สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3 ปี ร.พ.จุฬาภรณ์ ภารกิจกู้ชีวิตต่อสู้ มะเร็ง น.พ.จรัส สุวรรณเวลา

จากประชาชาติธุรกิจ

หลังจากที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินกิจการเปิดรักษาและคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จมาเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ

3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เปิดให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับชั้นเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในปี 2555 สามารถเปิดให้บริการได้ถึงร้อยละ 70 ตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายหลังที่เตรียมความพร้อมทั้งสถานที่ เครื่องมือ ทีมแพทย์และพยาบาลมากว่า 10 ปี เพื่อจะได้เป็นสถานพยาบาลเฉพาะด้านโรคมะเร็ง เป็นองค์กรที่ให้ทั้งความรู้ การป้องกัน และการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ครบวงจรอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย

นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการดำเนินงานของโรงพยาบาลและบริการที่มอบให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง

ไม่เพียงแค่ให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง แต่ทางโรงพยาบาลยังทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ทั้งการจัดอบรมและส่งแพทย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็มีแพทย์บางคนเดินทางกลับมาแล้ว

โรงพยาบาลมีบุคลากรประจำ 525 คน เป็นแพทย์ประจำประมาณ 44 คน พยาบาลประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งพยาบาลทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรม มีประสบการณ์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยผลิตพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง โดยมีนักศึกษาได้รับทุนจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ปีละ 20 คน ตอนนี้จบมาแล้ว 3 รุ่น นอกจากนั้นก็มีเภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ นักเคมี ที่ต้องส่งไปเรียนต่อปริญญาโท หรือปริญญาเอกเช่นเดียวกัน

รองประธานบริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายถึงสภาพของโรคมะเร็งในปัจจุบันว่า องค์ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเปลี่ยนจากสภาพที่เป็นแล้วอันตราย ทรมาน รักษาหายยาก มาเป็นโรคที่ป้องกันได้ รักษาได้ มีโอกาสหายได้ แต่บางคนกลายเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลารักษาระยะยาว ดังนั้นการกลับไปที่ต้นเหตุจึงเป็นออกที่ดีที่สุดสำหรับโรคร้ายนี้

"ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็ง อันมี 3 สาเหตุ มาจากพันธุกรรม พฤติกรรม และสภาวะแวดล้อม เมื่อ 3 อย่างผสมกัน ผู้นั้นจึงมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่าง ๆ"

ดังนั้นภารกิจหลักของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นอกจากการรักษามะเร็งแล้ว สิ่งสำคัญคือให้ความรู้และหาทางป้องกันโรค จึงสร้างคลินิกประเมินความเสี่ยง โดยใช้ระบบป้อนข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อดูความเสี่ยงในการเกิดโรคของแต่ละคน และจะได้ทราบว่าหากมีโอกาสเป็นมะเร็งแล้วจะปฏิบัติอย่างไรในขั้นตอนต่อไป หามะเร็งที่อาจจะซ่อนอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในร่างกาย สามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองจากที่บ้านทางอินเทอร์เน็ตที่ www.cccthai.org

ข้อดีของการประเมินความเสี่ยงจะช่วยให้ผู้ป่วยพบมะเร็งในระยะแรก ซึ่งง่ายต่อการรักษาจะได้ผลดีกว่า และมะเร็งที่เกิดขึ้นมาใหม่จะไม่มีอาการชัดเจน ดังนั้นทุกคนควรเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยง ก่อนเนื้อร้ายจะลุกลามเกินเยียวยา

นายแพทย์จรัสเล่าถึงการทำงานของโรงพยาบาล ภายใต้โครงการบำเพ็ญพระกุศลของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ ที่ทำต่อเนื่องมา 3 ปี โดยปีแรกทำการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 1,500 คน พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ 15 คน ซึ่งพบในระยะก่อนจะเป็นมะเร็ง และอีก 150 คนกลายเป็นมะเร็งชนิดอื่น

"ปกติแล้วผู้ป่วยมะเร็งจะพบระยะ 3 หรือระยะ 4 ก็เป็นหนักมากแล้ว แต่ถ้าพบระยะ 0 หมายความว่ามะเร็งมันเพิ่งเกิด พบยอดของติ่งเนื้อก็แค่ตัดเนื้อนั้นออกก็หายได้เลย แต่ถ้าลามออกมากลายเป็นระยะที่ 3 ก็จะต้องผ่าตัดเอาออก แล้วก็ใช้เคมีบำบัด รังสีบำบัดเข้ามาต่อทำให้การรักษายุ่งยาก และทุกข์ทรมานมากขึ้น"

ปีที่ 2 จัดโครงการคัดกรองหามะเร็งตับ อันมีสาเหตุมาจากตับอักเสบ ไวรัสบี ที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งตับ

มีผู้ร่วมโครงการตรวจหามะเร็ง 2,500 คน ตรวจพบว่ามีการอักเสบของตับเรื้อรัง 10 คน เป็นมะเร็งตับพบในระยะที่ผ่าตัดได้ อีก 500 คนที่มีความเสี่ยงต้องคอยเฝ้าระวังและให้ยาต้านไวรัสต่อเนื่อง

โครงการบำเพ็ญพระกุศลนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ยังได้ทำในต่างจังหวัด เช่น อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด อ.บ้านหลวง จ.น่าน ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งให้ค้นพบในระยะแยก รักษาได้ที่โรงพยาบาลในจังหวัด โดยไม่ต้องเดินทางมากรุงเทพฯ หรือจะส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

และในปีที่ 3 ทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำให้พบข้อมูลใหม่ว่า เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยมีมากกว่า 2 ชนิด โดยวัคซีนที่ฉีดกันในปัจจุบันอาจจะยังไม่ครอบคลุมเชื้อไวรัสบางตัวที่หญิงไทยเป็นมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

ถึงแม้คนไข้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลส่วนหนึ่งเป็นคนไข้ในโครงการบำเพ็ญพระกุศลที่รับบริการฟรี แต่ทั้งนี้ก็เปิดบริการให้คนทุกฐานะด้วยเช่นกัน จึงอยากเชิญชวนผู้ที่มีความเสี่ยงร่วมประเมินความเสี่ยง สิ่งที่นายแพทย์จรัสกังวลมากที่สุดคือ โรคมะเร็งยังมีอีกมากประชาชนยังไม่เข้าใจโรคไม่รู้วิธีป้องกันตัวเอง และมีความเชื่อของสังคมล้าสมัย แม้โรงพยาบาลพยายามแสดงให้เห็นว่า ถ้าพบมะเร็งในระยะแรกจะได้ประโยชน์มากกว่า และรักษาได้ง่ายไม่ต้องใช้เคมีบำบัดและรังสีบำบัด และอาจจะมีโรคแทรกซ้อนได้มาก แต่คนไทยก็ยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายนี้

ถ้าพบมะเร็งแล้วก็ต้องรักษาอยู่ดี คนไข้มะเร็งต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เพราะเป็นคนไข้เรื้อรัง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯทรงย้ำตลอดว่า ให้ดูแลคนป่วยทั้งด้านสังคม จิตใจ และสภาพครอบครัวด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ร.พ.จุฬาภรณ์ ภารกิจกู้ชีวิต มะเร็ง น.พ.จรัส สุวรรณเวลา

view