สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลสรุป คอป.ความจริงที่ แม้ว-หัวโจกเสื้อแดงไม่อยากได้ยิน!!

ผลสรุป คอป.ความจริงที่ แม้ว-หัวโจกเสื้อแดงไม่อยากได้ยิน!!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ผ่าประเด็นร้อน
       
       “ถ้าพี่น้องเสื้อแดงเป็นอะไรไปขอให้ไปรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางทั่วประเทศ”
       
       “เมื่อพี่น้องไปรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางแล้วจะตัดสินใจอย่างไรก็เป็นเรื่องของพี่น้อง”
       
       “ให้พี่น้องเอาขวดน้ำกันไปคนละขวดแล้วไปเติมน้ำมันข้างหน้า รับรองว่ากรุงเทพฯจะต้องเป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน”
       
       “เผาเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง”
       ...........!!!!!?????..................
       
       เชื่อว่าคำพูดปลุกระดมดังกล่าวข้างต้นคงจะคุ้นหูของชาวบ้านส่วนหนึ่ง ที่ได้รับรู้ความจริงมาช้านาน และชาชิน เพราะมีสื่อหลายแห่งที่ไม่ใช่ฟรีทีวี ไม่ใช่ทีวีเสื้อแดง สื่อเสื้อแดงได้นำมาเสนอกันหลายครั้ง อีกทั้งยังได้เห็นกับตาว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง มีการใช้อาวุธ มวลชน ส.ส.ในสภาประสานกันชุมนุมกดดันเพื่อนำไปสู่การยุบสภาให้ได้
       
       ทำทุกทางเพื่อให้เกิดความฉิบหายย่อยยับ เพราะแม้แต่การย้ายสถานที่ไปชุมนุมย่านราชประสงค์ก็มีเจตนาชัดเจนว่าเป้า หมายต้องการแบบไหน เพราะว่าไม่ว่ามองในมุมไหนก็ต้องรับรู้ว่าพื้นที่ย่านดังกล่าวเป็นเขต เศรษฐกิจ เป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่สำคัญล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ทำมาหากินของเอกชน นักลงทุน ไม่มีสถานที่ราชการ ที่มีความหมายในทางอำนาจทางการเมือง เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา
       
       ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปปักหลัก อยู่ที่นั่น นอกจากต้องการทำลายเศรษฐกิจสำคัญ ต้องการทำให้ฉิบหายของภาคเอกชนจับมา “เป็นตัวประกัน” เพียงเพื่อทำตามความต้องการของตัวเองเท่านั้น
       
       ขณะเดียวกัน เมื่อวกกลับมาที่ผลสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่นำโดย คณิต ณ นคร แถลงในวาระครบกำหนดการตรวจสอบและค้นหาความจริงมา 2 ปีเต็ม ซึ่งหากพิจารณาประเด็นสำคัญก็จะมีความน่าสนใจคือ
       
       มีชายชุดดำจริง และมีความสัมพันธ์กับการ์ดของ นปช. ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงถล่มทหาร มีการลงมือปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์
       
       ชายชุดดำดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล และที่สำคัญก่อนและระหว่างเกิดเหตุได้พบเห็น พล.ต.ขัตติยะ ปรากฏตัวทุกครั้ง
       
       เหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว และถนนตะนาว มีชายชุดดำยิงมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเสื้อแดงไปยังทหารและตำรวจทำให้มีทหารเสีย ชีวิตนับสิบนายและบาดเจ็บอีกหลายร้อยนาย โดยเฉพาะกรณีของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ก็มีผลสรุปออกมาว่าเสียชีวิตด้วยสะเก็ดระเบิด ไม่ใช่เกิดจากกระสุนปืนที่ก่อนหน้านี้บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงระบุว่าเป็นฝีมือ ของทหารด้วยกันเอง
       
       เหตุการณ์ทั้งที่สี่แยกคอกวัวและถนนตะนาวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 รวมทั้งที่อื่นๆมีการปล้นอาวุธปืนจากทหารไปนับร้อยกระบอก แต่ได้คืนมาแค่สิบกว่ากระบอกเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือมีการพบปืนเอ็ม 16 ที่วัดปทุมวนาราม หลังถูกคนเสื้อแดงยึดไปจากทหารหลังจากรุมทำร้ายที่หน้าแฟลตดินแดง และผลการตรวจสอบของ คอป.ยังระบุว่ามีการยิงสวนออกมาจากภายในวัดปทุมฯอีกด้วย
       
