สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ครม.ปู 3 ได้เวลาพระเอกตัวจริง

ครม.ปู 3 ได้เวลาพระเอกตัวจริง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สกุณา ประยูรศุข

โฉม หน้าใหม่ "ครม.ยิ่งลักษณ์ 3" ปรากฏให้เห็นกันแล้วตามสื่อทุกแขนง ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ถือเป็นรัฐมนตรีชุดใหม่ 20 กว่าตำแหน่ง

เห็นแล้วส่วนมากก็ยังเป็น "หน้าเก่า" เพราะมาจากบ้านเลขที่ 111 บ้าง จากแกนนำ หรือจาก ส.ส.ที่มีอาวุโส หรือสร้างผลงานให้กับพรรค

แต่ก็ต้องยอมรับว่า "เสียงยี้" ไม่ค่อยได้ยินนัก เข้าใจว่าเป็นเวลาที่คนติดตามการเมืองอยากให้โอกาส อยากเห็นการทำงานมากกว่าอย่างอื่น

โฟกัสที่กระทรวงเศรษฐกิจ ส่วนมากแล้วยังเป็นคนเดิม ๆ

ตั้งแต่รัฐมนตรีคลัง พาณิชย์ เฉพาะพาณิชย์มี "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ข้ามมาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์

นับ เป็นตำแหน่งที่ท้าทาย เพราะงานกระทรวงพาณิชย์เป็นงานดูแลปากท้องประชาชน และการค้าการขาย การมาถึงของณัฐวุฒิจึงไม่น่าจะธรรมดา มีนัยที่ต้องติดตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังจะเผชิญกับการ อภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับกระทรวงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่เที่ยวนี้

น่าจะโดนหนักในเรื่องจำนำข้าว

น่าเสียดายที่ปลัดยรรยง พวงราช เกษียณอายุราชการไปเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วอาจมี "คู่หู" คู่ใหม่ เกิดขึ้นในวงการ

ด้าน กระทรวงพลังงาน เปลี่ยนจาก "อารักษ์ ชลธาร์นนท์" เป็น "เสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการพลังงาน นี่ก็น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะในวงการน้ำมันและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องสังกัดกระทรวงพลังงาน ปรากฏข้อขัดแย้งและมีความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นระหว่างกันไม่น้อย ก็ต้องคอยดูฝีมือเสี่ยเพ้งว่าจะออกมาเป็นฉันใด

ที่ชัดเจนที่สุดของ ครม.เศรษฐกิจ ยิ่งลักษณ์ 3 คือ กระทรวงคมนาคม ที่ปรับใหม่ยกชุด

โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม

พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต กับประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม

ส่วน รัฐมนตรีเดิม จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ย้ายไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมหาดไทย โดยมี พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการจากคมนาคม ตามไปนั่งเป็น มท.2 ด้วยกัน

สำหรับชัชชาติก่อนหน้านี้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยผลักดันให้ลงสมัครผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร แต่เจ้าตัวปฏิเสธ และมีคุณแม่ออกมาช่วยปฏิเสธอีกแรง กระนั้น

นายกฯยิ่งลักษณ์ยังตั้งชัชชาติให้เป็นกรรมการแก้ไขปัญหาการจราจรกรุงเทพฯ

การ ขยับขึ้นของชัชชาติครั้งนี้จึงไม่ใช่ธรรมดา เพราะเดิมมีข่าวว่าอารักษ์ ชลธาร์นนท์ สายตรงเสี่ยแม้ว จะมานั่งเก้าอี้คมนาคมเองโดยสลับเก้าอี้กับเสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ ที่จองเก้าอี้พลังงานเอาไว้ก่อนแล้ว เอาเข้าจริงเสี่ยเพ้งได้ไปพลังงานก็จริง แต่คนมาคมนาคมกลายเป็นชัชชาติ ส่วนอารักษ์หลุดโผ พลาดเก้าอี้หมด

ก่อนหน้านี้มีเซียนการเมืองมองว่า ชัชชาติเป็นคนของพรรคเพื่อไทย หากให้นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรี

ว่าการกระทรวงเกรดเอ จะเป็นการเพิ่มเครดิตให้

ชัชชาติส่องประกายแวววาว และหากสถานการณ์ต้องการขึ้นมา อาทิ ถึงช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หากพรรค

เพื่อไทยหาคนดีไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ไม่สามารถเป็นคู่แข่ง

หลักในสนาม กทม.ได้ อาจจะดึงเอาตัวชัชชาติมาลงแข่ง

แต่ ที่แน่ ๆ การมาเป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคมของชัชชาติ ทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลพุ่งเป้าไปที่การดูแลโปรเจ็กต์ใหญ่ต่าง ๆ ที่ประกาศเป็นนโยบายไว้ ทั้งระบบราง ทั้งรถไฟความเร็วสูง และอื่น ๆ แต่ละงานล้วนแพง ๆ ทั้งสิ้น

