สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลักสากลหลังควันจางลอกคราบจากม็อบสู่ม็อบ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนก บังผล

โปรดกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง

วันที่ 23 พ.ย.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นำทัพ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ,พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น. พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูร รอง ผบช.น. และนายมนัสวี ศรีดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ

แถลงแนวทางปฏิบัติของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ หรือ “บิ๊กย้อย” เป็นเลขา ศอ.รส. มี “บิ๊กแจ๊ด” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เป็น ผู้อำนวยการและผู้บัญชาการกำลัง

พล.ต.อ.อดุลย์ ย้ำตลอดการแถลงว่า แนวทางปฏิบัติของ ศอ.รส. คือการความสงบอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม ไม่ใช่นำมาสลายม็อบ

“จากที่ได้ติดตามสถานการณ์มาขณะนี้น่าจะมีผู้ชุมนุม 5 หมื่นคนขึ้นไป มีสิ่งบ่งชี้ที่อาจต่อเนื่องไป 2-3 วัน คือมีการสั่งให้ผู้ชุมนุมเอาเสื้อผ้า อาหาร เสื้อกันฝน น้ำส้มสายชูและเงินติดตัว มีการพูดถึงสถานการณ์หากมีการขว้างระเบิด หรือวิ่งเข้าไปในสถานที่สำคัญ เช่นวัดเบญฯ สวนป่า ดังนั้น พรบ.มั่นคง จึงนำมาเป็นกฎหมายป้องกันมากกว่า ไม่ใช่นำมาปราบปรามให้เจ้าหน้าที่ควบคุมอาวุธ ยานพาหนะ ใน 3 พื้นที่ เป็นเวลา 9 วัน เป็นกฎหมายที่นำมาดูแลผู้ชุมนุมจำนวนมากให้ปลอดภัย และทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลพื้นที่สำคัญได้ ซึ่งประกาศให้รอบทำเนียบรัฐบาล กับรัฐสภา โดยไม่กระทบต่อชีวิตคนส่วนใหญ่” ตอกหนึ่งที่ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

แน่นอนว่าอาจจะมีการกระพือข่าวจนทำให้รัฐบาลเกิดการตื่นตูม แต่ข้อมูลการข่าวที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือก็ร่วมผสมโรงระบุว่า “มีการวางแผนจับตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” 

นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ ศอ.รส. ประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อกำหนดพื้นที่ควบคุมเข้มงวด

ผลจากการปฏิบัติงานของตำรวจในวันที่ 24 พ.ย. เป็นอันรู้กันว่าเป็นอย่างไร               

แต่จะไม่เป็นธรรมหากไม่ย้อนกลับไปที่คำแถลงในวันที่ 23 พ.ย. อีกครั้ง ...และอีกครั้ง

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะเลขาฯ ศอ.รส. กล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีการอ้างถึงแผนกรกฎ 52 ไว้ตอนหนึ่ง

“แผนการปฏิบัติครั้งนี้จะไม่ใช้ แผนกรกฎ 52 เนื่องจากอยู่ในระหว่างปรับปรุง แต่จะเป็นคำสั่ง 1/2555 เป็นพื้นฐานในการดำเนินการ มี 4 ขั้นตอน”

1.คือขั้นตอนเตรียมการ เช่น ด้านการข่าว ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เตรียมหน่วยเฉพาะกิจ ส่งกำลังบำรุง จัดพื้นที่ควบคุมและสอบสวน ในกรณีที่เหตุการณ์บานปลาย

2.ขั้นตอนเผชิญเหตุ ให้ตำรวจยึดถือแนวทางรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 63 นอกจากนี้ยังมีตำรวจท้องที่ดูแล สถานที่ต่างๆ และบุคคล โดยมีศูนย์สั่งการให้ทุกระดับ มีการชี้แจงแกนนำ ต่อรองให้คลี่คลาย

3.ในกรณีที่มีบุคคลไม่หวังดีก่อเหตุ จะมีการใช้กำลังคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งจะมีการแจ้งเตือน เจรจากับผู้ชุมนุม หากต่อรองไม่เป็นผลให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ในฐานะ ผอ.และ ผบ.กำลัง ใช้กำลังเข้าแก้ไข

และขั้นตอนที่ 4. ฟื้นฟูหลังการชุมนุม ตำรวจต้องสอบสวนรวบรวมหลักฐาน มีการเยี่ยวยา ทำรายงานหลังปฏิบัติ และดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง

“แผนกรกฎ ทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่า เมื่อเกิดเหตุต้องปฏิบัติตามลำดับจาก 1 ไปก่อนเป็นขั้นบันได จริงๆตามหลักสากลแล้วต้องใช้ตามสถานการณ์ ไม่เป็นข้อๆ เจ้าหน้าที่ควบคุมจะไม่ยันติดกับฝูงชน จะมีการเว้นระยะห่าง หากมีการขยับผลักดันให้ใช้โล่ดันรักษาระยะไว้แล้วกลับมา หากยังดื้อดึงก็ให้ใช้แก๊สน้ำตา ที่ผ่านมาผู้ฝ่าฝืนทำลายสิ่งกีดขวาง ตำรวจทำได้แต่ยืนดู ไม่สามารถรักษาสถานที่ราชการได้ แต่คราวนี้หากมวลชนมารื้อแบริเออร์ก็จะใช้แก๊สน้ำตาได้เลย จะเป็นการใช้แบบสม่ำเสมอไม่ใช่เป็นขั้นตอนสุดท้าย” บิ๊กย้อย แถลง

นั่นจึงเป็นคำตอบให้กับผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมตำรวจจึงใช้แก๊สน้ำตาตั้งแต่แรกเริ่ม หลังจากมีการยั่วยุและรื้อสิ่งกีดขวาง

และเอาเข้าจริง การยืนยันที่จะเข้าพื้นที่การชุมนุม ทั้งๆที่ทางอื่นก็เปิดให้เข้านั้น ต้องยอมรับว่าการเดินอ้อมนั้นไกล แต่ไม่ใช่ว่าไม่ให้ชุมนุม

กลุ่มผู้ชุมนุมถามหาหลักความเป็นสากลในสลายม็อบ แต่แผนของตำรวจไม่ได้เอามาใช้กับการสลายม็อบ

แผนที่นำมาใช้ในวันที่ 24 พ.ย. เป็นแผนที่ถูกคัดลอกสำเนาแล้วนำมาแปลเป็นภาษาไทยจาก “สหประชาชาติ” ยืนยันว่าเป็นหลักสากลยิ่งกว่าสากล

แต่หลักในการชุมนุมเป็นหลักสากลหรือไม่?

ม็อบที่ผ่านมาทุกครั้งทั้งสีเหลืองสีแดง เป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธตามหลักสากลหรือไม่

อีกด้านหนึ่งรูปภาพที่ถูกเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดีย ที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม

กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิเสธได้หรือไม่ว่า...ไม่ได้เริ่มทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อน

และนัยที่การดูแลความสงบของกลุ่มผู้ชุมนุมจากทหาร มาเป็นตำรวจ มีปมที่ต้องถอดรหัสอีกมาก

ย้อนกลับไปอีกครั้ง พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูร รอง ผบช.น.ฝ่ายความมั่นคง ระบุ

ในการปฏิบัติงานครั้งนี้ใช้กำลังตำรวจ 112 กองร้อย ที่ทำเนียบ 52 กองร้อย ,รัฐสภา 18 กองร้อย ,ลานพระบรมรูปทรงม้า 9 กองร้อย ,บช.น. 4 กองร้อย ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 กองร้อย ,โรงพยาบาลศิริราช 2 กองร้อย ,บ้านพักบุคคลสำคัญ 2 กองร้อย ,พระราชวังสวนจิตรลดา 12 กองร้อย และกำลังพลสนับสนุนอีก 11 กองร้อย

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังกล่าวอีกว่า กรกฎ 52 ยังเป็นแผนแม่บท ไม่ใช่ไม่มี แต่ครั้งนี้เป็นการสั่งปฏิบัติ นำมาปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ต้องเข้าใจก่อนว่ากฎหมายนี้มีไว้เพื่อป้องกันเหตุเกิดขึ้นให้ทำได้ ไม่ใช่ปราบปราม แต่ให้รัฐชอบธรรมในการจัดการ โดยมีตำรวจ 200 กองร้อย ร่วมกับทหาร ซึ่งเป็นสารวัตรทหาร 150 นาย และ กอ.รมน.ทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพ การบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้จะอยู่ที่สถานการณ์ หากผู้ชุมนุมโดยสันติแล้วมีมือที่ 3 เคลื่อนกลุ่มไปยังที่ต่างๆหรือปิดล้อมพื้นที่ หากฝ่าฝืนจะเป็นการทำผิดตามกฎหมายมาตรา 18 โทษจำคุก1 ปี ปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ซึ่งการดำเนินการตำรวจจะทำตามขั้นตอนกฎหมาย แจ้งเตือนก่อนทุกขั้นตอน และใช้ตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ย่อมไม่มีใครอยากจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพียงแต่หากมองให้รอบด้านย่อมมองเห็นความจริงมากกว่าการมองจากมุมใดมุมหนึ่ง เพียงด้านเดียว

และอาจเป็นผลดี หากการชุมนุมครั้งต่อไปกลุ่มผู้ชุมนุมจะปฏิบัติตามหลักสากล และตำรวจปฏิบัติตามหลักสากลเช่นกัน

และอาจเป็นการดี ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมตระหนักว่า การดูแลควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นแผนอย่างไร ห้ามอะไร เพื่อไม่ต้องถูกแก๊สน้ำตาซ้ำรอยอีก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลักสากล หลังควันจาง ลอกคราบ ม็อบสู่ม็อบ

view