สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหากาพย์สามจีโดยมีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

มหากาพย์สามจีโดยมีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การออกใบอนุญาตสามจีของประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นมหากาพย์ที่ร่ายยาว มีหลายภาคส่วน หลายองค์กรเข้ามาตรวจสอบและเกี่ยวข้อง
ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรกำกับดูแลด้านการสื่อสารของไทยเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตาดำๆ ที่มองหน้ากันเลิ่กลั่กไปมาว่าตกลงเมื่อไหร่เทคโนโลยีสามจีจะให้บริการถึงมือผู้บริโภคอย่างเป็นทางการเสียที

การดำเนินการให้ใบอนุญาตสามจีที่ประสบพบเห็นกันในโลกสากลนั้นสามารถทำได้ 3 ทางด้วยกันได้แก่ 1. วิธีการประมูล (Auction) ซึ่งใช้การเสนอราคาของผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นตัวชี้วัดการได้มาซึ่งใบอนุญาต โดยประเทศที่เลือกใช้วิธีการดังกล่าวได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ เป็นต้น 2. วิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติ (Beauty contest) ซึ่งใช้ข้อเสนอด้านคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นตัวตั้งในการพิจารณาการให้ใบอนุญาต โดยประเทศที่เลือกใช้วิธีการดังกล่าวได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เกาหลีใต้ เป็นต้น และ 3. วิธีการผสม (Hybrid) อันเป็นการเอาสองวิธีข้างต้นมาผสมผสานกัน โดยทำการคัดเลือกผู้ประกอบการจากกระบวนการเปรียบเทียบคุณสมบัติเสียก่อน แล้วค่อยนำมาสู่การคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตด้วยการประมูล ซึ่งประเทศที่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว ได้แก่ อิตาลีและออสเตรีย เป็นต้น

ทั้งสามวิธีข้างต้นดูเหมือนจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ หากเราเลือกใช้วิธีการประมูล ขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานก็ชัดเจนว่าจะใช้กลไกราคาเป็นตัวกำหนดผู้ชนะการประมูล ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ง่าย ใช้เวลาน้อย และโปร่งใสที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบการที่ให้ราคาสูงสุดคือผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาต ซึ่งหากเรามีการออกแบบกระบวนการแข่งขันให้เกิดขึ้นจริงได้ก็นำมาสู่การสร้างรายได้เข้ารัฐจำนวนมหาศาล และไร้ซึ่งข้อครหาของความไม่โปร่งใสในการออกใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนก็มีความกลัวว่า ด้วยวิธีการประมูลที่เอาราคาเป็นตัวตั้งแบบไม่ลืมหูลืมตา อาจนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงของผู้ประกอบการอันอาจผลักมาเป็นภาระให้แก่ผู้บริโภคก็เป็นได้

ทั้งนี้หากวิเคราะห์จากประสบการณ์ของการประมูลที่ผ่านมา ผู้ประกอบการของหลายๆ ประเทศต่างเห็นบทเรียนจากการประมูลแบบแข่งกันเลือดสาดมาแล้วที่ประเทศอังกฤษและเยอรมนีในต้นปี ค.ศ. 2000 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีการประมูลสามจี โดยผู้ประกอบการของอังกฤษที่ชนะการประมูลให้ราคาสูงถึง 595 ล้านดอลลาร์ต่อโอเปอเรเตอร์ ในขณะที่ฟากเยอรมนีให้อยู่ที่ 562 ล้านดอลลาร์ต่อโอเปอเรเตอร์ ซึ่งการประมูลดังกล่าวอยู่ในช่วงที่เป็นฟองสบู่ของอุตสาหกรรมมือถือ ที่ต่างคนต่างคาดหวังผลตอบแทนของการทำเงินจากธุรกิจนี้เกินกว่ามูลค่าที่เป็นจริง ดังนั้นในการประมูลระยะหลังที่ตามมาจึงเป็นการประมูลที่มีการคำนวณตามสภาพการทำเงินได้จริงจากเทคโนโลยีสามจี โดยจะเห็นได้ว่าราคาการได้มาซึ่งใบอนุญาตสามจีลดลงมาอย่างก้าวกระโดด เช่นในเนเธอแลนด์ลดลงมาเหลือ 160 ล้าน ออสเตรเลีย 19 ล้านและนิวซีแลนด์ 13 ล้านดอลลาร์ต่อโอเปอเรเตอร์ตามลำดับ

