรรคเพื่อไทยตัดสินหักด้ามพร้าด้วยเข่า ส่งผลให้เค้าลางแห่งปัญหาทั้งในและนอกสภาบังเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเปิดใจมองมันหรือไม่

“ในสภา” ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ออกตัวแรงมากต่อการคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ปักธงลงสภาว่าหัวเด็ดตีนขาดจะไม่ยอมให้กฎหมายฟอกคนผิดเป็นถูกผ่านสภา

ความบ้าดีเดือดของประชาธิปัตย์แตกต่างไปจากเมื่อครั้งการพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนั้นมีวัตถุประสงค์ต้องการลากยาวเพื่อใช้เวทีรัฐสภาอภิปรายตีกิน ทำลายความชอบธรรมรัฐบาลมากกว่าจ้องจะล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกับ กฎหมายปรองดอง

มิฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ถึงไม่ประกาศพร้อมร่วมต่อต้านกฎหมายฉบับนี้นอกสภาแบบไม่ ต้องแอ๊บให้เสียเวลา ต่างจากการสงวนท่าทีไม่ขอเคลื่อนไหวนนอกสภาในหลายๆ ประเด็นก่อนหน้านี้

การเคลื่อนเกมของฝ่ายค้านใช้กลยุทธ์ทั้งบทบู๊และบุ๋น ใช้ทุกช่องทางเพื่อล้มกฎหมายปรองดองเต็มที่ ตั้งแต่การย้ำในจุดยืนว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องลงนามรับรองกฎหมายปรองดองในฐานะเป็น พ.ร.บ.การเงินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 143 ไม่ใช่อยู่ดีๆ ถือวิสาสะบรรจุเข้าสารบบของรัฐสภาดื้อๆ พ่วงด้วยการยื่นถอดถอนประธานสภาในข้อหากระทำขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง

 

มาจนถึงการยอมสูญเสียภาพลักษณ์ทางการเมืองด้วยการประกาศจุดยืนว่า “ถ้าประธานสภาไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่เคารพประธานสภา” ก่อนเกิดปรากฏการณ์บุกประชิดตัว “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภา และเขวี้ยงเอกสารใส่แบบไม่มีใครคิดว่าพรรคเก่าแก่อายุเฉียด 100 ปี จะกล้าทำ

อีกด่านในสภาที่น่าจะวุ่นวายไม่แพ้กัน คือ วุฒิสภา เพราะกลุ่ม 40 สว. ขาประจำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศจุดยืนผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอย่างเป็นทางการ

ต่อให้พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าสามารถคุมสภาสูงได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเข้าตาจนขึ้นมาจริง วุฒิสภาเองก็ไม่ได้มีผนังป้องกันแรงเสียดทานการเมืองสูงเหมือนกับสภา เพราะล้วนอุดมไปด้วยผู้อาวุโส ซึ่งมีธรรมชาติไม่ชอบให้ตัวเองอยู่ในสภาวะตึงเครียดมากนัก

จึงเป็นไปได้สูงว่าหากเกิดความปั่นป่วนระดับน้องๆ สภาขึ้นมา ประธานและรองประธานวุฒิสภาทั้ง 3 คน จะสั่งเลื่อน พ.ร.บ.ปรองดอง ออก ไปก่อน เว้นเสียแต่ว่า สว.จะยอมฝ่าดงเท้าเช่นกัน

ทั้งนี้ แรงกดดันที่เกิดในรัฐสภาต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะมีผลให้การเคลื่อนไหว “นอกสภา" มีพลังมากขึ้นทันตาเห็น

นอกสภาในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพียงอย่างเดียว เนื่องจากแนวร่วมส่วนอื่นๆ ที่เคยกระจัดกระจายก่อนหน้านี้ รวมไปถึงพลังเงียบจะกลับมารวมตัวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายล้มกระบวนการปรองดอง

ดูได้จาก 2 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ชุมนุมมีแนวโน้มมากขึ้น ปริมาณมวลชนเต็มถนนอู่ทองใน ตั้งแต่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาไปจนถึงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าประเด็นการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นชนวนให้ม็อบจุดติด