หันมาดูดีกรีของชัชชาติเอง คือ เกียรตินิยมอันดับ 1 วิศวกรรมโยธาจากจุฬาฯ และจบด็อกเตอร์ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญ ด้วยทุนอานันทมหิดล

จึงถือเป็น "พระเอกดาวรุ่ง" ตัวจริงแห่งค่ายยิ่งลักษณ์

ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ


ครม. ยิ่งลักษณ์ 3 พี่-น้องชินวัตร ตั้งรับเกมการเมืองร้อน กับศึก 3 ก๊ก 6 รอยร้าวลึก "เพื่อไทย

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ผู้มีบารมีระดับหัวหน้าก๊กในพรรคเพื่อไทยล้วนอยู่ในเครือข่ายคนตระกูล "ชินวัตร"

รายชื่อที่ถูกทำบัญชีขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 จึงมาจากพี่-น้องชินวัตร 4 ปีก

ปีกแรก สายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" มีทั้งนักการเมืองกลุ่ม 111 คนเสื้อแดง และนักบริหารมืออาชีพ เช่น พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, ยงยุทธ ติยะไพรัช, เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ, จตุพร พรหมพันธุ์, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม

ปีกที่ 2 กลุ่ม "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว "พ.ต.ท.ทักษิณ" ประกอบด้วย ส.ส. รัฐมนตรีจากภาคเหนือ คนใกล้ชิดอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อาทิ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ-จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม-บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และ นายวราเทพ รัตนากร

ปีกที่ 3 กลุ่ม "บ้านจันทร์ส่องหล้า" อดีตภริยานายกรัฐมนตรี คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ เช่น พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา

ปีกที่ 4 ที่ใกล้ชิดกับนายกฯ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เช่น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง-ภูมิธรรม เวชยชัย ผอ.พรรคเพื่อไทย- สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ-ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ

เป็นเหตุให้โผ ครม. "ยิ่งลักษณ์ 3" ยืดเยื้อมานานนับเดือน

เพราะเกิดจากความเคลื่อนไหวระหว่าง ส.ส.ที่ต้องการผลักดันคนในกลุ่ม-ก๊วนของตัวเองให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ด้วยการปล่อยข่าวออกมาเพื่อหยั่งกระแสสังคม หรือทำให้คู่แข่งตัวเองถูกล่อเป้าทางหน้าสื่อ

นอกจากนี้ ยังเกิดจากความเคลื่อนไหวของแกนนำทั้ง 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มสายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า กลุ่มเจ๊แดง กลุ่มใกล้ชิดนายกฯ พยายามแย่งชิงอำนาจการนำภายในพรรค รักษาเก้าอี้เดิมของตัวเองและโควตาของกลุ่ม

เห็นได้จาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็พยายามหมุนเวียนคนจากบ้านเลขที่ 111 ที่อยู่ในเครือข่ายสายตรง เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ก็ต้องปะทะกับ "เจ๊แดง" เยาวภาผู้เป็นน้อง ซึ่งกุมอำนาจใหญ่ในพรรคที่ต้องการรักษาโควตาของกลุ่มตัวเองไว้

ขณะที่นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์" แต่อยู่ในฐานะน้องสาวคนสุดท้อง ยังยื้อเก้าอี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไว้ได้

ปรากฏการณ์การจัดโผถูก ส.ส.ในพรรคโจษจันกันทั่วรัฐสภาว่า เป็นศึก "family war"

นักการเมืองในพรรคตั้งข้อสังเกตประกอบวาระสามัคคีวิจารณ์พรรคตัวเองกันว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ญาติสายตรงคุณหญิงพจมาน ถูกส่งตัวมาคานอำนาจความยิ่งใหญ่ของกลุ่ม "เจ๊แดง" ภายในพรรค

แม้ในนาทีแรกมีการคาดการณ์ว่า "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" จะมานั่งเก้าอี้รองนายกฯแทน "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" อดีตรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แต่สุดท้ายกลับไม่มีชื่ออดีต ผบ.ตร.อยู่ในโผรายชื่อ ครม.ปู 3 แต่ก็มีการผลักดันให้ "สุรพงษ์" มารับเก้าอี้รองนายกฯ ควบตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เพื่อลดแรงกระเพื่อมระหว่างกลุ่ม

เมื่อแยกคนที่ได้เข้าร่วม ครม.ปู 3 แบ่งตามสายจะพบว่า 1.สายตรง "ทักษิณ" อาทิ "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" มือจัดการของตระกูลชินวัตร เข้ามาเป็น รมว.พลังงาน

