สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่าสัญญา กทม.-บีทีเอสซี

ผ่าสัญญา'กทม.-บีทีเอสซี'

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผ่าสัญญา"กทม.-บีทีเอสซี" ชี้ปมล็อกสเปคส่วนต่อรถไฟฟ้าเอื้อสัญญาหลัก?
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ถือเป็นมือเก๋าในการตรวจสอบความไม่โปร่งใสหลายต่อหลายโครงการ ไม่เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ฝ่ายเดียวกันเองหรือฝ่ายตรงข้าม หลายเรื่องเป็นคดีดัง ตั้งแต่ทุจริตจัดซื้อ-รถเรือดับเพลิง กทม. ที่ดินเขาแพง ภาษี 7.8 หมื่นล้าน บริษัทบุหรี่ฟิลลิปมอร์ริส ล่าสุดกรณี กทม.ทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเป็นประเด็นร้อนล่าสุดที่ยุทธพงศ์ไล่บี้ หลังจากที่เขาเคยเกาะติดมาตั้งแต่คัดค้านการปรับราคารถไฟฟ้าตามระยะทางเมื่อปี 2548 จนต้องชะลอไปอีก 3 เดือน

ในนามพรรคเพื่อไทย ได้มีการยื่นเรื่องกรณี กทม.มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของ กทม.ทำสัญญาว่าจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เมื่อ 2 พ.ค. 2555 ให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิทและสายสีลม กทม.ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจสอบความไม่โปร่งใส ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ในวันที่พุธที่ 27 มิ.ย. 2555 นี้

ยุทธพงศ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจ ถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบ หลังจากตามหา "สัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร" ฉบับจริง ที่ กทม.ไม่ยอมเปิดเผย จนได้มาอยู่ในมือ จึงพบว่าหลายประเด็นในสัญญามีข้อเสียเปรียบ และคนกทม.ไม่ได้ประโยชน์จริงตามที่ กทม.กล่าวอ้าง

เขาระบุว่า กรณีนี้ไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจผิด แต่การทำสัญญาของกทม.โดยมอบหมายให้เคทีทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสซี เมื่อ 2 พ.ค. 2555 ให้บริการเดินรถในส่วนต่อสายสุขุมวิทและสายสีลม ที่กทม.ลงทุนเองทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเรียกว่าต่อสัญญาก็ไม่ได้เพราะสัญญาสัมปทานเดิมยังไม่หมด  

ยุทธพงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้ กทม.ล็อกสเปคในสัญญาส่วนต่อขยายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้สัญญาหลักของเอกชน โดยอธิบายว่า ในแผนผังการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนเดิม 23.5 กม.สายสุขุมวิท จากหมอชิตถึงอ่อนนุช อีกสายคือสายสีลม จากสนามกีฬาศุภชลาศัยถึงสาทร 23.5 กม. เริ่มเปิด 5 ธ.ค. 2542 สัญญา 30 ปี จะสิ้นสุด 4 ธ.ค. 2572 ขณะนี้ปี 2555 สัญญายังเหลืออีก 17 ปี แต่ กทม.ได้ทำส่วนต่อขยายสมัยผู้ว่าฯ กทม.อภิรักษ์ โกษะโยธิน สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุชไปแบริ่ง 5.25 กม. อีกช่วงสายสีลมจากสถานีสาทรไปตากสิน 2.20 กม. และจะต่อไปถึงบางหว้าอีก 5.30 กม. ส่วนต่อมีระยะทางทั้งหมด 12.75 กม.

ตรงส่วนต่อขยาย ที่ กทม.ได้ใช้เงินที่ได้จากภาษีของกทม.ล้วนๆ ไปทำ คือที่มาของการขยายการเดินรถในส่วนหลัก ซึ่งเป็นสัมปทานเดิมทั้งหมด หรือนิวเคลียส ที่สัญญายังเหลืออีก 17 ปี แล้วมาขยายไปอีก 13 ปี

