สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศไทย เนื้อหอม หรือเป็นเครื่องมือการต่อรอง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์



ในช่วงหลาย ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้นก็เสร็จสิ้น และเป็นผลที่ดูเหมือนจะเป็นไปตามความต้องการและความคาดหวัง
ในช่วงหลาย ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้นก็เสร็จสิ้น และเป็นผลที่ดูเหมือนจะเป็นไปตามความต้องการและความคาดหวัง (แบบหวั่นๆ) ว่าการดำเนินนโยบายทางการเงิน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกานั้น ยังคงสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการต่ออายุของความช่วยเหลือและภาษีสำหรับประชาชนชั้นกลางและล่างของอเมริกา และการกระตุ้นสภาพคล่องบวกกับนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง โดยความท้าทายเหล่านี้ ผมคงต้องขอให้เราท่านทั้งหลายร่วมกันจับตาดูการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านที่ดำเนินการอยู่ทั้งจากอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่จะมีเพิ่มเติมจากนี้ไป

ประเทศไทยของเรา หากดูที่ตั้งและการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เราน่าจะเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีชัยภูมิที่ดี ทั้งการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นบวก คือ มีศักยภาพในการเจริญเติบโต มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น มีทรัพยากร และมีประชากรจำนวนมาก หากเราลองจินตนาการว่าเราทำธุรกิจ ธุรกิจที่ดีนั้นต้องมีลูกค้า ต้องมีสินค้า ต้องมีกำลังซื้อ ซึ่งในภูมิภาคที่เราอยู่นั้น (อาเซียน) เป็นพื้นทำเลตลาดที่ดีไม่น้อย และดูยิ่งดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือ อเมริกาก็ตาม ซึ่งมีกำลังซื้อน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้นการที่ประเทศไทยของเราอาจมีการเรียก “Gateway to Indochina” , “Gateway to ASEAN” นั้น ดูแล้วจะทำให้เป็นจริงได้เหมือนกัน และการเชื่อมต่อประชาคมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นั้นก็ไม่นานเกินรอ ด้วยชัยภูมิที่ดี และมีการวางรากฐานที่สู้ได้ในอดีต การเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากเกินไป

ผมเคยได้ยินหลายๆ คนกล่าวถึงผลการสำรวจความยากง่าย ของการเริ่มธุรกิจในโลก ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศอันดับแรกๆ ในการสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจของชาวต่างชาติได้ ซึ่งเป็นเรื่องจริง และบางคนอาจเปรียบเทียบเชิงลบว่า ไทยนั้นต้องการการพัฒนาเลื่อนอันดับของความง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ สำหรับประเด็นนี้ ผมไม่แน่ใจว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาปรับอันดับความง่ายของการเริ่มต้นธุรกิจหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการพัฒนา แต่ผมคิดว่าในแต่ละประเทศมีจุดยืน และมีความต้องการในการพัฒนาสนับสนุนธุรกิจไม่เหมือนกัน

ในสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการค้าขายเป็นหลัก การลงทุนและการผลิตที่มีกระบวนการผลิตที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการหลายขั้นตอนนั้นน้อยกว่าประเทศไทยของเรา การดำเนินการเรื่องเกษตรอุตสาหกรรมก็น้อยกว่า ซึ่งหากเทียบความต้องการของสิงคโปร์แล้ว คือ ต้องการให้ผู้ลงทุนและผู้ทำการค้าขายจากต่างประเทศมาดำเนินกิจการ (ไม่ได้ผลิต) ในสิงคโปร์ และต้องการเป็นศูนย์กลางการค้าขายเป็นหลัก ขณะที่ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการกระจายตัวของอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง บริการ อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว ซึ่งมีความหลากหลายกว่า ประชากรและการกระจายตัวของประชาชนคนชั้นกลางและล่างที่แตกต่างกว่า

