สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไล่รีดภาษีอุดคลังถังแตก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือน พ.ค. 2555 ที่เป็นเดือนที่ 8 ของปีงบประมาณ 2555 ที่ออกมาต่ำกว่าเป้าถึง 3.66 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะหน้ามืดในทันที

การเก็บรายได้ที่ต่ำเป็นเดือนแรกเพียงเดือนเดียว ทำให้ยอดสะสมเกินเป้าของการเก็บรายได้ละลายหายไปเกือบสิ้น การเก็บรายได้ใน 7 เดือน ที่ยังเกินเป้าอยู่เกือบ 4 หมื่นล้านบาท มาถึงเดือนที่ 8 เหลือยอดเกินเป้าไม่ถึง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

สาเหตุการเก็บต่ำกว่าเป้ามาจาก 2 สาเหตุ คือ การเก็บภาษีของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้า จากการเก็บภาษีนิติบุคคลได้น้อยกว่าเป้าถึง 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วม ทำให้ผู้ประกอบการรายได้หายกำไรหด เสียภาษีลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ที่ลดการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้รายได้หายไปเดือนละ 9,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลลดมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ทำให้รายได้หายไปกว่า 7 หมื่นล้านบาท

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่กระเตื้องขึ้น การเก็บรายได้ในเดือน มิ.ย. ยังออกมาต่ำกว่าเป้า จะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะถังแตกทันที เก็บรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

หากว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว ประเทศไทยก็มีปัญหาการเก็บรายได้ไม่พอกับรายจ่ายของประเทศอยู่แล้ว การตั้งงบประมาณปี 2555 เป็นแบบขาดดุล 4 แสนล้านบาท หมายความว่า ประเทศมีรายจ่ายที่มากกว่ารายได้ถึง 4 แสนล้านบาท ที่ต้องไปกู้เงินมาถมให้เต็ม

และหากรายได้ที่ตั้งไว้ยังเก็บไม่เข้าเป้าอีก รัฐบาลย่อมหนีคำครหาไม่พ้นว่าทำประเทศถังแตกเพิ่มขึ้น และเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

ปัญหาจึงตกหนักที่กรมสรรพากร ที่เป็นพี่ใหญ่เรื่องการเก็บรายได้ของประเทศ เพราะการเก็บภาษีของกรมสรรพากรคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของรายได้ประเทศทั้งหมด

แม้ว่าจะเจอปัญหาเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาถึง 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาพรวมการเก็บภาษีของกรมต่ำกว่าเป้าไปแล้วถึง 2,000 ล้านบาท แต่ สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ก็ยังสวมใจสิงห์เดินหน้าเก็บภาษีให้ทะลุเป้า เพื่อพยุงภาพรวมรายได้ของประเทศให้พ้นจากสภาพจมน้ำตาย

อธิบดีกรมสรรพากร สั่งการให้สรรพากรพื้นที่ลุยรีดภาษีผู้ประกอบการยกใหญ่ สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจเข้มนิติบุคคลรายใหญ่ 3,500 ราย ที่เป็นผู้เสียภาษีถึง 80% ของภาษีนิติบุคคลทั้งหมด โดยมุ่งเป้าไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ให้มีการเสียภาษีกลางปีให้มากที่สุด ไม่ให้เสียน้อยและมาจ่ายเพิ่มทีหลัง

นอกจากนี้ ยังสั่งให้สรรพากรพื้นที่ตรวจการเสียภาษีของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 อันดับแรกของพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้มากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ

กรมสรรพากรมองว่าภาษีผู้ประกอบการเป็นเงินก้อนใหญ่ หากเก็บได้เพิ่มก็จะทำให้การรีดภาษีเกินเป้าได้ง่ายมากกว่า การไปไล่รีดภาษีจากผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยที่รายได้น้อย ไม่พอจะมาทำรายได้ให้เกินเป้า

การดำเนินการของกรมสรรพากร เป็นการรีดภาษีผู้ประกอบการให้เสียภาษีล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ออกอาการหน่ายกันยกใหญ่ เรียงแถวออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรมสรรพากร ที่พุ่งเป้ารีดแต่ภาษีรายใหญ่ไปถมรายได้รัฐบาลที่ทำท่าจะต่ำกว่าเป้า

ผู้ประกอบการมองว่า ลำพังผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม มีปัญหาการดำเนินการ และฐานะการเงินมีปัญหา ขณะที่ในอนาคตเศรษฐกิจยังผันผวนต้องฝ่าคลื่นลมมรสุมอีกหลายลูกทั้งนอกและใน ประเทศ และยังต้องมาเจอกรมสรรพากรรีดภาษีล่วงหน้า เป็นการตัดกำลังผู้ประกอบการให้อ่อนแรงลงไปอีก