เช่นเดียวกับ "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" ที่ไม่เคยไปไกลจากนายใหญ่ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่เคียงข้างพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งครอบครัวร้องขอให้ปลีกเวลาไปช่วยงานครอบครัวในฐานะผู้จัดการมรดกบ้าง จึงได้รับการตอบแทนด้วยเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม สายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" และเป็นคนที่ "ยิ่งลักษณ์" ไว้ใจให้ดูแลเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน จึงได้อัพเกรดจาก รมช.คมนาคม มาเป็นรัฐมนตรีว่าการแทน "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" ที่เขยิบไปนั่งเก้าอี้ มท.1 คุมกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นลูกหม้อกระทรวงมหาดไทยมาก่อน และยังใกล้ชิดกับ "เจ๊แดง" และเป็นคนที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ไว้ใจ

ส่วน "พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต" อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ตท.10) เพิ่งเข้ามาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค พร้อมกับ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" เข้ามาเป็น รมช.คมนาคม นอกจาก "พล.อ.พฤณฑ์" เป็น ตท.10 รุ่นเดียวกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" คนในพรรคเพื่อไทยยังบอกว่าคนนี้คือ "พ่อตา" ของ "โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร" อีกด้วย

ส่วนรัฐมนตรีที่น่าจะพ้นเก้าอี้ แต่ยังเหนียวแน่นเพราะมี "แบ็ก" หนุนหลังดี เช่น "บุญทรง" แม้จะถูกโจมตีเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แต่เนื่องจากอยู่ในสาย "เจ๊แดง" ก็ทำให้เก้าอี้ รมว.พาณิชย์ยังมั่นคง ไม่ต่างกับ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องโกหกสีขาว ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพราะ "ยิ่งลักษณ์" ไว้ใจ

ขณะที่โควตากลางที่ถูกปรับออก "สุชาติ ธาดาธำรงเวช" พ้นจาก รมว.ศึกษาฯ เนื่องจากเป็นคนที่ "ตระกูลชินวัตร" ทุกสายไม่ปลื้ม เพราะหลายครั้งที่มีคำสั่งสายตรงลงไปสั่งการ "สุชาติ" มักแสดงอาการฮึดฮัด

"ภูมิ สาระผล" รมช.พาณิชย์ ซึ่งอยู่ในโควตาภาคอีสานถูกเด้งพ้นตำแหน่ง แล้วสลับให้ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" จาก รมช.เกษตรฯ มาเป็น รมช.พาณิชย์ โดยตำแหน่งโควตารัฐมนตรีของกลุ่ม ส.ส.อีสาน ที่แต่เดิมเป็นของ "ภูมิ" ตกเป็นของ "ประเสริฐ จันทรรวงทอง" ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เข้ามานั่งในเก้าอี้โควตา รมช.คมนาคม

ส่วน "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" มีผลงานไม่โดดเด่นตั้งแต่เป็น รมว.กลาโหม แม้จะถูกโยกมาเป็นรองนายกฯ แต่ไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้จึงถูกปรับออก และโควตาสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" อีกหนึ่งรายที่ถูกพ้นจากตำแหน่ง คือ "อารักษ์ ชลธาร์นนท์" ออกจากเก้าอี้ รมว.พลังงาน แล้วให้คนที่สายตรงกว่า คือ เฮียเพ้ง-"พงษ์ศักดิ์" มารับตำแหน่งแทน

สำหรับโควตาพรรคร่วมรัฐบาล "ยุคล ลิ้มแหลมทอง" อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น รมว.เกษตรฯ แทน "ธีระ วงศ์สมุทร" ที่ขอรีไทร์ตัวเองเพราะปัญหาสุขภาพ

"สนธยา คุณปลื้ม" แกนนำพรรคพลังชล เข้ามาเป็น รมว.วัฒนธรรม แทน "สุกุมล คุณปลื้ม" ภริยา ขณะที่ "ประเสริฐ บุญชัยสุข" ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา เข้ามาเป็น รมว.อุตสาหกรรม แทน "ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์" ตามแรงผลักดันของ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" แกนนำพรรคชาติพัฒนา

หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ช่วงชิงจังหวะปรับ ครม.ชนิดสายฟ้าแลบจนฝ่ายค้านไม่ทันได้ตั้งตัววิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ยังมีอีก 1 ตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทย คือ เก้าอี้หัวหน้าพรรค ต้องเป็นชื่อที่สายตรงส่งมา มีสเป็กสำคัญคือ ไว้ใจได้ มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม ประสานงานได้ทุกกลุ่มการเมือง ซื่อสัตย์ ไม่ซ่อนดาบไว้ข้างหลัง มีชื่อ "จารุพงศ์" อยู่ในแคนดิเดต เป็นโผส่งตรงจากดูไบ เนื่องจาก "จารุพงศ์" เป็นคนใกล้ชิดที่ "ตระกูลชินวัตร"

เมื่อศึกในทำท่าเรียบร้อย-คลี่คลาย แต่ยังมีศึกนอกที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องใส่ใจ คือกรณีที่องค์กรพิทักษ์สยาม นำโดย "พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์" หรือ "เสธ.อ้าย" ประกาศชุมนุมขับไล่รัฐบาลในวันที่ 28 ตุลาคม ณ สนามม้านางเลิ้ง

