สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซีเอ็ด - นายอินทร์ ฉากสุดท้ายที่จบ...แต่ยังไม่จบ

'ซีเอ็ด - นายอินทร์' ฉากสุดท้ายที่จบ...แต่ยังไม่จบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นานนับเดือนแล้วที่ประเด็นปัญหา 1 เปอร์เซ็นต์ ซีเอ็ด-นายอินทร์ กระหน่ำบรรณพิภพ วันนี้มีเสียงประกาศก้องว่า "มันจบแล้ว!" แท้จริง...จบจริงหรือ?
คล้ายว่ากรณีซีเอ็ด-นายอินทร์จะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC อีก 1 เปอร์เซ็นต์จากราคาปกนั้นมีอันจะกลายเป็นเรื่องยาวเหมือนนิยายหลายตอนจบของวงการหนังสือไทยไปเสียแล้ว

 เพราะตั้งแต่เริ่มต้นมีจดหมายแจ้งความจำนงขอเรียกเก็บเงินดังกล่าวไปยังสำนักพิมพ์และสายส่งต่างๆ แล้ว กระแสคัดค้านต่อต้านก็โหมขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ตที่เสรีภาพเปี่ยมล้น ใครใคร่พิมพ์ พิมพ์ ใครใคร่ด่า ด่า ในสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คของคนในวงการหนังสือจึงคลาคล่ำด้วยสารพัดลิงก์ สารพัดความคิดเห็น และสารพัดกลุ่มคนต่อต้าน

 จากวันนั้น...วันที่จดหมายของสองยักษ์ใหญ่ร่อนถึงมือสำนักพิมพ์และสายส่ง ถึงวันนี้ก็เดือนกว่าแล้ว ทีท่าของ ซีเอ็ด ยูเคชั่น (ร้านหนังสือซีเอ็ด) และอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ (ร้านหนังสือนายอินทร์) มีทีท่าเช่นไร และกลุ่มคัดค้านต่อสู้ไปถึงไหนแล้ว สถานการณ์อันขัดแย้งใกล้ถึงบทสรุปหรือยัง หรือนี่แค่ม่านมายาที่ใครบางคนสร้างขึ้น

 -1-

 ทราบกันดีว่าปัญหาขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่โตของวงการหนังสือบ้านเรา เพราะนี่ไม่ใช่แค่การได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ของคู่ค้ากันเท่านั้น ยังมี 'ผู้เคราะห์ร้าย' อีกมากที่ต้อง 'ซวย' และอาจเป็นไฟลามทุ่งได้ เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบหัวรวบหางแถมยังกินกลางตลอดตัวจนสำนักพิมพ์เล็กต้องพากันล้มตายหมดสิ้น หนังสือแพงทั้งที่ราคาปัจจุบันก็ไม่ได้เชื้อเชิญให้คนสนใจอ่านกันอยู่แล้ว คราวนี้คำว่า 'ครอบงำตลาด' คงไม่หนีไปไหนไกล ดังนั้นเรื่องร้อนๆ เช่นนี้ จึงร่อนไปถึงหู คณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชน ให้ประชุมหารือกันถึงสองนัด

 นัดแรกคล้ายว่าทางออกของปัญหานี้จะถูกปิดตายลง เพราะทั้งซีเอ็ดและนายอินทร์ไม่เข้าร่วมประชุม เมื่อองค์ประชุมไม่ครบและหาข้อสรุปไม่ได้จึงเป็นที่มาของการประชุมนัดที่สอง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 คราวนี้ซีเอ็ดได้ส่งทั้ง ศรีนวล ก้อนศิลา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและสินค้า และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร เข้าชี้แจง

 เปิดฉากด้วยคำอธิบายถึงเหตุแห่งกรณี 1 เปอร์เซ็นต์เจ้าปัญหานี้ที่ วิโรจน์ อ้างว่าเพราะซีเอ็ดต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากมายเป็นเวลานับสิบปี ทั้งค่าน้ำมัน และค่าแรง โดยเฉพาะค่าแรงที่รัฐบาลมีนโยบายให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 215 บาทเป็น 300 บาท คิดเป็น 39.5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งพนักงานระดับปฏิบัติการที่อยู่ในข่ายได้รับค่าแรงจำนวนนี้เขาระบุว่ามีมากถึง 3,000 คน