นอกจากรายใหญ่ กรมสรรพากรยังสั่งรีดภาษีกับรายเล็ก รายย่อย เอสเอ็มอียกใหญ่ด้วย โดยให้สรรพากรแต่ละพื้นที่ตรวจเข้มว่าเอสเอ็มอีต้องเป็นเอสเอ็มอีจริงๆ คือ มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายรับไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ถึงจะเสียภาษีในอัตราของเอสเอ็มอี แต่หากรายได้เกินให้ปรับขึ้นเสียภาษีในอัตรานิติบุคคลปกติทันที

ที่ผ่านมาก่อนหน้า 7 เดือน ที่ภาษีของกรมยังเกินเป้าอยู่มาก กรมสรรพากรมั่นใจว่าการเก็บภาษีจะเกินเป้า 1.6 ล้านบาท ถึง 10% หรือ 1.6 แสนล้านบาท เพียงพอจะไปโปะรายได้ของกรมสรรพสามิตที่คาดว่าจะเก็บต่ำกว่าเป้า 1 แสนล้านบาท จากการลดการเก็บภาษีน้ำมัน

ในช่วงดังกล่าวกรมสรรพากรเน้นการรีดภาษีรายเล็ก รายย่อย หาบเร่แผงลอย ผู้ค้าทางอินเทอร์เน็ต เป็นการเรียกน้ำย่อย ไม่ได้คิดรีดภาษีรายใหญ่ให้กระเทือนนายทุน เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เพิ่งลดภาษีให้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และจะเหลือ 20% ในปีหน้า ในส่วนนี้ทำให้กรมเสียภาษีไปกว่า 1.5 แสนล้านบาท

แต่ขีดความสามารถของกรมสรรพากรที่รีดภาษีจากรายเล็ก รายย่อย ยังมีมหาศาล ทำให้ประมาณว่าการเก็บภาษียังได้สูงกว่าเป้า แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ได้เป็นดังที่คาด ทำให้กรมสรรพากรต้องกลืนเลือด ไม่มีทางเลือกรีดภาษีผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะภาษีรายเล็กไม่สามารถมาอุดรัฐบาลถังแตกได้

งานหนักจึงตกอยู่กับกรมสรรพากรเพียงคนเดียว

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตเสนอให้มีการเก็บภาษีธุรกิจบาป เบียร์ สุรา บุหรี่ รวมถึงปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน เพราะกระทบนายทุนที่มีความใกล้ชิดการเมือง

เมื่อไม่เก็บภาษีใหม่เพิ่ม และยังเดินหน้าโครงการประชานิยมต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรกทำให้รายได้หายไป 3 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลชักหน้าไม่ถึงหลังในที่สุด และสุดท้ายหลีกไม่ได้ต้องรีดภาษีผู้ประกอบการเพิ่ม เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ

สถานการณ์รีดภาษีจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2555 เพราะรัฐบาลไม่ให้ปิดหีบรายได้ต่ำกว่าเป้าอย่างแน่นอน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเสียทั้งหน้ารัฐบาลและฐานะการคลังเสียหาย ความน่าเชื่อถืออาจจะถูกปรับลดลง

การรีดภาษีในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาจากยุโรปมีการประเมินว่าการส่งออกของไทยจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 15% เหลือ 8% เศรษฐกิจที่ว่าจะโต 5-6% ทำท่าจะไปไม่ถึง และกรมสรรพากรยังเดินหน้าสวนทางรีดภาษีเพิ่มให้ได้เงินถุงเงินถังไม่ใช่ เรื่องง่าย

รัฐบาลจึงอยู่ในภาวะที่ปัญหาการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจรุมเร้าอย่างหนัก

การเดินโครงการประชานิยมแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง จำนำข้าวใช้เงินไปถึง 2-3 แสนล้านบาทในปีแรก และกำลังเริ่มรอบใหม่ในไม่ช้า โครงการพักหนี้ดี ทำให้แบงก์รัฐรายได้หายวูบไป 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นการใช้ละลายทิ้งแม่น้ำ

ขณะที่ตัวเลขหนี้ก็พุ่งสูงจากการใช้โครงการประชานิยม การกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ และออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับเป็นเงิน 4 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้จาก 42% ของจีดีพี เป็น 45% ในปีนี้ และจะแตะ 50% ในปีหน้า ทำให้หลายคนหวั่นว่ารัฐบาลกำลังลากเศรษฐกิจไปหายนะเหมือนประเทศกรีซ ต้นตอของวิกฤตยุโรปที่พ่นพิษอยู่ทุกวัน

ตอนนี้ยังมามีปัญหารัฐบาลใกล้ถังแตกอีก ทำให้รัฐบาลโดยกรมสรรพากรต้องเดินหน้าใส่เกียร์ห้ารีดภาษีกันยกใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่าอีก 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ จะปิดหีบโดยการเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าเป็นผลงานชิ้นโบดำของรัฐบาล

ผลงานติดลบดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่อยากให้เกิดขึ้นแน่นอน จึงเปิดมหกรรมรีดภาษีผู้ประกอบการเป็นภารกิจเร่งด่วนอย่างที่เห็น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไล่รีดภาษี อุดคลังถังแตก

view