ดังนั้นการพัฒนาความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจคงต้องถามตัวเองว่า เราต้องการสนับสนุน และปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการในอุตสาหกรรมไหน อย่างไร แล้วเอายุทธศาสตร์ที่ตั้งต้นไว้นั้นมาพัฒนาเป็นแผนการดำเนินการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนธุรกิจ และประชาชนในประเทศเป็นหลักน่าจะเหมาะสมกว่า

ในการเปลี่ยนแปลงสภาวะการค้าขายและกำลังซื้อช่วงที่ผ่านมา อาเซียนเป็นหนึ่งในเป้าหมายการซื้อสินค้า ทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุน ซึ่งผมคิดว่าเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเจรจาต่อรองทางการค้า (เรียกว่า “เจรจา”) คงทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคู่เจรจา (คนที่เริ่มต้นหัวข้อก่อน) ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษี การลดเงื่อนไข กติกาต่าง ๆ การเปิดให้ต่างชาติมาลงทุน และอื่นๆ ซึ่งคิดว่าการเยือนประเทศไทยของผู้นำในหลายๆ ประเทศนั้น ก็เพื่อการเริ่มต้นการเจรจาผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ซึ่งเราคงต้องเตรียมการรับมือ และทำความเข้าใจถึงจุดยืน และส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจและของประชาชนคนไทยให้ดี

นอกจากนี้ หากเราดูการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา การมีการเจรจาและการตกลงข้อตกลงต่าง ๆ กับประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น อาจเปรียบเสมือนกับการต่อรองพื้นที่ทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งจากอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น หากการสานสัมพันธ์และสามารถดำเนินการข้อตกลงได้ ประเทศนั้นก็จะเปรียบได้กับการขยายการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจในอาเซียนได้ด้วย และสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ที่ต้องการและทำให้การขายสินค้า และการลงทุนดำเนินการได้ เพื่อให้ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มีผลกระทบกับประเทศตนเองน้อยลง

การดำเนินการต่อรอง และเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ไม่ผิดวิสัย และเป็นเรื่องที่เราเองก็ต้องดำเนินการเช่นกัน โดยหากเราเป็นฝ่ายรับเป็นหลักโดยไม่รุก ผู้ประกอบการ ประชาชนและนักธุรกิจในไทยก็อาจเสียผลประโยชน์ เพราะบางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่แข็งแรง มีเงินทุนน้อยกว่า อาจจำเป็นต้องเลิกกิจการเพราะขาดการสนับสนุนพัฒนาสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มความแข็งแรง และไม่สามารถแข่งกับธุรกิจข้ามชาติที่แข็งแรงกว่าได้ ซึ่งการต่อรอง และการเพิ่มข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีเป็นเรื่องที่ทุกประเทศดำเนินการ และดูเหมือนว่าจะดำเนินการเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ทุกที ดังที่เราเห็นทุกประเทศดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับระยะเวลาอีกไม่กี่ปีที่เหลืออยู่ก่อนจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้ ด้วยตำแหน่งประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน สถานะทางเศรษฐกิจ และความแข็งแรงของผู้ประกอบธุรกิจ ประเทศไทยของเราน่าจะสามารถต่อสู้ รับมือ และถือโอกาส ในการขยายและพัฒนาธุรกิจได้ ซึ่งเราอาจต้องไตร่ตรองให้ดีว่า เราต้องการดำเนินการเรื่องใด อย่างไร และจะสนับสนุนกันอย่างไร

การเป็น Gateway to ASEAN นั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือและต่อรอง นอกจากนี้เราต้องถามและเตรียมตัวเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรามากขึ้น… ไม่มีประเทศไหนไม่ดูแลธุรกิจและประชาชนของตนเอง การต่อรองต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์ร่วมกันที่ลงตัว กติกาทางการค้า ภาษี ข้อห้ามและการอนุญาตการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันดู แล้วเราก็จะเป็น Gateway ตัวจริง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประเทศไทย เนื้อหอม เครื่องมือการต่อรอง

view