 ด้าน ศรีนวล เสริมว่าต้นทุนที่สะสมมาตลอด ทางซีเอ็ดไม่เคยเรียกร้องหรือขอความช่วยเหลือใดๆ ยอมแบกรับเองทั้งหมด ดังนั้นที่มีคนกล่าวเรียกเงินค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าของซีเอ็ดว่าเป็น 'เงินกินเปล่า' จึงไม่ใช่แน่นอน ซึ่งวิโรจน์ก็แสดงออกชัดเจนว่าไม่พอใจกับคำดังกล่าว เขายืนยันว่าไม่ใช่เงินกินเปล่าเพราะเกิดจากการทำงานทั้งสิ้น

 "การใช้คำว่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินกินดิบ หรือเงินกินเปล่า คือเราไม่ทำงานอะไรเลย แต่จริงๆ เราทำงาน แค่เอากองหนังสือขึ้นพาเหรดมาที่ศูนย์กระจายสินค้า เราจะทำหน้าที่คัดแยกและจัดส่ง ค่าแรงขึ้น ค่าน้ำมันขึ้นสะสม ทุกอย่างมาจากภาวะต้นทุน ขอยืนยันว่าเราทำงานครับ"

 สำหรับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยซึ่งถือเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างคู่กรณีปัญหานี้ วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมฯ ตั้งข้อสังเกตทันทีว่า หนึ่ง - นี่ใช่หน้าที่ของผู้ให้บริการหรือเปล่า สอง - เชื่อว่าตั้งแต่ซีเอ็ดทำการค้าและให้บริการมาตลอด ไม่มีอะไรฟรีอย่างแน่นอน

 และชนวนปัญหานี้ประการสำคัญคือจุดเริ่มต้นอย่างผิดๆ โดยทั้งซีเอ็ดและอมรินทร์กระทำการราวกับ 'ฮั้ว' เพื่อช่วยกัน 'ฮุบ'

 วรพันธ์ กล่าวว่า "กรณีนี้มันเกิดจากกระบวนการเริ่มต้นที่ไม่ถูก ที่ทางผู้บริหารทั้งสองเครือข่ายได้ลงนามเจรจาร่วมกันจะขอเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม โดยทางธรรมเนียมการค้าจะต้องหารือ พูดคุยกันเพื่อแก้ไขสัญญา หนึ่ง - เริ่มต้นไม่ถูกต้อง สอง - ค่า DC หรือ GP มันซับซ้อนกันอยู่"

 นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อธิบายด้วยว่าธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจฝากขาย ค่า GP จะเสียก็ต่อเมื่อขายได้ แต่ DC ขายได้หรือไม่ได้ทางซีเอ็ดและนายอินทร์จะเก็บก่อน จึงไม่แปลกที่จะถูกเรียกว่าเงินกินเปล่า

 แม้จะเห็นทั้งค่า GP และค่า DC ปรากฏขึ้น ทว่า อันที่จริง ค่า DC คือตัวปัญหาของแท้ เพราะในระบบหนังสือ ค่า DC ไม่จัดอยู่ในต้นทุนแต่อย่างใด

 เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการสโมสรหนังสือรหัสคดีอธิบายเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊คของเขาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 อย่างชัดเจนว่า "ผมได้ตั้งข้อสงสัยไว้แล้วว่า ค่าธรรมเนียม DC (Distribution Center แปลว่า ศูนย์กระจายสินค้า) ไม่อยู่ในโครงสร้างต้นทุนหนังสือ

 วันนี้ (21 สิงหาคม 2555) ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชน ที่รัฐสภา นางวันเพ็ญ ศิริยุทธ์วัฒนา ตัวแทนจากกรมสรรพากร กล่าวว่า ปกติหนังสือไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเรื่องค่า DC ไม่ได้เกี่ยวกับการขาย แต่เป็นการให้บริการ

 การให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ และเสียภาษี ณ ที่จ่ายอีก 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะถือเป็นการจ้างทำของ

 ชัดเจนครับ ค่า DC ไม่อยู่ในโครงสร้างต้นทุนหนังสือ เพราะไม่เกี่ยวกับการขาย แต่เป็นการให้บริการ" (http://www.facebook.com/mr.ruangdej)

 -2-

 แม้ทีท่าของซีเอ็ดจะยังแข็งกร้าว และยืนกรานจะเดินหน้าเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าให้ได้ ทว่า ตอนนี้ซีเอ็ดคล้ายยืนเพียงลำพัง - หลังชนฝา

 เพราะการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการสื่อสารมวลชนทั้งสองนัด นายอินทร์ไม่เข้าร่วมและไม่ส่งตัวแทนประชุมแต่อย่างใด มีเพียงจดหมายจาก ทองนาค เพ็งชนะ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออาวุโส แจ้งเหตุที่ไม่ร่วมประชุม และยกเลิกการเรียกเก็บค่า DC ชั่วคราว

