สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

1ปีโบแดง นโยบายแฝงช่วยทักษิณ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

1 ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายรายในรัฐบาลพยายามโปรโมต 16 นโยบายเร่งด่วน คือ ผลงานชิ้นโบแดง ทว่าเสียงตอกย้ำความสำเร็จ ดูจะมิใช่แค่เล็งผลเลิศสร้างคะแนนนิยมทั่วไทย แต่มีเป้าหมายแฝงให้เกิดแรงสนับสนุนมวลชนเพื่อขับเคลื่อนภารกิจการเมืองที่ อยู่นอกเหนือนโยบายรัฐบาล!

ย้อนดูนโยบายหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวในอัตรา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท กระชากค่าครองชีพลงมา ปลุกความต้องการประชาชนอยากได้ตามนี้ ต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

แม้มีเสียงสะท้อนจากภาควิชาการ สถาบันดีอาร์ไอ ฯลฯ ถึงผลกระทบตามมา เช่น นโยบายรับจำนำข้าวที่กำลังอื้อฉาวจากปมทุจริตขณะนี้ แต่รัฐบาลคงเดินหน้าอัดเม็ดเงินแสนล้านเข้าโครงการต่อไป หรือกรณีกำเนิดกองทุนเอื้อทุกเพศวัย อาทิ กองทุนตั้งตัวได้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี วงเงิน 7,700 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท กองทุนเอสเอ็มแอล 3.5 หมื่นล้านบาท กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แต่ละปีต้องจัดสรรงบประมาณรองรับโครงการประชานิยมต่างๆ แตะหลักหลายแสนล้านบาท ล้วนยืนอยู่บนเส้นด้ายความเสี่ยงภาวะการเงินการคลังของประเทศ

แล้วเหตุใดรัฐบาลยืนกรานเดินหน้า

คำตอบ วิกฤตไม่ได้เกิดขึ้นเวลานี้ เป็นแค่สะสมปัญหารอพ่นพิษระยะไกล แต่ระยะสั้นประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินรวดเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้มีหรือมวลชนรายได้น้อยไม่สนับสนุน ส่งผลฐานคะแนนนิยมแข็งแรง

เมื่อทำการตอกเสาเข็มรากหญ้าไม่ให้โอนเอน จึงตามด้วยอัดฉีดผู้สนับสนุนหลัก ตกรางวัลแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเหล่าคณะ ในรูปของการจัดสรรตำแหน่งและเม็ดเงิน

แกนนำหลักถูกล็อกใส่โหลโควตารัฐมนตรี ส่วนแกนนำระดับรองแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีลงไปถึงกรรมการบอร์ดรัฐ วิสาหกิจ ขณะที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจ่ายค่าเยียวยาญาติเหยื่อมวลชนคนเสื้อแดงในอัตรา สูงถึง 7.75 ล้านบาท แม้นำไปสู่ปัญหาบานปลายกลายเป็นมาตรฐานใหม่ให้การจ่ายค่าเยียวยาญาติเหยื่อ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อื่นตามมาด้วย เหมือนกรณีการเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการกำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาใหม่ แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้าต่อเพื่อรักษาแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง

ส่วนบุคลากรกำกับนโยบาย เปิดทางให้นายทุน พรรค สลับหมุนเวียนเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี จากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 ครั้ง คนนอกแทบไม่ถูกเรียกใช้บริการ ไม่ใช่หาคนนอกไม่ได้ แต่เพราะต้องคำนึงถึงปริมาณคนในพรรคก่อน ส่วนคุณภาพไว้ทีหลัง ผลตามมา บางรายไม่ทันแสดงผลงานต้องถูกปรับออก บางรายเข้ามากลายเป็นรัฐมนตรีโลกลืม

เหมือนอย่างที่ พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ยอมรับกับโพสต์ทูเดย์ “วิธีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคต้องพยายามกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ ให้ได้ถ้วนหน้า”

