สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะเอกสารครม.กฤษฏีกาแนะลุยไฟรธน.

จาก โพสต์ทูเดย์

"คำวินิจฉัยเป็นเพียงข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิได้เป็นคำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันองค์กรต่างๆ เนื่องจากการดำเนินการตามมาตรา 291 เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจในส่วนนี้"

โดย.....ทีมข่าวการเมือง

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ยังไม่ได้ทำความเห็นแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรต่อไปภายหลังศาลรัฐ ธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสนอที่ประชุมครม. แต่อย่างไรก็ตามการประชุมครม.วันดังกล่าว     นายอัชฌาพร  จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ก็ได้จัดทำเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรรมนูญมาตรา 68  (กรณีพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และผู้ร้องยื่น รวม 5 คำร้อง )  เสนอที่ประชุม เป็นวาระเพื่อทราบจร เรื่องที่ 9 

เอกสารได้สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ค.  แยกเป็น 4 ประเด็น  ประเด็นที่ 1  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่     ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่   ประเด็นที่ 3 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291  ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และประเด็นที่ 4 หากกรณีเป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งจะถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคหรือไม่

เป็นที่น่าสังเกต ในประเด็นที่ 1,3,4 กฤษฏีกาไม่ได้มีความเห็นเพิ่มเติม   มี เพียง ประเด็นที่ 2  เท่านั้นที่กฤษฏีกาแทรกความเห็นเข้ามา  โดยจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ระบุว่า  การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติ เสียก่อน หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความ เหมาะสม   

ปรากฎว่า  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกามีความเห็นว่า “คำวินิจฉัยเป็นเพียงข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิได้เป็นคำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันองค์กรต่างๆ เนื่องจากการดำเนินการตามมาตรา 291 เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจในส่วนนี้ “

ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ชี้แจงครม.ว่า  จากการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเบื้องต้นแม้ยังไม่มีบทวิเคราะห์คำวินิจฉัย ส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทางกฤษฎีกาไม่เห็นด้วยในการประชามติ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ     และไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เนื่องจากต้องใช้เวลานาน แต่หากจะดำเนินการตามแนวทางนี้จะต้องประกาศกำหนดกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจน เช่น 6 เดือน หรือ   แนวทางการลงมติในวาระ 3 จะมีปัญหาการตีความในภายหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้

อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางกฤษฎีกา มั่นใจว่าจะมีความชัดเจนภายใน 15 วัน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยส่วนตัวออกมาแล้ว จากนั้นทางสำนักงานกฤษฎีกาจะเร่งศึกษาและข้อเสนอแนะทางออกในการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญได้ แต่สุดท้ายฝ่ายการเมืองจะเป็นผู้ตัดสินใจ

จากนั้น  ครม.ไม่ได้มีการอภิปรายกันมากนัก มีเพียงนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ท่องเที่ยวและการกีฬาจากพรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า  การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ควรให้ค้างอยู่ในวาระสภาต่อไปก่อน เพราะครม.ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าจะทำประชามติหรือแก้ไขรายมาตรา 

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  อภิปรายว่า  ประเด็นจะค้างไว้ในสภาต่อไปหรือไม่ ตอนนี้ไม่ใช่ความเห็นครม.อยู่แล้ว เป็นเรื่องของสภา ซึ่งก็แล้วแต่สภาจะพิจารณากันอย่างไร ตอนนี้จะรอให้กฤษฏีกาทำแนวทางเป็นลายลักาณ์อักษรเสนอ ครม.อีกครั้ง      

หลังที่ประชุมครม.ผ่านวาระดังกล่าว อีกด้านหนึ่งบริเวณนอกครม. ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันว่า  ปัญหาน่าเป็นห่วงกว่านั้นเห็นจะเป็นภายในพรรคเพื่อไทย ระดับผู้บริหารหรือระดับกำหนดยุทธศาสตร์พรรค มีความคิดเห็นแตกต่างและขัดแย้งกัน ในการตัดสินใจเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิด หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจต้องชะลออกไปได้

3 กลุ่ม ที่มีความขัดแย้งทางความคิด แบ่งเป็น แนวทางเดินหน้าลงมติในวาระ 3 แกนนำกลุ่มที่สนับสนุนนำโดย นายโภคิน พลกุล  และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา , แนวทางการลงประชามติ ส่วนใหญ่ สส.ในพรรคสนับสนุนอยากให้รัฐบาลเดินหน้าลงประชามติตามแนวทางคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แกนนำกลุ่มที่สนับสนุน คือ ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี , นายนพดล ปัทมะ และนายทหารเตรียม 10 เป็นต้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจาะเอกสารครม. กฤษฏีกาแนะลุยไฟรธน.

view