 ในจดหมายความว่า "ตามที่บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ในนาม ร้านหนังสือนายอินทร์ ได้ออกจดหมาย "การดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า" ฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ซึ่งต่อมานายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้เป็นโซ่ข้อกลางในการเชิญตัวแทนจาก สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย ร้านค้าและบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อหาทางออกร่วมกันเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โดยเบื้องต้นคณะอนุกรรมการร่วมที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แต่งตั้งขึ้นมีมติในที่ประชุม "ให้ยกเลิกจดหมายฉบับดังกล่าว" ไปก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการร่วม สมาชิกสมาคมฯ และสมาชิกชมรมส่งเสริมฯ ได้ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นในการขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว รวมถึงการกำหนดกรอบร่วมกันในการหาข้อยุติเพื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมหนังสือต่อไป

 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน ต่อเพื่อนๆ พี่ๆ สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย ทั้งหลาย ผมจึงได้ออกจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อยืนยันถึงการยกเลิกจดหมายการดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า ดังกล่าว"

 ตามด้วยจดหมายแถลงการณ์คัดค้านจาก เครือข่ายศิลปวรรณกรรมและองค์กรพัฒนาภาคใต้ ที่ฝาก พินิจ นิลรัตน์ กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยแสดงในที่ประชุมเพื่อยื่นคัดค้านการกระทำของทั้งสองบริษัท ความว่า

 "...สืบเนื่องจากการประกาศของบริษัท ซีเอ็ด ยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ยืนยันจะออกมาตรการเก็บค่ากินเปล่า 1 เปอร์เซ็นต์ จากหนังสือทุกปกที่ผ่านการวางจำหน่ายในเครือของตน ซึ่งจะมีผลให้ราคาหนังสือขึ้นไปโดยอัตโนมัติอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งยังจะส่งผลให้บรรดาสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ทำหนังสือนอกกระแสตลาดต้องค่อยๆ สูญพันธุ์ไปในระยะอันใกล้ พวกเราเห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงเป็นการมัดมือชกในทางธุรกิจที่โหดร้าย แต่ยังเป็นการทำลายความหลากหลายของ 'โลกหนังสือ' ในประเทศที่วัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอนี้ให้เข้าสู่ทางตันยิ่งขึ้น

 เพื่อเป็นการแสดงออกถึง 'การไม่เห็นด้วย'ในมาตรการดังกล่าว กลุ่มเครือข่ายศิลปวรรณกรรมและองค์กรพัฒนาภาคใต้จึงเห็นพ้องกันว่า จะงดใช้บริการจากร้านหนังสือในเครือดังกล่าวนับแต่บัดนี้ พร้อมกับจะร่วมรณรงค์ให้สาธารณชนเห็นเจตนาที่ไม่เหมาะควรดังกล่าว และเข้าร่วมในการตอบโต้โดยวิธีการเดียวกัน..."

 สังเกตได้ว่าประเด็นที่ทั้งสองบริษัทถูกกล่าวหาจากสังคม หนึ่งในนั้นคือ ครอบงำตลาด ปิดกั้นหนังสือจากสำนักพิมพ์อื่น กระทั่งหนังสือนอกกระแสลดลงจนสูญพันธุ์ แต่ศรีนวลไม่คิดเช่นนั้นทั้งยังอธิบายด้วยว่าซีเอ็ดให้โอกาสหนังสือจากทุกสำนักพิมพ์ทั้งเล็กและใหญ่ ทว่าสุดท้ายหนังสือที่ขายไม่ได้ก็หมดสิทธิ์มีชีวิตรอดก็เท่านั้น

 "เรารับเข้ามาขายทั้งหมด เมื่อลองแล้วมันไม่เวิร์คกับตลาด เราก็เก็บคืนในช่วงเวลาหนึ่ง ในร้านเล็ก 3 เดือน ถ้าขายไม่ได้เลยเราจำเป็นต้องเก็บคืนแล้ว แต่ร้านใหญ่ หนังสือจะอยู่นานกว่านั้น หนังสือออกใหม่ประมาณ 42 ชื่อเรื่องต่อวัน ถ้าเราไม่เก็บคืนจะเกิดอะไรขึ้น และที่เราเก็บคืนคือถ้ายอดขายเป็นศูนย์เล่มเท่านั้นจึงเก็บคืน ถ้ายังพอขายได้เราขายไปก่อน และถ้าบางสาขาขายไม่ได้เราเรียกเก็บคืนทั้งระบบไหม ไม่ และเราจะเอาสต็อกที่เก็บคืนไปยังสาขาที่ขายได้ นี่คือที่เราเปิดโอกาสให้ แต่ถ้าไม่สำเร็จ เราก็ยอมรับว่า เราบังคับผู้อ่านไม่ได้ ต้องเรียกเก็บคืน ดังนั้น ถ้าสำนักพิมพ์ช่วยกัน ผู้จัดจำหน่ายช่วยกันพาหนังสือคุณภาพออกสู่ตลาด ประเมินว่าหนังสือใดที่ผู้บริโภคต้องการ ประสิทธิภาพการขายก็จะเกิดขึ้น"

