สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อียู ส่อแววล่มสลาย ไม่สละอำนาจ-ไม่สนใจความต่าง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ยูโรโซนในช่วงไม่กี่ปีที่ ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณความล่มสลายของภูมิภาคยุโรปเรียบร้อยแล้วในเชิง จิตวิทยา” มาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวแสดงความเห็นในระหว่างการแถลงข่าวสนับสนุนท่าทีล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ ที่แล้วของธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาค

นับเป็นความเห็นที่สะท้อนถึงสถานการณ์ของความเป็นสหภาพยุโรป (อียู) ในปัจจุบันได้ดีที่สุดว่าสิ่งที่ 27 ชาติสมาชิกอียูอาจเตรียมพร้อมแล้วแน่ๆ ก็คือการสละกลุ่มสลายตัวออกจากกัน

หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสามารถในการ จัดการแก้ไขปัญหาของอียูเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันในด้านต่างๆ ของสมาชิกภายในกลุ่มได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับก่อนก็คือว่า ความไม่ลงรอยกันระหว่างสมาชิกไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังการเกิด วิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เพราะเมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดให้ดีๆ จะพบว่า แท้จริงแล้ว การรวมกลุ่มจับมือกันเป็นสหภาพยุโรปตั้งแต่ต้น เป็นไปแบบหลวมๆ และขาดเอกภาพอย่างรุนแรง

แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือ แม้จะรู้ทั้งรู้ แต่บรรดาผู้นำประเทศ คณะกรรมาธิการอียู ตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ยังจงใจเพิกเฉยปัญหาเหล่านั้น

เป็นการมองข้ามที่ ฌาคส์ เดอลอร์ส อดีตประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบระบบโครงสร้างสกุลเงินยูโรต้องกล่าวออกมาว่าเมื่อ อียูและความเป็นสกุลเงินเดียวผิดพลาดมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น ปัญหาวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ต่อให้หาทางป้องกันมามากแค่ไหนก็ตาม

ทั้งนี้ เอกภาพแรกสุดที่กลุ่มอียูขาดไปอย่างรุนแรงก็คือเอกภาพทางด้านการเมือง ส่งผลให้การมุ่งขยายขนาดเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้นด้วยการเป็นตลาดเดียวนั้น เป็นไปแบบครึ่งๆ กลางๆ ปราศจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง

 

ประมาณว่า ต่างฝ่ายต่างรวมกันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ไม่คิดที่จะยอมเสียสละอำนาจในการบริหารกิจการหรือตัดสินใจเรื่องภายในของ ตนเอง

ผลลัพธ์ที่ได้จึงก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงมากกว่าผลดี เพราะการที่ระบบเศรษฐกิจไม่ได้ร่วมกันทั้งหมด ทำให้การควบคุมระบบการเงินของสมาชิกไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

เรียกได้ว่า แม้จะมี “เงินยูโร” ใช้ร่วมกันก็ไม่เกิดประโยชน์ ในเมื่อนโยบายเศรษฐกิจการเงินที่เหลือเป็นไปแบบที่ต่างคนต่างทำ

หรือต่อให้มีธนาคารร่วมกัน ใช้ระบบเงินสกุลเดียว แต่หากปราศจากส่วนกลางที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล มีอำนาจในการสั่งการ และการตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดพร้อมการยอมรับจากสมาชิกทุกระดับ ระบบที่ทำมาทั้งหมดย่อมล้มเหลวไม่เป็นท่า

นอกจากนี้ การที่อียูขาดอำนาจบริหารจัดการ ซึ่งหมายถึงการที่ชาติสมาชิกต้องยอมสละอำนาจอธิปไตยของตนเองในบางส่วนทิ้งไป กลับกลายเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ขัดขวางการรับมือหรือจัดการแก้ไขปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องไปไหนไกลก็คือ สถานการณ์ของภูมิภาคยุโรปในปัจจุบัน ซึ่งต้องการแนวทางนโยบายการแก้ไขที่ชัดเจนและรวดเร็วเพื่อฟื้นความเชื่อมั่น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า อียูจะออกมาตรการแก้ไขได้ในแต่ละครั้งก็ต้องผ่านการพูดคุยรอบแล้วรอบเล่า แถมเมื่อได้มติจากที่ประชุมแล้วก็ยังต้องยื่นเสนอต่อรัฐสภาของสมาชิกแต่ละ ประเทศเพื่อลงความเห็นรับรอง

ความล่าช้า เนิบนาบ และเนิ่นนาน เนื่องจากปราศจากส่วนกลางอำนาจ ทำให้สถานการณ์เพิ่มระดับเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤตในที่สุด

ขณะเดียวกันก็กลายเป็นบทเรียนอย่างดีสำหรับสมาคมอื่นๆ ที่จะรวมกลุ่มกันแบบอียูให้รู้ว่าถ้าประเทศในสมาคมยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ ทางด้านการเมือง การจะรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจก็ควรเปิดช่องให้แต่ละประเทศสามารถใช้มาตรการของ ตนเองในการแก้ปัญหาไว้ด้วย