แสดงให้เห็นว่า การตอบแทนผู้สนับสนุนสำคัญกว่าคำนึงหลักความรู้ความสามารถบริหารประเทศ

 

“การมอบตำแหน่งฝ่ายบริหารและตำแหน่งสำคัญในสภา ถือเป็นจุดยึดเหนี่ยวให้คนอยู่กับพรรค เช่นเดียวกับการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งกำลังจะมีขึ้นอนาคตต้องเดินตามนี้ จึงไม่แปลกการจัดสรรตำแหน่งว่าที่รัฐมนตรีให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ต้องอยู่ในโควตาจำกัด โดยต้องแชร์ส่วนแบ่งให้ผู้อยู่ในพรรคปัจจุบันด้วย”

ภารกิจเร่งด่วนอีกประการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้องรักษาจุดเชื่อมโยงทางอำนาจ

ทันทีเข้ามาบริหารประเทศนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับสัญญาณจากอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งว่ากันว่าเป็นคู่กัดผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เปิดฉากสร้างบรรยากาศสมานฉันท์กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ บุคคลผู้ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์อำมาตย์ตามที่แกนนำคนเสื้อแดงยัดเยียด ด้วยการจัดงาน “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” ที่ทำเนียบรัฐบาล และการเข้ารดน้ำอวยพรเทศกาลสงกรานต์ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ นำไปสู่ภาพปรองดองระหว่างชนชั้น

อีกทั้งวางคิวเดินสายสานสัมพันธ์ผู้นำเหล่าทัพเพื่อลดภาพความขัดแย้ง สเต็ปต่อมากระชับอำนาจด้วยการโยกย้ายข้าราชการเป็นที่ไว้วางใจเข้าไปยึดกุม หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะงานสายความมั่นคง ซึ่งไม่แตกต่างกับรัฐตำรวจเหมือนยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

ทำให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามจัดระเบียบอำนาจ หวังสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือ ความพยายามปลดพันธนาการทางข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พ้นผิดและกลับประเทศอย่างสง่างาม ตามที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปราศรัยช่วงหาเสียงจะพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน จะมีการผลักดันกฎหมายล้างความผิด ซึ่งปรากฏจากความพยายามผลักดัน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเข้า ครม. แต่ไม่ถึงฝั่งฝัน

หรือกรณีกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะทำงานศึกษากรณีการขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือแม้แต่การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นความพยายามแรกๆ ของรัฐบาลในการเข้ามาบริหารประเทศ

หลายกรณีไม่สำเร็จ บางกรณีสำเร็จ เช่น การปลดล็อกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เหยียบญี่ปุ่น อเมริกา แต่โดยรวมก็ยังไม่เข้าเป้า ไม่อาจเป็นผลงานโบแดงร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้กลับประเทศ อีกทั้งยังมีความขัดแย้งรุนแรงจากฝ่ายเห็นแตกต่าง ขณะที่ภาคการเมือง ประชาชน สร้างโมเดลสมานฉันท์ไปคนละทิศละทาง ย่อมทำให้ภารกิจช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในสภาพรอจังหวะ

แต่จากการจัดระเบียบอำนาจ การเมืองภายในรัฐบาลยิ่งเอาใจใส่ดูแลมวลชน ผู้สนับสนุนหลักกองทัพไม่สั่นคลอน สมานฉันท์ชนชั้นนำ ล็อกสเปกมือไม้ราชการเป็นที่ไว้วางใจ ตรงนี้มีผลต่อการชี้ชะตากรรมรัฐบาลปีที่ 2 เช่นกัน

เมื่อถูกกำหนดเส้นทางเลือกไว้ให้แล้ว จะสร้างผลงานชิ้นโบแดงเพื่อประเทศชาติหรือเพื่อคนคนเดียว


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 1ปีโบแดง นโยบายแฝงช่วยทักษิณ

view