นอกจากวิธีการประมูลแล้ว สำหรับการเปรียบเทียบคุณสมบัติก็เป็นอีกทางหนึ่งที่นิยมในการให้ใบอนุญาต เพื่อใช้คัดเลือกคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการแต่ละราย ทั้งในเชิงของการจัดสรรและการกระจายเทคโนโลยีสามจีให้ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งวิธีการนี้มีกลิ่นอายของการมองเทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรของชาติที่ต้องเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของคนในประเทศที่ควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้คุณภาพของการบริการและการกระจายของเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีส่วนช่วยในการลดช่องว่างทางเทคโนโลยี อันนำไปสู่การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและทางสังคมต่อไป อย่างไรก็ตามวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับใบอนุญาตด้วยวิธีนี้ดูจะมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากกว่าอย่างเห็นได้ชัด กอปรกับอาจนำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนและระบบอุปถัมภ์ที่บิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรมก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ในพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ได้ระบุให้ทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวของการได้มาซึ่งใบอนุญาตสามจีคือ การประมูล ซึ่งหน้าที่หลักของผู้กำกับดูแลการประมูลในครั้งนี้คือ การออกแบบสนามการแข่งขันทางราคาให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ รายไทย รายต่างชาติ บนฐานของการให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง ซึ่งจากผลของการออกแบบการประมูลที่ผ่านมาดูเหมือนจะจัดสรรสล็อตของทรัพยากรสามจีอย่างลงตัว แบ่งเค้กให้เสร็จสรรพ โดยที่เอกชนไม่ต้องอยู่ในลุ้นอะไรกันมากมายนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาการประมูลจะไม่ไต่ขึ้นสูงแบบก้าวกระโดดแต่อย่างใด แถมยังเป็นการประมูลที่โปร่งใสได้ราคาต่ำแบบไม่ต้องฮั้ว อันเป็นผลให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการออกแบบการประมูลที่ทำให้รัฐขาดรายได้จำนวนมหาศาล ในขณะที่คณะกรรมการที่จัดการประมูลก็ได้ออกมาแก้ต่างถึงความโปร่งใสในการทำงาน พร้อมกับระบุถึงราคาประมูลที่ต่ำดังกล่าวว่าจะนำไปสู่ราคาการใช้บริการสามจีที่ถูกลงตามไปด้วย อันเป็นมุมมองที่เห็นสามจีเป็นสวัสดิการสังคมที่พึงมีพึงได้ของประชาชนตาดำๆ

เห็นหลายฝ่ายต่างต่อสู้กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันในประเด็นสามจี ที่งัดทั้งงานวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ งานวิจัยต้นแบบจากประเทศโน้นประเทศนี้มากล่าวอ้าง โดยอ้างการปกป้องซึ่งผลประโยชน์ของผู้บริโภคแล้วก็น่าชื่นใจ เพราะในปัจจุบันดูเหมือนผู้บริโภคอย่างเรายังขาดการคุ้มครองจากการแข่งขันทางกลไกราคาและคุณภาพการให้บริการที่ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ดันจะมาเป็นรูปเป็นร่างเอาก็ตอนที่แต่ละฝ่ายต้องการชนะคะคานกันด้วยเรื่องการประมูลสามจีนี่เอง ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสามจีเหล่านี้ หลายคนคือผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นๆ ที่มีสามจีเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการทำงานและสร้างศักยภาพการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่งอยู่ ดังนั้นความล่าช้าของสามจีก็ถือเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่คนเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่และเห็นชัดเจนมากกว่าค่าเสียโอกาสจากเงินประมูลของรัฐ

บทเรียนการออกแบบกลไกตลาดของผู้กำกับดูแลในวงการสื่อสารและโทรคมนาคมในครั้งนี้นับเป็นภารกิจนำร่องที่คงจะช่วยให้การตั้งรับการประมูลอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมายทำได้อย่างเป็นระบบและจบได้ในห้องประชุม แบบไม่ต้องออกสื่อกันอย่างเอิกเกริกเช่นนี้ โดยผู้บริโภคมิใช่แต่เป็นเกราะคุ้มหัวในการโต้แย้งของแต่ละฝ่าย หากแต่คือผู้เป็นเจ้าของ ที่มีสิทธิ์พึงมีพึงได้ใช้ทรัพยากรของชาติอย่างแท้จริง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหากาพย์สามจี ผู้บริโภค ตัวประกัน

view