 นั่นเท่ากับว่าซีเอ็ดยังไม่พ้นข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หนังสือนอกกระแสอยู่ดี เพราะจุดมุ่งหมายหลักยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งหนังสือที่ขายได้ ขายดี หนีไม่พ้นเงินๆ ทองๆ

 วิโรจน์จึงออกโรงเสริมว่าซีเอ็ดไม่ครอบงำตลาดเพราะรายได้ของบริษัทยักษ์ใหญ่มีเพียงน้อยนิด คิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดทั้งหมด

 "ปี 2553 มูลค่าตลาดทั้งหมด 21,400 ล้านบาท ยอดขายหนังสือของซีเอ็ดมี 3,900 ล้านบาท เอาไปหารหาเปอร์เซ็นต์อยู่ราวๆ 18.22 เปอร์เซ็นต์ การบริโภคหนังสือผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต ซื้อตรงจากสำนักพิมพ์มันมากกว่าผ่านร้านหนังสือด้วยซ้ำไป ดังนั้นสิ่งที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เรามีช่องทางแค่ 18.22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น"

 หากตัวเลขดังกล่าวเป็นจริง อาจขัดแย้งกับจำนวนร้านหนังสือกว่า 400 สาขา (ซึ่งมีมากกว่าร้านหนังสืออิสระรวมกันทั้งประเทศไทย) มิหนำซ้ำ ยังคิดค่า GP มากกว่าร้านอิสระเกือบเท่าตัว

 "เพดานส่วนลด GP ร้านอื่นได้ 25 เปอร์เซ็นต์แต่สองร้านนี้ได้เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ไปจนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือความได้เปรียบอยู่แล้ว" สิริพร เจียรวัฒนกุล ผู้จัดการฝ่ายขายพิเศษ บริษัท งานดี ในเครือมติชน กล่าว

 อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าผลกระทบอย่างหนึ่งคือราคาหนังสือจะเพิ่มขึ้น วชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน ให้ข้อมูลว่าราคาจะไม่ขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่จะขึ้น 3.5- 4 เปอร์เซ็นต์ เพราะอะไรก็ตามที่เป็นต้นทุนทำหนังสือจะถูกคูณด้วย 3.5-4 เสมอ ซึ่งตรงนี้วิโรจน์ได้บอกว่าสบายใจที่รู้ว่าต้นทุนจะคูณ 3.5-4 เท่าเสมอ เพราะเท่ากับยืนยันความเชื่อของเขาว่าผู้กำหนดราคาหนังสือคือสำนักพิมพ์...

 ทว่าระบบหนังสือเดิมไม่มี DC เข้ามาเป็นต้นทุน ดังที่บรรณาธิการรหัสคดีบอกไปแล้ว แล้วใครกันหนอที่กำหนดราคาหนังสือ...ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 -3-

 แม้นายอินทร์จะถอยหลังไปตั้งหลักในที่ที่ปลอดภัยของตนแล้ว แต่ซีเอ็ดยังคงเดินหน้าต่อไม่ยั้ง แม้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะหารือและเสนอทางออกให้แล้ว ทว่า เสียงเตือนฤๅจะสู้เสียงหัวใจซึ่งเต้นโครมครามพร้อมรบทุกเมื่อเชื่อวันได้

 วรพันธ์ แสดงความคิดเห็นว่าภาคประชาชนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของทั้งสองบริษัทแน่นอน เพราะนี่เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้อื่นจัดการ จะดีไหมหากเปลี่ยนเป็นบริหารกระเป๋าตัวเอง

 "น่าจะหันไปทบทวนการบริหารค่าใช้จ่ายของตัวเองดีไหม เช่น เคยให้ส่วนลดพิเศษก็ต้องลดลง หรือบริหารประสิทธิภาพอุตสาหกรรม ทำตลาดให้ใหญ่ขึ้น ต้นทุนเพิ่มขึ้นเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณจะทำอย่างไรให้รายได้เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มรายได้โดยให้คนอื่นต้องจ่ายมันก็น่าคิดเหมือนกัน"

