สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายได้ภาษีอัคคัดขัดสนคนจนหลังแอ่นนายทุนรับเละ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าถึงตอนนี้ การเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2555 ของประเทศเริ่มอยู่ในภาวะอัตคัด เป้าหมายที่ตั้งไว้หรูเริด 1.98 ล้านล้านบาท จะทำไม่ได้ตามเป้าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ซึ่งนั่นจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะถังแตกชักหน้าไม่ถึงหลัง

เพราะตอนนี้มีการประเมินกันวงในกระทรวงการคลังว่า รายได้อาจจะต่ำกว่าเป้าถึง 5 หมื่นล้านบาท จึงมีคำสั่งให้เดินหน้าบริหารจัดการรายได้กันในช่วงโค้งสุดท้ายชนิดวันต่อ วัน เพื่อให้การเก็บรายได้ของประเทศต่ำกว่าน้อยที่สุด

อย่างน้อยก็เป็นการรักษาหน้ารัฐบาล ในช่วงมรสุมรุมเร้าทั้งจากปัญหา White lie ตัวเลขส่งออก และการบริหารน้ำท่วมที่เอาไม่อยู่ภาคสอง

สาเหตุที่รายได้ไปไม่ถึงฝั่งมาจากการลุยเดินหน้าโครงการประชานิยมของ รัฐบาลชนิดไม่มีเกียร์ถอย ทั้งการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ทำให้รายได้หายไปวับเดียว 1.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การลดภาษีน้ำมันดีเซลของกรมสรรพสามิต ทำให้รายได้หายไปอีกกว่า 1 แสนล้านบาท

ลำพังโครงการประชานิยมใหญ่ๆ สองตัว ก็ทำให้รายได้ของประเทศตกกระป๋องแล้ว เมื่อรวมกับผลกระทบจากน้ำท่วมอีก ทำให้รายได้ประเทศถอนตัวไม่ขึ้น

ความจริงแล้วรายได้ของประเทศออกอาการมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2555 กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า 2.5 หมื่นล้านบาท และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่กรมสรรพากรมีผลงานเก็บภาษีตกต่ำชนิดคุยไม่ออก

สาเหตุสำคัญมาจากผลกระทบน้ำท่วม ทำให้ภาพรวมของการเก็บรายได้เกินกว่าเป้าเหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

แม้ว่ารายได้ของกรมสรรพากรเดือน มิ.ย. และ ส.ค. จะกระเตื้องขึ้น โดยการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในรอบ 10 เดือน ของปีงบประมาณ 2555 จะกลับมาเกินเป้าได้ 8,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประมาณการวงในของกรมสรรพากรในตอนเริ่มต้นปีที่จะเกินเป้าได้ อย่างน้อย 10% หรือ 1.6 แสนล้านบาท

 

นั่นหมายความว่ารายได้ของกรมสรรพากรหายไปเป็นแสนล้านบาท

ปัญหาการเก็บภาษีของกรมสรรพากรยังมาจากการเก็บภาษีนิติบุคคลต่ำกว่าเป้า ถึง 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรก็ทำได้ แต่เสมอตัวสูงกว่าเป้าเล็กน้อยเกือบจะชดเชยภาษีของนิติบุคคลที่หายไปแถบไม่ พอ

ขณะที่การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในรอบ 18 เดือน ก็อยู่ในภาวะต้องทำใจทำได้ต่ำกว่าเป้า 2.1 หมื่นล้านบาท มาจากการเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าเป้าถึง 2.8 หมื่นล้านบาท ส่วนภาษีรถยนต์ก็ยังไม่พ้นจมน้ำยังต่ำกว่าเป้า 500 ล้านบาท แม้ว่าการผลิตรถยนต์จะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมากจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่รัฐบาล จ่ายให้ฟรีคันละ 1 แสนบาท

