สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตะลึง! ผลวิจัย สกว.พบศักยภาพพลังงานลมอ่าวไทยสูง 10,000 เมกะวัตต์

จากประชาชาติธุรกิจ

ผลวิจัย สำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ พบศักยภาพพลังงานลมอ่าวไทยสูง 10,000 เมกะวัตต์  นักวิชาการแนะรัฐเปิดลงทุนคุ้มกว่าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์  ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมลดวิกฤตความขัดแย้ง    กรีนพีช จัดกิจกรรมปฏิวัติพลังงานเสวนาครั้งใหญ่เสาร์—อาทิตย์นี้

 

นายจอมภพ แววศักดิ์   อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานทดแทน กล่าวว่า  ประเทศไทยมีศักยภาพในพลังงานลมในอ่าวไทยสูงมาก  โดยผลวิจัยของสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (สกว.)  ได้ศึกษาศักยภาพพลังงานลมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จ.สุราษฎร์ธานีลงมาถึง จ. สงขลา  พบว่าทิศทางลมบริเวณนี้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้สูงถึง 10,000 เมกะวัตต์  ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงมาก  ทั้งนี้ความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีประมาณ 30,000 เมกะวัตต์  ถ้าเราสามารถทำฟาร์มกังหันลมในพื้นที่ดังกล่าวได้จริงก็เพียงพอที่จะใช้ในพื้นที่ภาคใต้แน่นอน ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  เพราะเป็นปัญหาที่สร้างความขัดแย้งให้กับประชาชนในพื้นที่มาก

 

“ตัวเลข 10,000 เมกะวัตต์  การลงทุนประมาณ 1 แสนล้าน  แม้ว่าตัวเลขจะสูงแต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะสามารถแบ่งเป็นแต่ละช่วงได้ไม่ใช่ลงทุนทีเดียวแสนล้าน ซึ่งจะว่าไปแล้วการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อให้ได้ไฟฟ้าหมื่นเมกะวัตต์ก็ใช้เงินเป็นแสนล้านเช่นกัน แต่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมหาศาลและยังเกิดความขัดแย้งจากการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ด้วย   โดยตัวเลขดังกล่าวผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่าหากมีการลงทุนภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ   การลงทุนจะอยู่ที่หน่วยละ 4.50 บาท  ซึ่งหากมีแหล่งเงินทุนที่จะสามารถทำโรงไฟฟ้ากังหันลมได้ ลงทุนไปก็คุ้มแน่นอน   เชื่อว่ากฎหมายพลังงานหมุนเวียนจะเป็นกลไกที่ทำให้เรื่องพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น” นายจอมภพ กล่าว

 

นายจอมภพ  กล่าวว่า  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีศักยภาพในการผลิตพลังงานลมเช่นกัน โดยเฉพาะที่เขื่อนลำตะคองที่ขณะนี้มีการติดตั้งกังหันลมที่ผลิตไฟฟ้าได้ 2.5  เมกะวัตต์ และขณะนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้สั่งซื้อกังหันลมมาติดตั้งเพิ่มอีก 2 โรง รวมกำลังผลิต 180 เมกะวัตต์  โดยอาจจะมีการติดตั้งที่จ.ชัยภูมิ และ นครราชสีมา  คิดว่าจะได้เห็นฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่ ในภาคอีสานเร็วๆนี้

 

   “เราต้องยอมรับสภาพว่าโลกของเราแหล่งพลังงานจากฟอสซิลอีกไม่นานก็คงหมดไป  ดังนั้น  เราต้องช่วยกันประหยัดพลังงานและใช้พลังงานสะอาดที่มาจากพลังงาน น้ำ แสง อาทิตย์ เพื่อลดปัญหาโลกร้อน ผมคิดว่าประเทศไทยสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ถึง 50%  ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด  เพราะประเทศไทยมีศักยภาพไทยสูงมาก”   นายจอมภพ กล่าว


 นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถนำพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพจากทุกครัวเรือน ทุกชุมชนและทุกจังหวัดมาใช้อย่างเต็มที่นั่นคือ การออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับแรก


“ หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานออกมาบอกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนน้อย แสดงว่าคุณกำลังหลอกประชาชน เพราะขณะนี้มีการเสนอขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากลม แสงแดด พืชพลังงานและก๊าซชีวภาพให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตทั้งหมดคือ 8,272.08 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของกรุงเทพฯทั้งปี หรือ การใช้ไฟฟ้ารวมกันทั้งปีของภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ดังนั้นปัญหาของพลังงานหมุนเวียนไม่ได้อยู่ที่ศักยภาพของการผลิต แต่อยู่ที่ศักยภาพทางความคิดของผู้นำประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้าน พลังงานที่จะออกกฎหมายรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศ เป็นลำดับแรก ซึ่งการลงทุนดังกล่าวย่อมคุ้มค่ากว่าการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน”

 

ทั้งนี้กรีนพีซจะจัดกิจกรรม "มหกรรมปฎิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน" เพื่อให้ความรู้ประชาชนระหว่างวันที่ 1- 18 ส.ค.. ณ โดมกู้วิกฤตโลกร้อน  ลานพลาซ่า ราชมังคลากีฬาสถาน  หัวหมาก  โดยวันเสาร์ที่ 11 ส.ค. จะมีการจัดกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 15.30 น.  โดยใน เวลา 16.00-17.30  น.  จะมีการจัดเสวนา เรื่อง   “ดมขี้ คลุกคลีกากพืช กับ กม.พลังงานหมุนเวียน”    โดยมี นาย สมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มสุกร เอสพีเอ็ม ฟาร์ม : (ขี้หมูไหล ไฟฟ้ามารวมกัน)    นายยุทธการ มากพันธุ์ ศูนย์กสิกรรมท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี : (เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนฉบับไทย)  พันเอก เยี่ยมชัย บุตรดาวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์  จังหวัดทหารบกกาญจนบุรี  : (ขี้เพื่อชาติ) กรณ์กณิศ  แสงดี  นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม :(เศษอาหารกับพลังงาน) 

 

 ในขณะที่วันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค. เวลา 16.00 – 17.30 น. จะมีการ เสวนา  เรื่อง “แม่ กับ กม.พลังงานหมุนเวียน”   โดย  สุขุมาวดี ทองคำ  นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : (จ่ายเพื่ออนาคตที่ต้องการ) เอื้องฟ้า ช้ำเกตุ เครือข่ายถ่านหินเขาหินซ้อน: (ลม น้ำ และพลังงาน) และ   จินตนา แก้วขาว  แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูด: ( ผู้หญิงกับการจัดการพลังงาน)       นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิมิคอนเสิร์ตปฏิวัติพลังงานจากศิลปินเพื่อชีวิต  ชื่อดัง อาทิ  ฟุตบาธแฟมิลี่ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, พิบูลศักดิ์ ละครพล และผองเพื่อนมาชารี   คณาคำ อภิรดี, ลานนา คัมมินส์, พยัต ภูวิชัย,ทอดด์ ทองดี  พร้อมทั้งกิจกรรมร่ายกวี  จากกวีซีไรต์  เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ด้วย

 

ทั้งนี้  กรีนพีซขอเรียกร้องให้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลกำลังยกร่าง ต้องมีหลักการขั้นพื้นฐาน 5 ข้อดังต่อไปนี้เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานไทย โดย   1.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ 

 

2. ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน    3.การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าต้องมีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิต จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม4.ต้องมีการจัดตั้งกองทุนและพัฒนา ศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่ สะอาดและยั่งยืน  5.ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลเพื่อสร้างจิตสาธารณะร่วมกัน ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม     โดยกรีนพีซเริ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งทางออนไลน์และการ จัดกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อระดมพลังประชาชนอย่างน้อย 55,555 คน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย พลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทยโดยเร็วที่สุด โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่ http://www.greenpeace.or.th/GoRenewable/    


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลวิจัย สกว. พบศักยภาพ พลังงานลมอ่าวไทย 10 000 เมกะวัตต์

view