อย่างน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤต

ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนเตือนได้เป็นอย่างดีว่า หากจะคิดใช้เงินสกุลเดียวกัน ก็ต้องมีเอกภาพทั้งทางการเมืองกับทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งเสียก่อน

และต้องดำเนินการในระดับที่สมาชิกทุกคนมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ทัดเทียมหรือสามารถก้าวได้อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอย่าง เดอลอร์ส ยอมรับว่า ปัญหาที่ทำให้วิกฤตหนี้สาธารณะเกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นเพราะผู้นำในสมัยนั้น โดยเฉพาะหัวหอกแกนนำกลุ่มอย่างเยอรมนีเลือกที่จะปิดตาหนึ่งข้างกับสภาพ เศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแออยู่ของสมาชิกบางประเทศ จนความไม่พร้อมที่ว่ากลายกลับมาเป็นหอกทิ่มแทงในปัจจุบัน

สำหรับเอกภาพต่อมาที่อียูขาดไปก็คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชนภายในภูมิภาค

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่าในช่วงทศวรรษที่ 1990 ของการริเริ่มการเป็นสหภาพยุโรป เฉพาะในระดับรัฐบาล ผู้นำประเทศหรือนักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำที่เกี่ยวข้องที่เข้าใจและกระตือ รือร้นเหลือร้ายกับการรวมกลุ่มเป็น “อียู”

ขณะที่ในระดับประชาชนไม่ได้เข้าใจอะไรมากเกินไปกว่าเหตุผลที่ว่าการเป็น อียูจะสร้างประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจของประเทศชาติและเม็ดเงินมหาศาลที่จะไหล เวียนเข้ามาภายในประเทศ

การที่มุ่งแต่ประเด็นทางเศรษฐกิจจนมองข้ามความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม ของประชาชนภายในประเทศสมาชิกนับเป็นจุดอ่อนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายอดตั้งคำ ถามไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือไม่

เพราะการขาดความเข้าใจในแนวคิดของการเป็นกลุ่มอียูอย่างถ่องแท้ ทำให้เกิดความไม่พอใจได้โดยง่ายในหมู่ประชาชน เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบอันดับแรกและโดยตรงเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นก็คือประชาชนของประเทศนั้นๆ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในบรรดาชาติสมาชิกของอียู เช่น การออกมาเดินประท้วงตามท้องถนนในกรีซ โปรตุเกส สเปน หรืออิตาลี

ต้องไม่ลืมว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนไม่พอใจ เหล่านักการเมืองอาชีพย่อมไม่ยอมเสี่ยงที่จะเลื่อยฐานเสียงของตนเอง ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการต่อต้านนโยบายของอียูที่ส่งผลสั่นคลอนอนาคตของสหภาพใน ระยะยาว

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์อีกส่วนหนึ่งลงความเห็นว่า การมองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมและขาดการสนับสนุนจากภาครัฐให้ประชาชนได้ เรียนรู้ที่จะเข้าใจความแตกต่างของกันและกันนับเป็นความผิดพลาดแบบไม่น่าให้ อภัย

เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ประวัติศาสตร์ยาวนานของภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะสงครามระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งบอกไว้อย่างชัดเจน ว่าสมาชิกแต่ละประเทศไม่ค่อยที่จะถูกชะตากันสักเท่าไรนัก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไร หากผลสำรวจทัศนคติของชาวยุโรปที่มีต่อกันจะเป็นไปในทางที่ค่อนข้างเหยียดกัน และกัน เช่นการสำรวจของเดอะ การ์เดียน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ได้ผลออกมาว่า ชาวอังกฤษขี้เมา หัวรุนแรง ฝรั่งเศสขี้ขลาดและเย่อหยิ่ง อิตาลีคือนักรักและลูกแหง่ หรือสเปนเป็นพวกบ้าพลังและรักสนุก

อย่างไรก็ตาม แม้ผลสำรวจอาจมุ่งให้เป็นเรื่องขำ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปกลับไม่ใช่เรื่องชวนหัวเราะเลยแม้แต่น้อย เพราะนักวิเคราะห์มองว่าตราบใดที่ประชาชนยังขาดสำนึกของความเป็นสหภาพยุโรป ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดสหภาพยุโรปที่มีลักษณะ “เหนือชาติ” ตามที่มุ่งหวังไว้ตั้งแต่แรกเริ่มอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ตราบใดที่ยุโรปยังไม่สามารถยอมรวมเป็นหนึ่งทั้งในด้านการเมืองและสังคมให้ ได้ สหภาพยุโรป หรืออียู ก็ไม่แคล้วต้องนับถอยหลังรอวันเลิกราเหมือนที่ มาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี เพิ่งจะออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า

“ตราบใดที่สมาชิกยังคงยึดติดกับการตัดสินใจตามแบบฉบับของตนเองโดยไม่สนใจ ที่จะหันหน้าเข้าหากันและคิดร่วมกันแบบอียู ยุโรปก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากไปทางใครทางมัน”


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อียู ส่อแววล่มสลาย ไม่สละอำนาจ ไม่สนใจความต่าง

view