       กรณีที่ต่อเนื่องกันและกลายเป็นประเด็นที่ต้อง “ขีดเส้นใต้” เอา ไว้ก็คือ หลังจากมีการยึดอาวุธปืนไปจากทหารนับร้อยกระบอก แต่ได้คืนมาเพียงสิบกว่ากระบอก นั่นคือ ปืนและกระสุนถูกยึดไปตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 แต่ขณะเดียวกันวันที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็คือ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553
       
       คำถามก็คือ อาวุธเหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้หรือสังหารคนเสื้อแดง และทหาร “ในภายหลัง”ใช่หรือไม่ และเชื่อว่าผลจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตย่อมต้องมีกระสุนที่มีใช้ในกองทัพปะปนอยู่แน่นอน
       
       อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ได้เคยแถลงถึงเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่าหลังจากอาวุธปืนถูกปล้นเอาไปก็ได้ไป แจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้ว
       
       การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เกิดขึ้นในช่วงที่คนเสื้อแดงยังอยู่เต็มพื้นที่ โดยที่ทหารยังไม่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปแต่อย่างใด
       
       นั่นคือข้อสรุปของ คอป.ที่แถลงออกมาเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งน่าสนใจก็คือ ชายชุดดำมีจริง และเป็นพวกเดียวกับคนเสื้อแดง มี เสธ.แดง เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เหตุการณ์ในวัดปทุมฯเอาเข้าจริงปรากฎว่ามีการยิงออกจากภายในวัดเข้าใส่ทหาร และปืนเอ็ม 16 หนึ่งกระบอกที่พบก็เป็นของทหารที่ถูกทำร้ายที่บริเวณหน้าแฟลตดินแดง
       
       ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ผลสรุปดังกล่าวที่ออกมาจะทำให้บรรดาแกนนำเสื้อแดงต่างเรียง หน้าออกโวยวาย ไม่ยอมรับ ทั้งที่เป็นความจริงที่ตัวเองก็รับรู้อยู่เต็มอก เพียงแต่ที่ผ่านมาได้พยายามบิดเบือนกรอกหูมวลชนแบบซ้ำๆ ว่า “ทหารฆ่าประชาชนๆ” เมื่อผลออกมาไปอีกทาง จนทำให้สื่อประเภทฟรีทีวีและสื่อหนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวตามน้ำ แต่มันก็ย่อมเห็นความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน
       
       ทั้งที่จะว่าไปแล้วเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา มีเจตนาสร้างความรุนแรงตั้งแต่ต้น หากพิจารณาจากคำพูดหลายครั้งของ ทักษิณ ชินวัตร ที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นหัวหน้าใหญ่และอยู่เบื้องหลังของแกนนำ และเหตุการณ์ความรุนแรงที่สี่แยกคอกวัวและถนนตะนาวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นการวางแผนให้เกิดความรุนแรง ต้องการฆ่าทหาร เพื่อกดดันให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา เพราะมั่นใจว่าด้วยระบบการเลือกตั้งที่เป็นอยู่เลือกตั้งกี่สิบครั้งก็ต้อง ชนะ แล้วนำไปแอบอ้างว่ามาจากประชาธิปไตย
       
       ขณะเดียวกัน หากมองในมุมของคนที่ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและรู้ทันก็ ต้องบอกว่าข้อสรุปของ คอป.ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว มีเพียงคนเสื้อแดงเท่านั้นที่ไม่ยอมรับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วนี่เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เอาไหนของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ คิดจะปรองดอง คิดว่าเมื่อทำอย่างนั้นแล้วทุกอย่างจะคลี่คลายจบลงง่ายๆ ปล่อยให้ทุกอย่างบานปลายจนเกินเยียวยา เกิดความสูญเสียอย่างน่าเศร้า
       
       แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือความจริง เหมือนกับความเห็นพิลึกของบรรดาสื่อที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร และบรรดาแกนนำที่ออกมาขานรับคำสั่งการไต่สวนของศาลอาญากรณีการเสียชีวิตของ คนขับแท็กซี่เสื้อแดงคนหนึ่งว่าเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่นี่เพิ่งเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่คำพิพากษาชี้ขาดคดี แต่กลายเป็นว่าพวกแกนนำกลับนำไปสดุดีกันยกใหญ่ ว่าศาลมีความยุติธรรม แต่หากย้อนกลับไปคนพวกนี้กลับโจมตีให้ร้ายศาลอย่างป่นปี้ หาว่าเป็นเครื่องมืออำมาตย์บ้างละ สองมาตรฐานบ้างละ หากเห็นว่าไม่เป็นคุณตัวเอง
       
       กรณีของ คอป.ก็เช่นเดียวกัน แม้จะได้รับการแต่งตั้งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ในยุคของ รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการลงนามสั่งการให้ทำหน้าที่ต่อไป นั่นก็แสดงให้เห็นว่าให้การยอมรับมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมีผลสรุปเป็นความจริงที่ตัวเองไม่ชอบใจก็โวยวาย
       
       แต่เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์แล้วก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก!!


ยูเอ็นขานรับรายงานคอป.

ยูเอ็นขานรับรายงานคอป.พร้อมแนะดำเนินคดีผู้รับผิดชอบคดี 92 ศพ
ยูเอ็น  พอใจรายงานสรุปของคอป. และบอกด้วยว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของทางการไทยที่จะต้องนำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิต 92 ศพช่วงการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 มาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

นางสาว เนวี พิไลย ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์  เมื่อวานว่า แม้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติหรือคอป.ทำงานโดยมีอำนาจจำกัดและประสบความยากลำบากในช่วงแรก แต่ก็สามารถดำเนินการสอบสวนที่สำคัญเกี่ยวกับเหตุรุนแรงทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงปี 2553 ได้  ดังนั้นรัฐบาลไทย มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องทำตามคำเสนอแนะของคอป. ทั้งในส่วนที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงความรับผิดชอบ และแก้ไขข้อบกพร่องของสถาบันต่างๆตามที่คอป.ระบุ

นางสาวเนวี พิไลย บอกด้วยว่า การปฏิรูปกฎหมายและสถาบันตามข้อเสนอแนะของคอป. จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้  เธอยังขอให้รัฐบาลไทยเก็บรักษาหลักฐานและข้อมูลที่คอป.รวบรวมไว้เพื่อใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

สุดท้าย  เธอกล่าวเสริมอีกว่า นอกเหนือจากรายงานของคอป.แล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ใกล้จะเปิดเผยรายงานการสรุปเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน


“มาร์ค” ซัด “เหลิม-ธาริต” ตั้งธงยัดเป็นฆาตกร-ย้อนความจำ “ปู” เคยหนุน คอป.

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“อภิสิทธิ์” ย้อน “เฉลิม-ธาริต” เจตนายัดข้อหาฆาตกร ไล่ดูคำสั่งศาลคดีแท็กซี่แดง ไม่มีส่วนใดชี้มีเจตนาฆ่า ซัดข้ามขั้นหวังเล่นงานการเมือง ยันไม่หวั่นไหว แต่ห่วงสังคมสับสน เตือน รบ.จ้องเล่นฝ่ายตรงข้าม สวนการสร้างปรองดอง ทวง “ยิ่งลักษณ์” แถลงนโยบายรับการทำงาน คอป. ปัดให้ ปคอป.พิจารณาเพราะข้อเสนอคลุมเครือหลายฝ่าย แนะ คอป.ทำความเข้าใจทุกฝ่าย

         วันนี้ (19 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เตรียมตั้งข้อหาฆาตกรรมเพื่อดำเนินคดีต่อตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าในชั้นนี้ยังไม่มีอะไร เพราะต้องดูว่าดีเอสไอจะดำเนินการอย่างไร แต่นายสุเทพมีทีมกฎหมายมาช่วยดูแง่มุมต่างๆ ของเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไป
       