แม้เบื้องหน้าอาจดูไร้พลัง ต่างจากม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลสำเร็จมาแล้ว

แต่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการเมือง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จึงถูกสั่งการด่วนให้รีบตัดไฟแต่ต้นลม เพราะเมื่อดูเบื้องหลังของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม ล้วนเชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายคู่ปรับการเมือง-ชนชั้นนำ-ทหารแก่ ซึ่งเป็นอริของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น

ไม่นับรวมพลังเงียบที่รอดูข้อมูลการค้าข้าวที่อาจเข้าข่ายการทุจริต แห่เข้าร่วมขบวนนายทหารจากสนามม้า และการเคลื่อนไหวช้า ๆ นิ่ง ๆ ลึก ๆ ของภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) ที่ออกโรงขย่มรัฐบาลด้วยข้อหาไซฟอนเงินบนเกาะฮ่องกง

รวมพลังกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงท้ายสมัยการประชุมสามัญปลายเดือนพฤศจิกายน คณะรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ 3" มีแต่ต้องตั้งรับทุกประตู

................

 

ศึก 3 ก๊ก 6 รอยร้าวลึก "เพื่อไทย"


ความไม่ลงรอยระหว่างพี่น้องในตระกูล "ชินวัตร" และคลื่นใต้น้ำ ความคาใจระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยสาย 111 กับสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" ปรากฏชัดใน "โผ ครม.ปู 3"


เมื่อองคาพยพในพรรคถูกแบ่งเป็นทีมยุทธศาสตร์ ทีมผู้อำนวยการพรรค และทีมกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ และต่างทีม ต่างคน ต่างวิเคราะห์จัดกำลังคนไม่สอดคล้องกับภารกิจ แยกส่วนจากทีมของรัฐบาลในตึกไทยคู่ฟ้าโดยสิ้นเชิง

ภาพของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงยังคงอยู่ในแนวทาง ต้องให้ "ทักษิณคิด-สั่ง" และให้เพื่อไทย-สายตรง เป็นคนดำเนินการสั่งการอีกทอด

เห็นได้ชัดจาก 6 ท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

กรณีแรก การส่งสัญญาณให้ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" หัวหน้าพรรค ลาออก 4 ตำแหน่ง ภายใน 72 ชั่วโมง

กรณีที่สอง เห็นได้ชัดจากกรณีเลือก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรครักษาการ ที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองของทีมยุทธศาสตร์พรรค และของทีมกุนซือที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสั่งการข้ามฟ้ามาจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ"

กรณีที่สาม กรณีเลือก จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถูกกำหนดคุณสมบัติมาจากผู้มีบารมีเหนือพรรคเพื่อไทย

กรณีที่สี่ การเดินหน้านโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด โดยไม่สนใจคำทักท้วง ข้อเสนอจากทีมยุทธศาสตร์เรื่องการแก้ปัญหาการขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี และการพิจารณาปรับลดราคารับจำนำลงในข้าวบางประเภท

กรณีที่ห้า กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านคณะกรรมการอรหันต์ 11 คนในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีธงจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" ให้ชะลอ ลดการเร่งเครื่องลงก่อน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองที่จะเกิดกับรัฐบาล และประคองรัฐนาวา "ยิ่งลักษณ์ 3" ให้นานและนิ่งที่สุด

กรณีที่หก การจัดแถวอำมาตย์แดง โดยกลุ่มอดีตนายทหารเกษียณจากกองทัพ กลับเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง พร้อมกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์

ดามาพงศ์ พี่ชาย คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ แม้ไม่ได้มีการตั้งก๊กการเมืองขึ้นมาใหม่ แต่เป็นสัญญาณที่ทุกฝ่ายในพรรครู้กันดีว่าเป็นการส่งตัวจริง-สายตรง บ้านจันทร์ส่องหล้าเข้าประจำการในพรรค เปล่งรัศมี บารมี จนทำให้คนบ้านเลขที่ 111 ต้องมองด้วยอาการขวัญผวา

ปรากฏการณ์ในรัฐบาล "ปู 2" ต่อเนื่องถึง "ปู 3" จึงเป็นภาพการเดินไปข้างหน้าแบบเส้นขนาน ระหว่างองคาพยพพรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีคนการเมืองสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นคนขับเคลื่อน ทำให้การเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทยถูกเปิดชื่อ "จารุพงศ์" จากนอกประเทศ โดยฝ่ายมีอำนาจเหนือพรรค

ท่ามกลางเสียงนักการเมืองในพรรคที่กระหึ่มก้องว่า "หัวหน้าและกรรมการบริหารเป็นใครก็ได้ เพราะไม่มีความสำคัญอะไร กำหนดทิศทางพรรคก็ไม่ได้"