ปัญหาวันนี้คือ กทม.มอบให้เคทีไปต่อขยายการเดินรถให้บีทีเอสซีต่อไปอีก 30 ปีในส่วนต่อขยายใหม่นี้ ขณะเดียวกัน กทม.ก็มอบส่วนหลัก ให้เคทีรับไปบริหารจัดการเดินรถออกไปด้วย เมื่อต่อขยายออกไป 30 ปี ก็ดึง 17 ปี ที่เหลือบวกเวลาขึ้นไปอีก 30 ปีด้วย โดยในสัญญาข้อ 5 การเริ่มงานและกำหนดเวลาของสัญญานั้น ข้อ 5.1 ระบุว่า สัญญาส่วนต่อขยายนี้มีอายุ 30 ปี โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2555 จึงถึงวันที่ 2 พ.ค.2585 ฉะนั้นตรงนี้ ผมขอกล่าวหาว่า เป็นการเอาส่วนต่อขยายมาล็อกสเปค เพื่อที่จะขยายการเดินรถในส่วนนิวเคลียส ที่เหลืออีก 17 ปี ออกไปอีก 13 ปี รวมเป็นทั้งหมด 30 ปี

คำถามที่ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องตอบคือ ทำไมในส่วนต่อขยายไม่เซ็นสัญญาจ้างบีทีเอสซีเดินรถไปอีก 17 ปี เพื่อให้ระยะเวลาในสัญญาการเดินรถหมดไปพร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งอีก 17 ปีข้างหน้าก็คือปี 2572 และเมื่อหมดไปพร้อมกัน ก็เปิดประมูลพร้อมกันใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาแข่งขันได้ แล้วกรณีนี้คนกทม.ได้อะไรจากการทำสัญญาครั้งนี้ ค่าโดยสารก็ไม่ได้ลด

ยุทธพงศ์ เปิดเผยถึงข้อมูลที่ กทม.ทำตารางเปรียบเทียบค่าจ้าง ที่อ้างว่าประหยัดงบประมาณไปได้ 6,076.25 พันล้านในการทำสัญญาครั้งนี้ โดยกทม.ได้มาจาก ข้อเสนอของบีทีเอสซี ดังนี้ ตารางที่ 1 ระบุค่าจัดหารถไฟฟ้าโครงการจ้างบริหารจัดการเดินรถ 30 ปี และตารางที่ 2 ค่าจัดหารถไฟฟ้าตามสัญญาจ้างบริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยาย สายสีลม 2.2 กม.และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท 5.25 กทม.และข้อเสนอให้บริการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีลม 5.3 กม.

"กทม.อ้างว่าจากการเปรียบเทียบ (ข้อเสนอของบีทีเอสซี) ในตาราง 1 กับ 2 พบว่าการจ้างระยะยาว 30 ปีเมื่อเปรียบเทียบกับระยะสั้น 17 ปี ดังที่ กทม.ทำ อยู่ในปัจจุบัน คือ การลดค่าจ้างสำหรับการจัดหาทรัพย์สินเพื่อใช้ในการให้บริการเดินรถ เช่น ขบวนรถไฟฟ้า โดยอ้างอิงจากเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างบริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยาย (ตารางที่ 2) พบว่าค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าสำหรับระยะเวลา 17 ปี รวมยอดเงิน  10,862.71 ล้านบาท ในขณะที่ยอดเงินค่าจ้างระยะ 30 ปี จะได้ในราคา 4,786.46 ล้านบาท ต่ำกว่าเป็นจำนวน 6,076.25 พันล้าน  เนื่องจากมีการกระจายค่าจัดหารถออกไปเป็นระยะ 30 ปีแทนที่จะเป็น 17 ปี"  

