สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปกครองกดขี่ เงื่อนไขแยกดินแดน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กลายเป็นประเด็นขึ้นมา หลังจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยเปรยถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำนองว่าต้องบังคับใช้กฎหมายพิเศษเต็มพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่เสียดินแดน แต่ถ้าชะล่าใจจะเสียดินแดนแน่ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการ "ลงประชามติ"

ประเด็นว่าด้วยการลงประชามติเพื่อแยกดินแดนหรือแยกตัวตั้งรัฐใหม่ หรือ Self-determination นั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมาและส่งสัญญาณเตือนกันมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา โดยเฉพาะ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยพูดเอาไว้หลายครั้งบนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้และความมั่นคง

แม้ที่ผ่านมา จะยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจากกลุ่มผู้ก่อการในสามจังหวัด แต่ความพยายามย่อมมีแน่ โดยเฉพาะจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าขบวนการเหล่านั้นจะยังมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานหรือไม่ เพราะการช่วงชิงจังหวะ โอกาส และการนำ เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองและอำนาจที่ทุกฝ่ายจ้องตาเป็นมัน!

ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง "หลักการกำหนดใจตนเอง" หรือ The Principle of Self-Determination ซึ่งเขียนโดย ณัฐกฤษตา เมฆา และมี รศ.ดร.สุรชาติ เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Rights of Self-Determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปด้วย

แต่เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเองเอาไว้มากนัก ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเองออกมาเพื่อเป็นการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง

รายละเอียดและเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้น สิทธิในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย

สำหรับประเด็นการกำหนดใจตนเอง หรือ Self-determination กับการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีอธิบายไว้ในตอนท้ายของจุลสาร ระบุว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก หรือการแบ่งแยกดินแดน (secession) ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก ในการอภิปรายเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตร กล่าวกันว่า มีสถานการณ์ 3 แบบที่อาจทำให้เกิดสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนขึ้น สองสถานการณ์แรกที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของการตกเป็นอาณานิคมและการเข้าครอบครองของต่างชาติ สองสถานการณ์นี้ได้รับโดยฉันทามติว่าสิทธิการแบ่งแยกดินแดนในกรณีเหล่านี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณี

ขณะเดียวกัน ก็มีความไม่เห็นด้วยกับคำแปลของข้อยกเว้นของแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตร (the Saving Clause of the Declaration on Friendly Relations) ซึ่งกล่าวว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้รวมสิทธิการแบ่งแยกดินแดนที่ยอมรับโดยหมู่ชนหนึ่ง (a people) ซึ่งสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายในของหมู่ชนดังกล่าวได้ถูกละเมิดอย่างสิ้นเชิงโดยรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มชนทั้งปวงชน (peoples) ของหมู่ชนนั้น

ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศมิได้ให้สิทธิตามกฎหมายโดยเจาะจงในการแยกตัวออกมาเพียงฝ่ายเดียวจากรัฐ “แม่” แก่ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐาธิปัตย์ และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ปฏิเสธสิทธิดังกล่าวอย่างชัดเจนอีกด้วย เหตุผล คือ กฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญแก่บูรณาการทางอาณาเขตของรัฐชาติ และโดยทั่วไปจะทิ้งภาระการสร้างรัฐใหม่ให้ตกอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของกฎหมายภายในประเทศของรัฐที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีดินแดนที่จะแยกตัวออกไปเป็นส่วนประกอบ

ขณะเดียวกัน เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า การแบ่งแยกดินแดนเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้สิทธิการกำหนดใจตนเองนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเช่นนี้เป็นการเผชิญหน้าของสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบกับสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ในบางสถานการณ์รัฐจึงมีหน้าที่ทางอ้อมในการยอมรับความชอบธรรมในการเรียกร้องขอแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ กฎหมายระหว่างประเทศตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า การใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐาธิปไตยที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับการดำรงไว้ซึ่งบูรณาการทางอาณาเขต

นอกจากนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้กำหนดขอบเขตของสิทธิในการกำหนดใจตนเองในแง่ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ภายใต้กรอบของรัฐที่ดำรงอยู่ แม้จะไม่อ้างอิงโดยตรงกับการคุ้มครองการบูรณาการอาณาเขตก็ตาม

การดำรงไว้ซึ่งการบูรณาการอาณาเขตของรัฐที่ดำรงอยู่ และสิทธิของ “หมู่ชนหนึ่ง” เพื่อให้บรรลุมาตรการที่ครบถ้วนของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง จึงมิใช่สิทธิที่สามารถเลือกเพียงอย่างเดียวได้ จากคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งแคนาดา (ในคดีว่าด้วยการแบ่งแยกดินแดนของควิเบก) คำกล่าวนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐปกครองโดยใช้หลักการของตัวแทนของประชาชน (people) หรือกลุ่มชน (peoples) ที่พำนักในอาณาเขตดังกล่าวโดยเท่าเทียมกัน และโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น วิธีการปกครองจะต้องเป็นไปตามหลักการของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายในรัฐดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐได้ปฏิบัติตามปัจจัยเหล่านี้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงจะถือว่ารัฐมีสิทธิได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการบูรณาการอาณาเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการสร้างสิทธิในการกำหนดใจตัวเองโดยที่หมู่ชนหนึ่ง (a people) ที่ถูกปกครองอย่างกดขี่ หรือโดยที่กลุ่มชนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการถูกปฏิเสธในการเข้าถึงรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก (external self-determination) เนื่องจากประชาชนถูกปฏิเสธความสามารถในการใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองเป็นการภายใน ซึ่งหมายถึงสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปกครองกดขี่ เงื่อนไขแยกดินแดน

view