เพราะทั้งทีมยุทธศาสตร์พรรค ทีมผู้อำนวยการพรรค และทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รู้อยู่แล้วว่าทุกเกม ทุกจังหวะของการขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล การขาย-จำนำข้าว การลงทุน การขึ้นเค้าโครงนโยบายใหม่ ล้วนต้องอยู่ในครรลอง "ทักษิณคิด" และ "เพื่อไทยต้องทำ" เท่านั้น


เสียงจากบ้าน "ฉายแสง" "เขาต้องการคนพลิ้วไหว ไม่เอาคนแข็ง"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สัมภาษณ์พิเศษ



ท่ามกลางกระแสปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) กว่า 22 ตำแหน่ง

ทว่า ในโผสุดท้าย (25 ตค.55)ยังคงไร้รายชื่อของตระกูล "ฉายแสง" ที่ร่วมยืนเคียงคู่มาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน กระทั่งพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะพี่ชายคนโตอย่าง "จาตุรนต์ ฉายแสง" ที่เคยรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี, รมว.ศึกษาธิการ, รมว.ยุติธรรม

ทั้งคนวงใน-วงนอก คอการเมืองอาจไม่มีใครเข้าใจเหตุผลได้ดีเท่า
"ฐิติมา ฉายแสง" อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนการเมืองในตระกูล

บรรทัดต่อจากนี้คือ คำตอบของน้องสาวแทนพี่ชาย ว่าทำไมตระกูลฉายแสงถึงตกหล่นจากบัญชีปรับใหญ่ "รัฐบาลตระกูลชินวัตร"

 



"ตระกูลฉายแสงไม่เคยวิ่งไปหา ผู้หลักผู้ใหญ่ คนบ้านเราเป็นอย่างนั้น ไม่เคยกระเสือกกระสนเหมือนคนอื่น"

"ฐิติมา" ยกตัวอย่างภาพอดีตสมัยใต้รั้วพรรคไทยรักไทยว่า ตระกูลฉายแสงจะรู้ว่าได้รับตำแหน่งก็ต่อเมื่อนาทีสุดท้ายทุกครั้ง

"มี ครั้งหนึ่งนั่งกินกาแฟกันอยู่ที่บ้าน ขณะที่มีกระแสปรับ ครม. เคยถามพี่ว่าจะได้เป็นหรือไม่ แกก็หัวเราะแล้วบอกว่าไม่รู้เหมือนกัน พอถามว่าแล้วทำไมมานั่งเฉยอยู่ตรงนี้ ไม่ไปวิ่งหาผู้ใหญ่ เขาก็บอกกับเราอย่างเรียบ ๆ ว่า ก็เราไม่ได้เป็นแบบคนอื่น"

"ครั้ง นี้มีคนบอกว่าจะให้นั่งกระทรวงศึกษาธิการ แต่อะไรก็ไม่แน่นอน จนถึงนาทีสุดท้ายก็ยังไม่รู้เลยว่า พี่ชายจะได้เป็นหรือไม่ มันก็เป็นอย่างนี้มาตลอด"

เธอวิเคราะห์เหตุผลคนในที่ตระกูลไม่ได้ รับตำแหน่งครั้งนี้ อาจเป็นเพราะความแตกต่างในเรื่องความอยู่รอดของรัฐบาลกับหลักประชาธิปไตยของ ประเทศ

"พี่อ๋อยมีจุดยืนทางการเมืองสูง ท่านยึดมั่นว่าจะไม่สนใจเรื่องอะไรนอกจากแก้รัฐธรรมนูญ จะให้ไปเป็นตำแหน่งอะไรก็ขอไม่เป็นดีกว่า จะขอแสดงจุดยืนทางประชาธิปไตยอย่างนี้ เมื่อพี่อ๋อยเสนอตัวเองไปในลักษณะนั้น มันอาจจะไม่โดนใจผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน อาจรู้สึกว่าชนเหลือเกิน ขณะที่สถานการณ์ต้องใช้ความประนีประนอมอ่อนนุ่ม"

"ท่านมีหลักว่า ตราบใดที่ประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์ ความยั่งยืนมันไม่เกิด เมื่อยึดตรงนั้นจึงเข้าชนอย่างแรง เช่น ให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ทันที ขณะที่ผู้ใหญ่บางคนปรึกษากันว่าทำแล้วอาจมีปัญหา จึงสรุปให้ประคับประคองยอมไปก่อน มันก็เลยไม่โดนใจ นับแต่นั้นก็เลยไม่มีตำแหน่งอะไร"

พรรคเพื่อไทยใช้ยุทธวิธตั้งคณะทำงาน หาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายก็ยังไร้ชื่อ "จาตุรนต์" ในชุดทำงาน 11 อรหันต์

ฐิติมาตอบสั้น ๆ ว่า "ก็คนอื่นเขาอาจจะมีท่าทางประนีประนอมมาก แต่ท่านเชื่อมั่นมากว่าเรื่องแบบนี้ประนีประนอมไม่ได้"