ยุทธพงศ์ เห็นแย้งว่า เหตุผลนี้ไม่จริง เพราะการเดินรถ ต้องมีการซ่อมบำรุงทุกๆ 6 ปี Overhaul ทุก 15 ปี ต้อง Maintenance ชุดใหญ่ ค่า Maintenance ทางบีทีเอสซีมาคิดกับเคทีเพราะเขารับจ้างเดินรถ ซึ่งช่วงแรกรถคงไม่เสีย แต่ช่วงปีท้ายๆ ก็ต้องซ่อมบำรุงใหญ่ หากเกิดกรณีมีปัญหาบีทีเอสซีก็มา charge กับกทม.จะคิดว่าจ้าง 30 ปีถูกกว่า ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าปีหลังๆ บีทีเอสซีต้องซ่อมบำรุง ต้องใช้อะไหล่ๆ ต่างๆ ซึ่งมีราคาแพงมาก ซึ่งจะเห็นได้จากตารางว่าในปีหลังๆ จนถึงปีสุดท้าย ตัวเลขค่าจ้างเริ่มสูงขึ้น เพราะเขาบวกค่าซ่อมบำรุงด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ กทม.ต้องจ่ายชดเชยให้บีทีเอสซี เพราะส่วนต่อขยายในช่วงสั้นๆ วิ่งแล้วขาดทุน กทม.ก็ไปตั้งงบของกทม.จ่ายชดเชยให้บีทีเอสซี ในปี 2555-2572 รวม 6,472 ล้านบาท ก็ต้องถามกลับไปว่า ถ้าบอกว่าการไปต่อขยายทำสัญญาให้บีทีเอสซีอีก 30 ปี แล้วกทม.ประหยัด 6 พันล้านในส่วนตรงนี้ ทำไมกทม.ไม่เจรจาให้บีทีเอสซีรับภาระตรงนี้ไปเอง แต่กลับมาตั้งงบจ่ายให้แทน ในเมื่อหลังจากปี 2572 ในส่วนของเส้นทางหลักหรือนิวเคลียสก็จะกลับเป็นของกทม.และรายได้ต่างๆ ก็จะเป็นของกทม.

แต่ส่วนต่อขยายฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือบีทีเอสซี เพราะเป็นการขนคนจากนอกเมืองเข้ามาในนิวเคลียส ทำให้คนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเวลาชั่วโมงเร่งด่วน เช้า-เย็น ที่ปริมาณคนมากก็ไม่มีการเพิ่มโบกี้รถ และส่วนลดราคาโดยสารก็ไม่มีการเจรจา

ยุทธพงศ์ ยังชี้ถึงประเด็นข้อกฎหมายด้วยว่า ในสัญญาหลัก ที่กทม.เซ็นกับบีทีเอสซี ที่เป็นหัวใจคือ ข้อ 27 การขยายอายุสัญญาและสิทธิในการดำเนินการในเส้นทางสายใหม่ก่อนบุคคลอื่น ข้อย่อย 27.1 หากบริษัทจะขอให้กทม.พิจารณาจะขยายต้องแจ้งกทม.ไม่มากกว่า 5 ปี ไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนสิ้นสัญญา ทั้งนี้จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน

"สัญญาในส่วนนิวเคลียส ยังต่อสัญญาไม่ได้ กทม.เล่นบทศรีธนญชัย เอาส่วนต่อขยายมาล็อกสเปค มาดึงส่วนนิวเคลียส ขยายไปอีก 13 ปี แล้วที่กทม.ชี้แจงไม่ได้ คือ การขยายต้องรมว.มหาดไทยอนุมัติ แต่ รมว.มหาดไทยยังไม่อนุมัติเลย ปี 2572 สัญญาต้องสิ้นสุดและสมบูรณ์โดยตัวของมันเอง จะไปมอบเคทีรับช่วงไม่ได้ จะไปต่อเพราะส่วนอื่นไม่ได้"

อีกหนึ่งประเด็นคือในสัญญา ข้อ 7.4 ระบุว่า "ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการเดินรถมีการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากปัจจัยภายนอก คือ ค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม ดัชนีราคาผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อัตราค่าพลังงานไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย เงินกู้  อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราค่าแรงขั้นต่ำ "ผู้ให้บริการ" จะเสนอรายละเอียดของการปรับค่าจ้างที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นให้ผู้บริหารระบบและกทม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยใช้หลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างตามเอกสารแนบท้าย และข้อมูลการจัดหาขบวนรถตามเอกสารแนบท้าย 8"  


ยุทธพงศ์ ทิ้งท้ายว่า "ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไปตัดสินใจแทนคนกทม. โดยมีแต่เรื่องเสียประโยชน์ ผมเชื่อว่า กทม.จะชี้แจงหลายหน่วยงานที่ตรวจสอบไม่ได้" 


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่าสัญญา กทม.-บีทีเอสซี

view