ในส่วนของกรมศุลกากรต้องถือว่าทำผลงานได้ดีเกินคาดสามารถเก็บภาษีในรอบ 10 เดือน เกินเป้าถึง 1.2 หมื่นล้านบาท อานิสงส์มาจากการนำเข้าที่ขยายตัวการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม ถือเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้รายได้ในรอบ 10 เดือน ของประเทศยังสามารถยืนเหนือเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ในรอบ 10 เดือน จะทำสูงกว่าเป้า แต่ตัวเลข 2 เดือนสุดท้ายที่มีการประเมินเบื้องต้นอาการหนัก โดยเฉพาะการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในเดือน ส.ค. 2555 ที่จะต้องมีการจ่ายรอบครึ่งปี 2555 ที่เป็นอัตราใหม่ 23% ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าอย่างมาก

ดังนั้น การรายงานตัวเลขรายได้ของประเทศเดือน ส.ค. 2555 จึงถูกลากยาวออกไป เพราะกรมสรรพากรขยายเวลาการเสียภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งปีทางออนไลน์มาถึงวัน ที่ 10 ก.ย. 2555 หากรายงานตัวเลขรายได้โดยที่ไม่รอยอดการเสียภาษีนิติบุคคลจะทำให้ยอดการเก็บ ภาษีเดือน ส.ค. 2555 ต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลให้การเก็บภาษีภาพรวมอยู่ในภาวะถังแตก

ส่งผลให้กระทรวงการคลังรอตัวเลขการเสียภาษีนิติบุคคลของ 10 วัน ในเดือน ก.ย.นี้ ไปรวมกับเดือน ส.ค. 2555 ที่ผ่านมา เพื่อให้ภาพรวมยืนอยู่เหนือเป้าให้ได้นานที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเดือนสุดท้าย ก.ย. 2555 รายได้ของประเทศก็ไปไม่รอด เพราะในส่วนของกรมสรรพากรประเมินว่าจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2.5 หมื่นล้านบาท จากที่สูงกว่าเป้าถึง 8,000 ล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตประเมินจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าทั้งปี 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรรายได้ที่เกินเป้าทั้งปี 1.3 หมื่นล้านบาท

บวกกลบลบหนี้แล้ว รายได้ของประเทศก็ยังถังแตก ยังเก่งก็ทำให้ต่ำกว่าเป้ามากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้น

การเก็บภาษีต่ำกว่าเป้ากระทบทำให้ประเทศต้องกู้เงินมาถมจำนวนมาก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาเปิดเผยว่า จะต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2555 ทั้งก้อนที่ตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป เพื่อไม่ให้การเบิกจ่ายมีปัญหา อีกส่วนหนึ่งตุนไว้รองรับเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างต่อ เนื่อง

นอกจากนี้ การเก็บภาษีต่ำกว่าเป้ายังกระทบแผนการปรับโครงการภาษีให้เป็นธรรมกับผู้เสีย ภาษี โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ออกมาเปิดเผยว่า ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เพราะปัญหาจากรายได้ไม่เข้าไป

หากต้องลดภาษีบุคคลธรรมดาตอนนี้ ทำให้รายได้อาการโคม่ามากกว่านี้

ทั้งๆ ที่ในภาพรวมแล้วการลดภาษีบุคคลธรรมดาจะทำให้กรมสรรพากรรายได้หายไปแค่ปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท น้อยกว่าการลดภาษีนิติบุคคลที่รายได้สรรพากรหายไป 1.5 แสนล้านบาท แต่กระทรวงการคลังก็ตัดสินใจเก็บเข้าลิ้นชัก

การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ทำรายได้หายไม่กี่พันล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน บุคคลธรรมดากลายเป็นพลเมืองชั้นสองรองจากนายทุน

ยิ่งรัฐบาลยื้อการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาออกไปนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับเป็นการจับบุคคลธรรมดาเป็นตัวประกันไว้รีดเลือดกับปูไปโปะรายได้ ของประเทศไม่ให้ถังแตกเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รายได้ภาษี อัคคัดขัดสน คนจนหลังแอ่น นายทุนรับเละ

view