       “ดูจากคำสัมภาษณ์ของนายธาริต มีลักษณะเป็นการตั้งธงตั้งแต่ก่อนศาลมีคำสั่ง กรณีนายพัน คำกอง อยากให้ดูคำสั่งศาลระบุพฤติการณ์เสียชีวิตไว้อย่างไร เพราะไม่มีส่วนไหนที่บ่งชี้ว่าเป็นเจตนาฆ่า จึงไม่เข้าใจว่าทำไม ร.ต.อ.เฉลิม (อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี) กับนายธาริต จึงมุ่งที่จะเอาผิดกับผมและท่านสุเทพ และสงสัยว่าบุคคลทั้งคู่มีหน้าที่ตั้งธงหรืออย่างไร เมื่อศาลมีคำสั่งพนักงานสอบสวนกับอัยการก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ ปรากฏ และดูว่ามีใครทำผิดอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ตั้งธงตั้งแต่ก่อนศาลมีคำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างนี้ และกรณีของนายธาริตก็อยู่ในฝ่ายตัดสินใจนโยบายของ ศอฉ.ด้วย ดังนั้น หากจะมีการดำเนินคดีก็อยู่ที่ว่านายธาริตจะมีแนวทางในการทำคดีอย่างไร ซึ่งต้องว่าตามข้อเท็จจริงที่นายธาริตก็เป็นกรรมการใน ศอฉ.ด้วย จึงปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้”
       
       นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการปกติที่จะต้องส่งให้อัยการ และพนักงานสอบสวนไปดูว่าใครคือผู้กระทำความผิด โดยต้องเริ่มจากสถานที่เกิดเหตุ และใครเป็นผู้กระทำความผิด มีเหตุและปัจจัยอะไรพิจารณาในทางกฎหมายบ้าง เช่น กรณีวิสามัญฆาตกรรม จะต้องไปดูว่าเหตุเป็นอย่างไร จากนั้นหากมีความผิดก็ต้องดูว่าใครเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการนี้ กระโดดข้ามไปว่าจะดำเนินการกับตนและนายสุเทพ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก
       
       นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า แม้จะมีกระบวนการไม่ปกติที่จะดำเนินคดีต่อตนและโหมประโคมข่าวในทางสื่อแต่ ไม่ได้ทำให้หวั่นไหว เพียงแต่ห่วงว่าสังคมจะสับสนเพราะการไต่สวนในลักษณะนี้เป็นไปตามกระบวนการ ของ ป.วิอาญา ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มแรกก่อนที่จะมีการดำเนินคดี จึงได้ตั้งคำถามว่าทำไมผู้ที่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้จึงมีการตั้งธงล่วงหน้า และตั้งธงไปในอีกหลายคดีที่ศาลยังไม่มีคำสั่งด้วย
       
       “ผมคิดว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการยุ่งวุ่นวายแบบนี้ ซึ่งผมก็เป็นห่วงว่ารัฐบาลอ้างว่ามีนโยบายปรองดอง แต่การกระทำทุกอย่างไม่ได้เดินไปตามคำพูด รายงาน คอป.นั้นพรรคแกนนำก็ฉีกทิ้งเรียบร้อย และการให้สัมภาษณ์ก็ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แต่พยายามปลุกระดมสร้างความเกลียดชังมากกว่า ดังนั้นจะหวังให้เกิดความปรองดองคงยาก และรัฐบาลต้องรับผิดชอบที่สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมีเจตนาที่จะสร้างความปรองดองจริง ควรเริ่มต้นจากรายงานของ คอป.ที่รัฐบาลระบุในนโยบายที่แถลงต่อสภาว่าจะสนับสนุนและยอมรับการทำงานของ คอป. ก็ควรจะไปพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยไม่ควรให้ ปคอป.ไปพิจารณาเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ คอป.ระบุเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย เกินกว่าจะอยู่ในขอบข่ายของหน่วยงานราชการ เพราะมีฝ่่ายการเมือง สื่อมวลชนและฝ่ายอื่นๆ จึงควรมีเวทีที่กว้างขวางกว่านี้ ส่วน คอป.ควรจะเดินสายแลกเปลี่ยนความเห็นกับฝ่ายต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอของ คอป.ด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว


"นิรโทษกรรม"ไม่ใช่ทางออก

จาก โพสต์ทูเดย์

เปิดรายงานฉบับสมบูรณ์ของคอป.ว่าด้วยข้อเสนอเรื่องการนิรโทษที่ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง

หมายเหตุ : รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เผยแพร่อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มีข้อเสนอมีเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.แม้การนิรโทษกรรมจะเป็นกลไกหนึ่งที่อาจนำไปสู่การปรองดอง แต่การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ทั้งในแง่ของเวลา สถานการณ์ และกระบวนการ โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เกิดการนิรโทษกรรม นอกจากจะไม่ส่งผลให้เกิดการปรองดองแล้ว ยังอาจเป็นการสร้างประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ โดยการผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดนั้น คอป.เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดอง ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคมทุกฝ่าย

2.การนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายหรือผลลัพธ์สุดท้ายของการปรองดอง คอป. เห็นว่า แม้การนิรโทษกรรมจะเป็นแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยให้สังคมเกิดความปรองดอง แต่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยพิจารณาองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและคำนึงถึงมาตรการ ที่สอดรับกันระหว่างการสนองความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความรุนแรงและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม รัฐจะต้องประกันและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในการเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรมและดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน

3.คอป. เห็นว่า การนิรโทษกรรมจะต้องกระทำโดยไม่กระทบต่อสิทธิของเหยื่อและผู้ที่ได้รับผล กระทบในการรับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม การยอมรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง และการรับประกันจากรัฐว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งล้วนเป็นกลไกหลักของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การนิรโทษกรรมที่จำกัดสิทธิของผู้เสียหายดังกล่าวมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะถูก ต่อต้านจากสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาตกลงเพื่อการสร้างความปรองดองในชาติต่อไป

4.การนิรโทษกรรมไม่สามารถดำเนินการโดยปราศจากขอบเขต แต่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานที่เป็นสากลโดย คอป. เห็นว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องมิใช่การนิรโทษกรรมตนเอง ที่ผู้มีส่วนในการกระทำความผิดบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิด ของตนเอง หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป หรือครอบคลุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่จะต้องมีการกำหนดความผิดที่จะนิรโทษกรรมและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่าง ชัดเจน และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

5.การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่เหยื่อ โดยการป้องกันมิให้เกิดการลบล้างการกระทำความผิดหรือยกเว้นความผิดโดยมิชอบ นอกจากนี้ คอป.เห็นว่ารัฐบาลต้องพิจารณาทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการลบล้างความผิดโดยมิชอบและเร่งการพิจารณาให้ สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดหลุดพ้นจากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ศาลไทยสามารถดำเนินคดีตามหลัก “การพิจารณาโดยไม่มีตัวจำเลย” หรือการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยสำหรับคดีความผิดอาญาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ มนุษยชนในกรณีร้ายแรงบางประเภท

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

http://www.isranews.org/downloads/category/31-2011-12-09-12-19-10.html?download=1705%3A2012-09-18-11-04-56


ทิ้งทวนทุบคอป.ทำลายปรองดอง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

พลันที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อสังคมก็เกิดเสียงตอบโต้อย่างรุนแรง

โดยเฉพาะจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ที่สะท้อนความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด

รายงานฉบับสุดท้ายของ คอป.มีหลายส่วนที่น่าสนใจ เช่น ข้อเสนอแนะในการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ การตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 บทสรุปต้นเหตุและรากเหง้าความขัดแย้ง

แต่ที่ร้อนที่สุดคือ ผลการตรวจสอบ ข้อค้นพบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด 13 เหตุการณ์ ในช่วงเดือน เม.ย.พ.ค. 2553 รวมถึงการชำแหละพฤติกรรมของชายชุดดำ ม็อบเสื้อแดง และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุ

คอป. ระบุว่า ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 92 ราย แยกเป็นทหาร 8 ตำรวจ 2 ที่เหลือพลเรือน 82 ราย

