สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลรธน.แพร่คำวินิจฉัยกลาง29หน้าให้แก้รธน.รายมาตรา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางรวม29หน้า ให้เแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแต่ต้องทำประชามติก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 13.40 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 ลงเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว โดยมีจำนวน 29 หน้า โดยในคำวินิจฉัยกลาง

ระบุถึง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับคณะ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินธร และคณะ คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบของผู้ถูกร้องที่1-6 ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นในการวินิจฉัย และผลการวินิจฉัยทั้ง 4 ประเด็นที่ตั้งไว้ รวมจำนวน 29 หน้า

ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยกลางดังกล่าวมีทั้งสิ้น 29 หน้า แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นการสรุปข้อเท็จจริงและเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ส่วนที่ 2 เป็นการสรุปข้อเท็จจริงคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบของผู้ถูกร้องและส่วนที่ 3 เป็นประเด็น ที่เป็นคำวินิจฉัยขอศาลโดยเนื้อหาขอคำวินิจฉัยไม่ได้แต่กต่างไปจากที่ได้อ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคำวินิจฉัยกลาง ระบุว่า คดีคำร้อง 5 คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย 4 ประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 68 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยมีสิทธิ 2 ประการ คือ

1.สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดั่งกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรคสองนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุดเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะใช้สิทธิในการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ในมาตรา 68 และเป็นไปเพื่อการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ว่า

เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องดำเนินการอยู่และยังไม่บังเกิดผล ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้ยกเลิกการกระทำนั้นได้ ไม่เช่นนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามาตรา 68 วรรคสอง จะไม่สามารถบังคับใช้ได้

ทั้งนี้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามาตร 68 นี้ มีหลักการสำคัญที่มุ่งหมายให้ประชาชนชาวไทยทุกคน มีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง ดังนั้นจึงเป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล้วงหน้า เพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบบการปกครองและการล้มล้างรัฐธรรมนูญมิให้เกิดขึ้นได้ เพราะหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้เช่นนี้แล้ว ดังนั้น ประชาชนผู้ทราบการกระทำตามมาตรา 68 ย่อมสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิของตนในการต่อต้านกระกระทำนั้นโดยสันติวิธี

กรณีอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 วรรคสองแล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งประการใดจากอัยการสูงสุด หากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระสามลุล่วงไปแล้ว แม้แต่อัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยมิชอบด้วยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ให้เลิกการกระทำนั้น ก็ไม่สามารถบังคับตามคำวินิจฉัยในทางใดได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวได้ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ หรือไม่ โดยมีประเด็นในการพิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 291 จะนำไปสู่การแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทั้งฉบับ ได้หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและองค์กรทั้งหลายที่ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญ กลับไปแก้รัฐธรรมนูญเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดาทั่วไป ซึ่งการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นกระบวนการที่ผ่านการลงประชามติโดยตรงจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้

ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ได้มาโดยการลงประชามติ ก็ควรจะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ จึงจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตรา เพื่อปฏิรูปการเมืองและปรับปรุงโครงสร้างทางการเมองขึ้นมาใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และถือเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ หรือปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมืองอย่างเป็นระบบ อีกทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 291

ซึ่งถือเป็นที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้นหากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่มาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวารสอง และกำลังเข้าสู่การลงมติวาระสาม จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นรูปธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งยังไม่ปรากฏผลประการใด

และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรคสอง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้” ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ได้ให้เหตุผลว่า “จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดไป” และในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 291/11 ก็ยังบัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะไม่กระทบถึงสาระสำคัญแห่งรัฐ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปได้ อีกทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ผู้ทราบการกระทำก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นทราบตามเท่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้

อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง และการไต่สวนของศาลจากฝ่ายผู้ถูกร้อง ล้วนต่างเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการ เพื่อให้มีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และผู้ถูกร้องยังแสดงเจตคติตั้งมั่นว่า จะดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯเช่นเดิม

ดังนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 291 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างจึงเป็นการคาดการณ์ หรือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งยังห่างไกลต่อการที่จะเกิดเหตุตามที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯแต่อย่างใด จึงให้ยกคำร้องในประเด็นนี้ และเมื่อได้วินิจฉัยเป็นดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 4 อีกต่อไป อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ทางสำนักงานฯได้เผยแพร่คำวินิจฉัยผ่านทางเว็บไซด์ <http://www.constitutionalcourt.or.th/> ปรากฏว่ามีผู้เข้าไปดาวโหลดคำวินิจฉัยกลางเป็นจำนวนมากส่งผลให้ เว็บไซด์ล่มเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีคู่กรณีมารอขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยตั้งแต่ช่วงเช้า


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาลรธน.แพร่ คำวินิจฉัยกลาง29หน้า แก้รธน.รายมาตรา

view