เธอฉายภาพจุดยืนตระกูลฉายแสงอยู่ส่วนไหนในกระดานของตระกูลชินวัตร

"จาตุรนต์" เป็นนักการเมืองที่มีจุดเด่นเหมือนนักวิชาการ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ที่ให้ข้อคิดเห็นกับใคร ๆ ได้ดี เป็นที่ยอมรับกับสังคมและประชาชนอย่างมาก ภาพลักษณ์นี้ท่านยังคงมีอยู่ตลอด

"เวลาพรรคต้องการความเห็น ก็ยังเกรงอกเกรงใจท่าน สมัยตอนที่เป็นสมาชิก 111 ก็ยังมีคนมาขอความเห็นตลอด แต่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แบบนั้น

พูดตรง ๆ ว่า สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลต้องการเอาตัวรอด ไม่ต้องการใช้ตัวชนหรืออะไร เพราะต้องการคนที่พลิ้วไหว แต่ไม่ต้องการคนแข็ง"

ขณะ ที่ "ฐิติมา" ยังคงทำงานในฐานะรองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี (ด้านเศรษฐกิจ) ส่วน "วุฒิพงศ์ ฉายแสง" ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และบริหารทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำ ตะวันออก 9 จังหวัด เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (อยอ.)

"ดิฉัน กับพี่โก้ (วุฒิพงศ์) พรรคก็ยังให้ความกรุณาบนพื้นฐานว่าเกรงใจพี่อ๋อย และเขาก็รู้กันว่า เรายังมีโอกาสที่จะได้กลับมาเป็น ส.ส.ให้พรรค ก็เลยให้ตำแหน่งทำงาน ให้ฝึกฝนฝีมือ เพื่อทำงานทางการเมืองต่อเนื่อง ส่วนพี่โก้ยังเป็นประธานประชุมบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ก็อาจจะทำกันอยู่แค่นี้ก่อน"

"ฐิติมา" ขยายความ หากพี่ชายมีโอกาสได้รับตำแหน่ง พรรคต้องวิเคราะห์ว่า เก้าอี้ตัวไหนจะเหมาะสมที่สุดสำหรับเขา

"ที่ มันเป็นแบบนี้ เขาคงคำนึงถึงว่าพี่อ๋อยเคยยิ่งใหญ่ การจะให้มาอยู่กระทรวงธรรมดามันอาจจะไม่เหมาะสม จะให้ไปดูกระทรวงศึกษาธิการ ดิฉันคิดว่าท่านน่าจะมีความสามารถมากกว่านั้น ดังนั้นจะให้ไปอยู่ตรงนั้นมันจะเสียของ"

"สำหรับพี่ชาย หากจะดำรงตำแหน่งต้องทำงานอะไรที่เป็นภาพใหญ่ ดูแล้วจะช่วยท่านนายกรัฐมนตรี และทำให้รัฐบาลโดดเด่น เพราะตอนนี้ภาพรัฐบาลเหมือนแค่ประคองตัวเท่านั้น ทั้งที่ยังมีโอกาสโดดเด่นอยู่ อาจเป็นเพราะขาดคนเข้ามาสร้างตรงนี้"

เธอยกตัวอย่าง "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" เป็นนักการเมืองในสายที่จะช่วยทำให้รัฐบาลโดดเด่นตามภาพที่วาดไว้

"ตอน นี้รัฐบาลมีแต่ท่านเฉลิมที่คอยพูดเรื่องการเมืองให้ แม้จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่ถ้าหากไม่มีท่านมาช่วยงานในสภามันก็ยุ่งเหมือนกัน ดังนั้นหากได้พี่ชายมาช่วย งานในสภาของรัฐบาลจะดีกว่านี้ เช่น ให้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ท่านก็น่าจะทำงานภาคใต้ได้ดี เพราะมีคนยอมรับเยอะ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมั่นคงขึ้น"

ขณะที่ "ฐิติมา" ภายหลังทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล สุดท้ายถูกเปลี่ยนสภาพนั่งเก้าอี้รองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ

"ตอน นี้ยังพอช่วยงานน้อง ๆ ส.ส.ในสภามีบทบาทเหมือนคุณครูให้คำแนะนำ ส.ส.หญิงในการลุกขึ้นอภิปรายในรัฐสภา ถ้าได้กลับมาเป็น ส.ส. ตระกูลฉายแสงก็ยังโดดเด่นได้"

เมื่อถามว่า ตระกูลฉายแสงมีแต้มเท่าไรในกระดานการเมืองตอนนี้ "ฐิติมา" ตอบก่อนหัวเราะตบท้ายว่า "ชั่วโมงนี้อาจไม่จำเป็นต้องมี แต่อีกเดี๋ยวก็จะมีก็ได้ ตราบใดที่พวกเรายังมีจุดยืนทางการเมืองแบบนี้"

"เรื่อง แบบนี้รอได้ พวกเราอายุตอนนี้จะให้ทำงานการเมืองมากกว่านี้ก็พร้อมอยู่แล้ว แต่จังหวะของชีวิตคนมันก็ไม่ได้ลงล่องปล่องชิ้นเสมอไป หรือบางคนอาจจะคิดว่า เคยให้ไปแล้ว ไม่เห็นทำอะไรก็ได้"


วรชัยอัด"ส."ขวางตู่นั่งรมต.