ในจำนวนนี้มีข้อมูลชี้ชัด ว่า เสียชีวิตจากการโจมตีของชายชุดดำ 9 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย ตำรวจ 2 นาย กลุ่มคนรักสีลม 1 คน จำนวนมากเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

การทำงานของ คอป. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และใช้เวลา 2 ปี ค้นหาความจริงและทำข้อเสนอแนะถึงการสร้างความปรองดองได้รับความร่วมมือจาก หน่วยงานภาครัฐ เอกชนหลากหลายกว่า 160 แห่ง เช่น ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม องค์กรท้องถิ่น และบุคคล 450 คน ทั้งคู่ขัดแย้งฝ่ายเสื้อแดง ผู้ได้รับผลกระทบ ญาติเหยื่อ ผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากนักการทูต ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธีจากต่างประเทศ

นี่จึงยืนยันว่า การทำงานของ คอป. นอกจากมีความชอบธรรมและมีน้ำหนักแล้ว ยังเป็นองค์กรหลักอย่างเป็นทางการของประเทศที่ตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรง ครั้งประวัติศาสตร์หนนี้

แม้แต่เสื้อแดงที่เคยโจมตี คอป. เมื่อครั้งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้น แต่เมื่อ คอป.ทำงานไปสักระยะ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยโดย “วัฒนา เมืองสุข” ได้ใช้ คอป.เป็นเวทีสร้างความปรองดองนัดทั้งแกนนำ นปช. กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์หาทางออกเรื่องความขัดแย้ง

กระทั่งฝ่ายพรรคเพื่อไทยนปช. ได้ติดต่อให้ คณิต ณ นคร ประธาน คอป. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นพยานให้การชั้นศาล เมื่อเดือน ก.พ.ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ทนาย นปช.ยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว 8 แกนนำ นปช. จำเลยคดีก่อการร้าย

อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ ก่อแก้ว พิกุลทอง นิสิต สินธุไพร จนศาลยอมปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาแกนนำ นปช.เดินสายขอบคุณ “เสธ.หนั่นคณิต” ที่ช่วยให้เป็นอิสระและยืนยันจะสนับสนุน คอป.เต็มที่

ในทางการเมืองขณะนั้น คอป. ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่ถูกกระทำคือ พรรคเพื่อไทยนปช.

และเมื่ออำนาจเปลี่ยน พรรคเพื่อไทยนปช. กลับมาเป็นรัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตอกย้ำว่าจะให้ คอป.ทำเรื่องปรองดองต่อไปจนจบสิ้นกระบวนความและให้เป็นเจ้าภาพหลัก โดยที่รัฐบาลจะสนับสนุนเต็มที่และไม่เข้าไปก้าวก่าย

ผ่านมา 1 ปี ท่าทีของแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทย กลับออกมาโจมตี คอป.อย่างเผ็ดร้อน เพราะรับไม่ได้กับผลสรุปฉบับสมบูรณ์นี้ โดยเฉพาะที่ชำแหละความจริง เรื่อง “ชายชุดดำ” ว่าใช้ความรุนแรงแทบทุกสถานการณ์ และมีข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับแกนนำและการ์ด นปช.

ข้อมูลชายชุดดำส่วนหนึ่งมาจาก “คนในเสื้อแดง” ที่สมชาย หอมลออ กรรมการ คอป. ระบุไว้คือ มีประมาณ 100 คน แต่ปฏิบัติจริงๆ มีไม่มาก โดยร่วมกับการ์ดผู้ชุมนุมบางส่วนด้วยการรู้เห็นของแกนนำ นปช.บางคน

 

“พบว่าเคยมีการปราศรัยบนเวทีในเดือน ม.ค. เกี่ยวกับ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” ที่พร้อมจะมาช่วยผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้วสามประการของการต่อสู้คือ พรรคการเมือง มวลชน และกองกำลัง โดยแกนนำการชุมนุมคนอื่นๆ ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธถึงการปราศรัยดังกล่าว แม้ นปช.จะประกาศว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ นปช. แต่แกนนำ นปช. บางคนและการ์ดส่วนหนึ่งยังมีความสัมพันธ์กับ พล.ต.ขัตติยะ โดย พล.ต.ขัตติยะ ได้พูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับคนชุดดำ หรือนักรบโรนินว่ามาช่วยผู้ชุมนุม และยังพูดถึงแก้วสามประการของการต่อสู้คือ พรรคการเมือง มวลชน และกองกำลังไม่ทราบฝ่าย”