เมื่อคนเริ่มมาก การเคลื่อนไหวของมวลชนย่อมมีโอกาสสู่การสร้างเงื่อนไขได้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบต่างๆ ที่เคยปรากฏมา เช่น การล้อมรัฐสภากดดันไม่ให้ประชุมกฎหมายปรองดองได้ หรือการล้อมทำเนียบรัฐบาล หากม็อบยกระดับการชุมนุมขึ้นมาเป็นการขับไล่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

ภาพการเมืองในขณะนี้ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารปี 2549 ที่ทางตันของประเทศไทยมีจุดเริ่มจากรัฐสภาเหมือนกัน

ย้อนกลับไปเวลานั้น รัฐสภาภายใต้เสียงข้างมากของพรรคไทยรักไทยได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม เปิดช่องให้ต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้ 49% จากเดิม 25% ไม่กี่วันถัดมา บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ขายหุ้นให้แก่บริษัท เทมาเซก โฮลดิงส์ (พีทีอี) จำนวน 1,487,740,000 หุ้น คิดเป็น 48% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมมูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

ขณะเดียวกัน ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ช่วงนั้นพยายามแจงต่อสาธารณะว่าตัวเองไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของครอบครัวดำเนินการ และใช้ลีลาการเมืองย้อนฝ่ายตรวจสอบไปในคราวเดียวกัน

“ไม่เกี่ยวเลย ไม่มีเลย โธ่! ตรงไปตรงมา ผมตัวเบ้อเร่อเท่อนี้ ผมทำไม่ตรงไปตรงมาได้อย่างไร ผมไม่ใช่ตัวเล็กๆ แล้วมันจะเล็ดลอดอะไรไปได้ ผมตัวเบ้อเร่อเท่อ ยิ่งต้องให้ตรงไปตรงมา...อิจฉาล่ะซิ แค่นั้นแหละ ตัวเดียว” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2549

ต่อมาไม่สามารถทนแรงกดดันได้ จึงตัดสินใจยุบสภาในปีเดียวกัน เป็นปฐมเหตุให้การเมืองเข้าสู่จุดวิกฤตสูงสุด การเลือกตั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นทางออก กลายเป็นทางตันไปโดยปริยาย เพราะเป็นโมฆะตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

6 ปีให้หลัง ณ พ.ศ. 2555 เริ่มปรากฏความเหมือนที่แตกต่างให้เห็น โดยพรรคเพื่อไทยเล่นบทสองหน้าอย่างชัดเจน

หน้าหนึ่งได้จากลีลาพลิ้วของ “ยิ่งลักษณ์” น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้นำประเทศ ออกอาการชิ่งทุกปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะการตราร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทำให้สังคมได้ขบคิดว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนระดับนายกฯ ผู้นำฝ่ายบริหารจะไม่รู้เรื่อง

“ยังไม่เห็นเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทุกฉบับ เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสภาที่จะหารือกัน ถือว่าสภาเป็นตัวแทนของประชาชน” ลีลาวาจา ยิ่งลักษณ์ วันที่ 31 พ.ค.

ท่าที “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต่างอะไรกับการสวมบทผู้ใสซื่อบริสุทธิ์ ปฏิเสธทุกข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อน แต่อีกหน้าหนึ่งพรรคเพื่อไทยเล่นบทโหดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมรวบหัวรวบหาง ทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตัวเอง ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เห็นได้จากการเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการในวันนี้

การตบโต๊ะลุยนิรโทษกรรมครั้งนี้ แทบไม่ต้องจินตนาการว่าจะเร่งให้อุณหภูมิเดือดขนาดไหน ยังไม่รวมถึงปริมาณมวลชนผู้สนับสนุนและคัดค้านที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่ท้องถนน มากขึ้น มีผลโดยตรงให้สถานการณ์บานปลายและง่ายต่อการแทรกแซงจากมือที่สาม ซึ่งทุกองค์ประกอบแห่งความขัดแย้งได้ครบถ้วนแล้วที่มีจุดเริ่มต้นจากรัฐสภา และไปลงเอยที่ท้องถนน

จากนี้ไปเหลือเพียงแต่รอวันปะทุเท่านั้น แต่จุดจบจะเข้าอีหรอบเดิมหรือไม่ มีแต่เวลาที่จะให้คำตอบ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดันทุรัง ปรองดอง หายนะมาเยือน

view