จาก โพสต์ทูเดย์

"วรชัย" ปูดอักษรย่อ "ส." คนใกล้ชิดยิ่งลักษณ์ ขวาง"ตู่" นั่งรัฐมนตรี แถมพยายามเขี่ยพร้อมพงศ์พ้นโฆษกพรรค

นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในครั้งนี้ที่มีสกัดกั้นนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ไม่ให้เป็นรัฐมนตรีเป็นคนกันเองขัดขวาง ทิ่มแทงกัน

"อยากเตือนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เก่งด้านการบริหารประเทศ แต่อาจไม่เก่งเรื่องการเมืองเท่าไหร่ว่า ให้ระวังคนใกล้ชิดชื่อย่อ "ส." จะเป็นคนที่มาทำลายพรรคมากกว่าจะมาช่วยเหลือพรรค"นายวรชัยกล่าว

นอกจากนี้ยังมีความพยายามจะเขี่ยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ออกจากการเป็นโฆษกพรรคอีกด้วย ทั้งๆ ที่ตนมองไม่เห็นว่าใครดีกว่า และนายพร้อมพงศ์ก็ต่อสู้กับพรรคมา ไม่เหมือนบางคนที่ตอนยึดอำนาจก็โดดหนีเอาตัวรอดไปดื้อๆ แต่พอมีชัยชนะก็กลับมาเสนอหน้าแบบไม่อาย

นายวรชัย กล่าวอีกว่า คนที่ไม่ทำอะไรแล้วอยู่ๆ ก็มารับตำแหน่งไปเฉยๆ หากทำกันอย่างนี้มันจะเสียมวลชน จะหนีหายกันหมด บางคนมาจากไหนก็ไม่รู้ พอประกาศรายชื่อว่าอาจจะเป็นรัฐมนตรีคนก็ร้องยี้ คงต้องเตือนสติคนในพรรคให้ทราบด้วยว่าใครเป็นคนต่อสู้ และใครเป็นคนที่หนีไปแล้วกลับมาโดดเกาะขบวน


สุรนันทน์ปัดอักษร"ส."สกัดตู่นั่งรมต.

จาก โพสต์ทูเดย์

สุรนันทน์ไม่มีคอมเมนท์คนใกล้ชิดนายกฯอักษร"ส.เสือ"ขวางจตุพรนั่งเก้าอี้รมต.

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กรณีนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปรการ พรรคเพื่อไทยเเละเเกนนำนปช.ระบุว่าคนใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อักษรย่อ"ส."ขัดขวางไม่ให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ เเกนนำนปช.ได้รับการเสนอชื่อเป็นครม.ยิ่งลักษณ์3

นายสุรนันทน์กล่าวสั้นๆในเรื่องนี้ว่า"ไม่มีคอมเมนท์ โอเคนะครับ ขอบคุณครับ"


“อ้วน” ลั่นพร้อมนั่งเลขาฯ พท. ยันไม่มีบล็อก “ไอ้ตู่” เป็นอำมาตย์ ชี้ต้องเคลียร์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

รักษาการ ผอ.เพื่อไทย ชี้เรื่องปกติแบ่งเก้าอี้อำมาตย์ต้องมีปัญหา ต้องค่อยๆ เคลียร์ให้เข้าใจตรงกัน ไม่รู้ “ส.” เด็กแม้วบล็อก “ไอ้ตู่” แห้ว รมต. ยันไม่มีใครกีดกัน แย้มนายกฯ อาจดูปัญหาก่อนปรับอีก โอ่ชุดใหม่แต่ละคนมีประสบการณ์ ระบุหน้าตาดีไม่เกี่ยวไร้คนสกุลชินวัตรเข้า เผยเลือกกรรมบริหารเพื่อไทยใหม่ 111 มาแน่ ลั่นพร้อมนั่ง เลขาฯ

       
       วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ จ.นครราชสีมา นายภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมสัมมนาสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ถึงกรณีที่คนเสื้อแดงต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เคลียร์ใจกับกลุ่มคนเสื้อแดงจากเหตุที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงไม่มีชื่อร่วมเป็นรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า เป็นเรื่องปกติของการจัดสรรตำแหน่งที่จะต้องมีปัญหาบ้าง เพราะตำแหน่งมีน้อย การที่จะให้ได้ตำแหน่งกับทุกคนเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้โดยหลักการไม่สามารถสร้างความพอใจให้ทุกคนได้ อาจมีคนไม่สบายใจบ้าง แต่ต้องค่อยๆ ปรับเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ส่วนการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย วันที่ 30 ต.ค.เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคนั้นมองว่าเป็นเรื่องสำคัญของพรรคมากกว่า การเคลียร์ใจเรื่องตำแหน่ง
       
       เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเปิดเผยว่ามีคนใกล้ชิดนายกฯ ชื่อย่อ “ส.” ตัดขานายจตุพรไม่ให้เป็นรัฐมนตรี นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เชื่อได้ว่าไม่มีใครอยากกีดกันคนเสื้อแดง ส่วนเรื่องชื่อย่อ ส. หากใครฟังอาจเข้าใจผิดได้ ดังนั้นต้องมีการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกัน ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกคนต้องมองปัญหาพื้นฐานและภารกิจครั้งนี้ เมื่อทำงานไปสักระยะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยนายกฯ เป็นคนที่ตัดสินใจเอง
       
       เมื่อถามว่าจะมีการปรับ ครม.เร็วๆ นี้อีกครั้งใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ โดยนายกฯ จะเอาปัญหาเป็นที่ตั้ง ไม่มีเรื่องโควตาหรือสัดส่วน ส่วนการปรับ ครม. นายจตุพรมีตำแหน่งหรือไม่ พูดแบบนั้นไม่ได้เพราะนายกฯ จะเป็นคนดูเอง ไม่ว่าอะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องปรับ
       
       เมื่อถามถึงหน้าตาของ ครม.ชุดใหม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เมื่อดูจากนักวิชาการ สื่อมวลชน พบว่าส่วนใหญ่มองว่าตั้งบุคลากรเข้ามาทำงานเป็นคนที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถกำหนดกรอบให้ ครม.ชุดใหม่ทำงานได้ แต่เมื่อเริ่มนับหนึ่งแล้วทุกคนคงประเมินตัวเองได้
       
       เมื่อถามว่า ที่หน้าตา ครม.ออกมาดีเพราะไม่มีคนนามสกุลชินวัตร หรือดามาพงศ์ อยู่ด้วยใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับตระกูลใด เพราะนายกฯ จัดสรรคนที่มีความสามารถและทำงานในหน้าที่นั้นได้ ทั้งนี้ หลังการประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 30 ต.ค. เชื่อว่าพรรคจะมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงโครงสร้างพรรคจะมีการปรับเปลี่ยนโดยให้ นักวิชาการ ที่น่าเชื่อถือ และอดีตคนบ้านเลขที่ 111 เข้ามานั่งทำงานในคณะทำงานชุดต่างๆ ส่วนที่มีข่าวว่าพรรคจะเลือกตนเป็นเลขาธิการพรรค ตนก็มีความพร้อม ส่วนการลงคะแนนจะเป็นการให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคโหวตแบบลับ


เพื่อไทยยันปรับครม.ไร้ขัดแย้งในพรรค

จาก โพสต์ทูเดย์

"พร้อมพงศ์" ยืนยันการปรับครม.ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค ชี้คนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็ยังมีงานอื่นต้องทำอีกมาก

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรค เนื่องจากการปรับครม.นั้น พรรคเพื่อไทยไม่มีผลกระทบอยู่แล้ว และการปรับครั้งนี้ เชื่อว่ามีคนสมหวัง ผิดหวัง ถือเป็นเรื่องปกติ พรรคมีงานเยอะที่ต้องทำอีกมาก และเชื่อว่ารัฐบาลยังอยู่อีกยาว

"การปรับครม.ครั้งนี้เป็นการแสดงวุฒิภาวะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการบริหารประเทศ ไม่ได้เป็นไปตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา ถือเป็นการปรับเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา และกำหนดทิศทางของประเทศ"นายพร้อมพงศ์กล่าว

นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า คนที่ผิดหวังตำแหน่งรัฐมนตรี ยังมีงานอื่นๆในบ้านเมืองที่ยังต้องช่วยเหลือกัน สมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เชื่อว่ายังมีคุณค่ากับพรรค ยังมีโอกาสดำรงตำแหน่งอีก ยืนยันไม่มีความขัดแย้ง และพรรคไม่แตกแยกแน่นอน

นอกจากนี้ยืนยันว่า การปรับครม.ไม่ใช่การปรับเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามที่ฝ่ายค้านระบุ โดยการที่ฝ่ายที่ค้านจะยื่นอภิปรายนั้นไม่มีปัญหา แต่อาจมีปัญหาเรื่องวันเวลา เพราะวันที่ 26-27 พ.ย. ที่มีการระบุว่าจะอภิปรายนั้นเป็น 2 วันสุดท้ายก่อนการปิดสมัยประชุมสภาใน วันที่ 28 พ.ย.นี้ เรื่องนี้มองว่าอาจมีนัยยะทางการเมือง ซึ่งถ้าเป็นไปได้น่าจะกำหนดวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุม จะเป็นประโยชน์มากกว่า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ครม.ปู 3 ได้เวลา พระเอกตัวจริง

view