ผลสรุปนี้ทำให้การชุมนุมม็อบเสื้อแดงที่แกนนำต้องการจารึกให้เป็นประวัติ ศาสตร์ว่า เป็นการชุมนุมอย่างสันติครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ จนสามารถขับไล่รัฐบาลอำมาตย์สำเร็จ กลับไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อ คอป.สรุปว่า การชุมนุมของ นปช.ไม่ได้เป็นการชุมนุมอย่างสงบจากพฤติกรรมการยั่วยุ ยึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ คุกคามหน่วยแพทย์ สื่อมวลชน ทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ขณะที่แกนนำก็ให้ท้าย ปราศรัยยั่วยุ ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง

จึงไม่แปลกที่ “นพ.เหวงณัฐวุฒิ” ที่เคยยอมรับ กลับออกมาถล่ม คอป.อย่างหนักหน่วง เพราะผลที่ออกมาไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ทั้งที่บทสรุปของ คอป.ล้วนกระทบทุกฝ่ายไม่เฉพาะแกนนำ นปช.ชุดดำ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น คอป.ได้เรียกร้องให้กล่าวขอโทษ เพราะบกพร่องในการจัดการความขัดแย้งจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

กองทัพ มีความผิดพลาดเรื่อง รัฐประหาร การเข้ามายุ่งกับการเมือง การเข้าควบคุมฝูงชน

ศอฉ. ออกคำสั่งควบคุมการชุมนุม ที่ไม่อยู่ในมาตรฐานและใช้กำลังอาวุธ ไม่เหมาะสม

กระบวนการยุติธรรม ต้องทำหน้าที่อย่างอิสระ เป็นกลางและไม่ถูกแทรกแซง

นอกจากนี้ คอป.ยังได้เสนอแนวทางการบังคับใช้ กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างปรองดองเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายแดงอิสระได้เรียกร้องมาก่อนหน้านี้

หวานอมขมกลืนกันถ้วนหน้า เป็น “ความจริง” ที่รับไม่ได้ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

กระนั้น เหตุหนึ่งที่ คอป.ถูกทำลายความน่าเชื่อถือทิ้งท้าย เพราะข้อเสนอต่อการสร้างปรองดองหลายข้อไม่ถูกใจฝ่ายพรรคเพื่อไทย

เช่น การระบุชัดให้รัฐไม่เร่งรัดให้เกิดการนิรโทษกรรม เพราะเห็นว่าจะสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการ ปรองดอง รัฐต้องไม่เร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุติการดำเนินการใดๆ ที่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้ง

สองเรื่อง คือ การนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเพื่อไทยนปช. ติดหล่ม เดินไม่สำเร็จ ยังเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้

โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษทุกฝ่าย ที่ยังคาอยู่ในระเบียบวาระการประชุม พร้อมกับการเร่งคดี 92 ศพ ที่ดีเอสไอกำลังสอบสวนให้เสร็จเร็ววัน บวกกับคดีที่การเสียชีวิตของ “พัน คำกอง” แท็กซี่เสื้อแดงที่ศาลมีคำสั่งว่า ตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเตรียมเข้าสู่กระบวนการส่งฟ้องเอาผิด “อภิสิทธิ์สุเทพ”

ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การเร่งออก พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้บรรยากาศขณะนี้ กลับมาร้อนอีกคำรบ ทั้งที่ คอป.เพิ่งออกรายงานปรองดองแห่งชาติที่น่าจะเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายกลับมา “ยอมรับความจริง” และน่าจะเป็นจุดร่วมของสร้างการปรองดองอย่างจริงจัง

เมื่อไม่ยอมรับข้อเสนอ คอป.ฉันใด สถานการณ์ประเทศก็ยังไม่ปรองดองฉันนั้น


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลสรุป คอป. ความจริง แม้ว หัวโจกเสื้อแดง ไม่อยากได้ยิน

view