 ซึ่งก็คล้ายคลึงกับ วชิระ ได้เสนอทางออกให้ว่าควรปรับส่วนลดสมาชิกหน้าร้านลงสักนิดสักหน่อยแต่จะเป็นผลดีมหาศาล

 "ผมไม่เคยรังเกียจทั้งซีเอ็ดและนายอินทร์ ถึงแม้จะไม่นับถือวิธีคิดบ้าๆ บอๆ นี้ ประเด็นที่ผมจะเสนอแนะง่ายๆ ผมคิดว่าอาจมีทางออกได้เงินเพิ่มโดยไม่ต้องเก็บค่านู่นค่านี่ คือค่อยๆ ปรับส่วนลดที่ให้ลูกค้าหน้าร้าน จาก 10 เปอร์เซ็นต์เหลือ 9 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม"

 ฝ่ายซีเอ็ดก็โต้ว่าไม่เคยใช้กลยุทธ์สงครามราคา ผู้ที่ต้องทบทวนกรณีลดราคาหนังสือน่าจะเป็นสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มากกว่า

 "เรายืนยันว่าไม่เคยทำ Price War เลย ถึงทำก็น้อยมาก จริงๆ ผมอยากฝากถึงสมาคมฯ เพราะที่ลดกันหนักๆ จริงๆ ที่ไหนครับ ผมว่าเราเริ่มต้นที่งานมหกรรมหนังสือดีกว่าไหม" วิโรจน์กล่าว

 ถูกตอกกลับแรงอย่างนี้มีหรือนายกวรพันธ์จะอยู่นิ่ง ที่สำคัญคำอธิบายของเขาก็ชัดเจนทั้งยังย้อนไปตอบอะไรบางอย่างได้อีกด้วย

 "ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ทำไมลดได้เพราะเราไม่ต้องจ่ายค่า GP ไง เราขายให้นักอ่านโดยตรง นั่นคือการที่เราคืนให้สังคม"

 ถึงตรงนี้ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แสดงทัศนะว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เตือนให้คนในธุรกิจหนังสือตื่นตัวได้แล้วว่า กำลังเกิดบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติไปจากเดิม ของเดิมอาจไม่เหมาะสมแล้ว คล้ายคนที่อยู่เฉยๆ ก็มีผื่นคันขึ้นตามตัว ต้องตรวจหาสาเหตุ นี่อาจถึงเวลาที่ต้องปรับปรุง 'ห่วงโซ่อุปทาน' กันเสียใหม่ มิเช่นนั้นอาจลุกลาม

 ด้าน เวียง-วชิระ กล่าวว่า "ตัวเลขของพนักงานประมาณ 3,000 คน เมื่อเทียบกับประชากร 60 กว่าล้านต้องคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ความเดือดร้อนจากนโยบาย ผมคิดว่าไม่ต้องใช้เหตุผลหรอกครับ แค่ใช้หัวใจเล็กๆ น้อยๆ ก็สัมผัสได้ว่ามันคืออะไร

 อธิบายให้ชัดขึ้นกว่านั้น สิ่งที่ซีเอ็ดยืนกรานเรื่อง 1 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้วไม่ได้มีอะไรนอกจากเรื่องผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งโดยไม่เกรงอกเกรงใจผู้คนพลเมืองในประเทศนี้แต่ประการใดครับ"

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหาข้อยุติประเด็นปัญหานี้ มีมติให้ทั้งซีเอ็ดและนายอินทร์ยุติการเรียกเก็บเงินค่าศูนย์กระจายสินค้า แล้วให้กลับไปทบทวนแก้ไขระบบการเงินของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีมติที่น่าสนใจอีกประการอันสะท้อนว่ายังมีปัญหาอีกมากที่ต้องจัดการต่อไป เพราะสมาคมฯ มีคำสั่งรื้อทั้งระบบหวังแก้ปัญหาของวงการหนังสือเบ็ดเสร็จภายใน 3 เดือนให้จงได้

 คล้ายกรณี 1 เปอร์เซ็นต์จะจบลง แต่เชื่อเถิดว่ามันยังไม่จบบริบูรณ์ มิหนำซ้ำ อาจเป็นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องราวทั้งหมดก็เป็นได้

 เอาล่ะ เสพรสแห่งมายาให้สุขสม แล้วพบกันอีกครั้งสำหรับ 'ฝุ่นใต้พรม', 'คลื่นใต้น้ำ' หรืออะไรก็ตามที่ 1 เปอร์เซ็นต์จะนำไปสู่...โปรดติดตามอีกครั้งหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ซีเอ็ด นายอินทร์ ฉากสุดท้ายที่จบ ยังไม่จบ

view