สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงสะท้อนแผนน้ำ จาก คนสามชุก ถึง รัฐบาลยิ่งลักษณ์

จากประชาชาติธุรกิจ



วาระครบรอบ 1 ปีหลังเกิดเหตุ “มหาอุทกภัย” สิ่งที่ทุกคนกำลังจับตาดู คือ ปีนี้รัฐบาลจะเอาอยู่หรือไม่

ฝ่ายบริหารภายใต้กำกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ใช้เวลาหมดไปกับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการ และจัดหาวงเงินทั้งในและนอกงบประมาณกว่า 4.7 แสนล้านบาท (งบประจำปี 54 งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท, พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท)

คำถาม คือ 1 ปีกับเงิน 4.7 แสนล้านบาท แก้ปัญหาน้ำได้อย่างคุ้มค่าจริงหรือไม่ ?

ในภาพระดับชาติ อาจได้รับคำตอบจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่า ในปีแรกแม้จะใช้เงินไม่หมด แต่เม็ดเงินมหาศาลก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

ตรงกันข้ามกับภาพในระดับท้องถิ่นที่เริ่มมีเสียงทวงถามถึงความ “คุ้มค่า” ในการใช้ภาษีของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

ทันทีที่เม็ดเงินก้อนใหญ่ถูกกระจายลงสู่ท้องถิ่น ภาพการแก้ไขปัญหา อาจแปรสภาพจาก “พัฒนา” กลายเป็น “ชนวนขัดแย้ง” ระหว่างหน่วยงานราชการกับชุมชน

เหตุการณ์ล่าสุดของ “ตลาดสามชุก” ณ จังหวัดสุพรรณบุรี อาจเป็นโมเดลหนึ่งที่ทำให้เห็นปัญหาดังกล่าวได้ชัดเจน





“พงษ์วิน ชัยวิรัตน์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกและอดีตนายกเทศบาลตำบลสามชุก เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในพื้นที่เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ทันทีที่หน่วยงานราชการเข้ามาเดินหน้าตามแผนงานรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบริเวณหลังตลาดมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

“ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่มีนักการเมืองท้องถิ่นบางคน ที่อยู่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการจะหาช่องทางใช้เงิน 50 ล้านบาทจากภาครัฐ จึงมีไอเดียว่าจะสร้างเขื่อนหลังตลาด แต่ความจริงมันเป็นปัญหามากกว่าประโยชน์”

แม้จะยังไม่มีรูปแบบโครงการอย่างชัดเจน แต่ “พงษ์วิน” บอกว่า สามารถสรุปปัญหาจากการสร้างเขื่อนเบื้องต้นได้ทันที 3 ข้อ

1.บดบังทัศนียภาพ ทำลายจุดขายทางเศรษฐกิจของในชุมชน โดยเฉพาะชีวิตริมน้ำที่เกิดขึ้นระหว่างชาวตลาดสามชุกกับแม่น้ำท่าจีน
2.ความไม่ชอบมาพากล ที่เกิดจากการวิ่ง “ล็อบบี้” ระหว่างราชการและชุมชนบางกลุ่ม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อสร้างโครงการ

“มีความพยายามที่จะใช้เสียงส่วนน้อยในการทำประชาพิจารณ์เพื่อสร้างความชอบธรรม ผมทราบมาว่า กรมโยธาธิการที่เป็นแม่งานได้เข้ามาเรียกชาวบ้านแค่ 20 ร้านค้าไปหารือ ทั้งที่ชุมชนเรามีทั้งหมด 200 ร้านค้า และสุดท้ายก็มีมติว่า ชุมชนตลาดสามชุกอยากให้สร้างเขื่อน”

3.ตลาดสามชุกไม่ได้เผชิญเหตุน้ำท่วมทุกปี ดังนั้นเม็ดเงินที่จะสูญเสียไปกว่า 50 ล้านบาทอาจไม่เกิดความคุ้มค่าในชุมชน

“เท่าที่ผมรู้ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ในตลาดไม่เกิน 5 ครั้ง จึงต้องตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งผมเสนอให้เลิกสร้างเขื่อนและเอาเงิน 50 ล้านบาทไปติดป้ายบอกทางมาตลาดยังจะดีเสียกว่า”





ด้าน “ขวัญชัย วุฒิพันธุ์” กรรมการพัฒนาตลาดสามชุก ได้เสนอแผนป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ตลาดสามชุกว่า การลงทุนสร้างเขื่อนคอนกรีตสามารถทำได้ เพราะถือเป็นด่านช่วยลดแรงปะทะของน้ำ แต่ปัจจุบันพื้นที่หลังตลาดก็มีเขื่อนป้องกันอยู่แล้ว เพียงสร้างเขื่อนทางเดินต่อขึ้นไปทางทิศเหนือให้ถึงประตูน้ำอีกไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็เพียงพอต่อการป้องกันน้ำท่วมแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่

นอกจากนี้ประเมินว่า พื้นที่ตำบลสามชุกมีโอกาสเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่น้อยมาก เพราะเป็นพื้นที่สูงที่สุดในสุพรรณบุรี และมีคลองผันน้ำที่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงน้ำหลาก ดังนั้นจะเผชิญภัยน้ำท่วมในช่วงระยะสั้นฝนตกหนักเท่านั้น

แม้ตลาดสามชุกจะเป็นเพียง “คนส่วนน้อย” หากเทียบกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของทั้งประเทศ แต่ก็ถือเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ควรฟังและนำไปแก้ไข เพื่อให้การใช้ภาษีของประชาชนเป็นไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

เรื่อง : เจนศักดิ์ แซ่อึ้ง และ ปิยฉัตร ใหม่แก้ว
ภาพ : ภิญโญ ปานมีศรี และ สมจิตร์ ใจชื่น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสียงสะท้อนแผนน้ำ คนสามชุก รัฐบาลยิ่งลักษณ์

view