สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สัมภาษณ์พิเศษ: ผมรักชาติมากกว่าพรรค

จาก โพสต์ทูเดย์

เมื่อขึ้นนั่งบนบัลลังก์ผมไม่ใช่คน ของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่คนเสื้อแดง บนนั้นไม่มีเหลือง ไม่มีแดงไม่มีเพื่อไทยไม่มีประชาธิปัตย์ ไม่มีเพื่อนไม่มีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ


โดย ...ชุษณ์วัฎ ตันวานิช/ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์
         
รับเสียงชมท่วมท้นจากประชาชนที่เกาะติดหน้าจอดูศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 พกบุคลิกขรึม เข้ม เฉียบขาดกำราบ สส.ในห้องประชุมจนอยู่หมัดทุกครั้งที่ขึ้นนั่งบัลลังก์ สไตล์การวินิจฉัยของเขา "แรงมาแรงไป"กระทั่งเจ้าตัวยอมรับว่า หากการประชุมสภาร้อนแรงทำท่าจะเอาไม่อยู่ ประธานสภาต้องเรียกใช้บริการเขาเพื่อให้มาคุมการประชุม


วิสุทธิ์ บอกกับโพสต์ทูเดย์ ว่า ตลอดเวลาคำนึงเสมอว่าเก้าอี้ "ประธานสภา" เป็นงานสำคัญระดับชาติเพราะถือเป็นการทำหน้าที่แทนคนทั้งแผ่นดิน หลักสำคัญสุดที่ต้องยึดไว้คือความเป็นกลาง เพราะหากประธานลำเอียง ฝ่ายตรงข้ามจะประท้วงทันที และอาจเกิดความวุ่นวายจนส่งผลให้การประชุมต้องหยุดชะงัก เสียเวลา สส. รวมไปถึงข้าราชการทั้งหมด
         
"บางคนเขาก็ชมผม แต่บางคนไม่ถูกใจเขาก็ด่า แต่ไม่ว่ายังไงผมขอทำหน้าที่เป็นกลางที่สุด ผมยึดอยู่สิ่งหนึ่ง คือ เมื่อขึ้นนั่งบนบัลลังก์ผมไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่คนเสื้อแดง บนนั้นไม่มีเหลือง ไม่มีแดงไม่มีเพื่อไทยไม่มีประชาธิปัตย์ ไม่มีเพื่อนไม่มีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือ" วิสุทธิ์ยืนยันถึงหลักการบนเก้าอี้ที่เขานั่งมาร่วมปีกว่า
         
ยิ่งในการประชุมที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบให้ฝ่ายบริหารชี้แจงนั้น เจ้าตัวย้ำว่ายิ่งต้องสร้างความเป็นกลางให้มากที่สุด
         
"ต้อง ยอมรับความจริงว่า ผมสังกัดพรรคการเมืองก็ต้องมีความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีต่างๆ เป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ หลายท่านเป็นคนที่ผมเคารพนับถือ มีความสัมพันธ์ส่วนตัวพอสมควร แต่เวลาทำหน้าที่ผมไม่เคยเอาความเคารพนับถือมาเกี่ยวข้องกับความยุติธรรม สองสิ่งนี้ต้องแยกจากกัน ไม่ว่าเป็นหนี้บุญคุณใครให้กองไว้ตรงนั้น นั่นเป็นเรื่องที่คุณไปติดหนี้เขา แต่ตอนวินิจฉัยบนบัลลังก์ต้องไม่สนใจใครทั้งนั้น"
        
 "อย่าง รองฯ เฉลิม ผมเองเคยขอความช่วยเหลือท่านในเรื่องตำรวจไม่ได้รับความยุติธรรมแต่ในสภาผม ต้องทำตามหน้าที่ ผมไม่เคยหันไปดูเลยทั้งรัฐมนตรีและนายกฯ และท่านก็ให้เกียรติ ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงดังนั้น อยู่บนบัลลังก์ไม่ต้องสนใจว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน สำคัญที่สุดคือความยุติธรรม ในใจเราต้องมี ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างบน ถ้าผมทำอะไรผิดไปจะมีความละอายใจมาก"
         
วีรกรรมใน "ศึกซักฟอก" ที่เพิ่งผ่านไปสะท้อนบทพิสูจน์ไม่เลือกข้างของ "รองฯ วิสุทธิ์" เพราะถึงขั้นเงื้อค้อนเตรียมทุบโต๊ะบนบัลลังก์เพื่อสยบพายัพ ปั้นเกตุสส.เสื้อแดงจากพรรคเดียวกันมาแล้ว
         
"ผมบอกให้แก นั่งลง เพราะที่ประชุมจะเข้าวาระเป็นเรื่องเป็นราวแล้วแต่แกไม่ยอมตะโกนเสียงดังสวน ขึ้นมา ผมไม่นั่ง!ผมไม่ฟัง!ผมก็บอกว่าฟังผมก่อนเพราะที่คุณประท้วงทุกคนก็ประท้วง กันหมดแล้ว นั่งลงเถอะ เตือนครั้งที่3 แล้วยังตะโกนมา ผมหยิบค้อนเตรียมจะทุบแล้ว (เน้นเสียง) ถามไป คุณจะนั่งไม่นั่ง!เขาก็บอก ผมนั่งแล้ว (หัวเราะ)"
         
"ผมไม่อยากจะใช้หรอก เพราะถ้าทุบค้อนมันเหมือนกับการที่ประธานยืนขึ้น เป็นขั้นสุดท้ายที่บอกว่าคุณต้องหยุดแล้วนั่งลง ไม่เช่นนั้นก็ต้องหิ้วออกจากที่ประชุม แต่สถานการณ์บีบให้ต้องทำทั้งที่เป็นพรรคเดียวกัน ถามว่าเกลียดเขาไหม...ไม่ สนิทกันไหม...สนิทเขาเป็นรุ่นน้องผม เคยเรียนแม่โจ้มาด้วยกัน แต่วันนั้นผมต้องหยิบค้อน เพราะเขาทำไม่ถูก"
         
ไม่ใช่แค่ "พายัพ" แต่ "สุนัย จุลพงศธร" สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยรู้ซึ้งถึงรสชาติไม้เรียวของท่านรองฯ ผู้นี้ดี โดยเฉพาะในวันสุดท้ายของศึกซักฟอก
          

"ท่านสุนัยเองประท้วงหลายครั้งเหลือเกิน ขอร้องแล้วว่ามีเวลาเหลือเพียง 1 ชั่วโมง แต่เหลือรัฐมนตรีตั้ง 8 ท่าน ยังไม่ได้ชี้แจง ผมก็บอก ดร.สุนัย ขอเถอะเตือนหลายครั้งแล้วท่านยังไม่ยอม ผมก็เรียกตำรวจรัฐสภาเลย วิ่งกรูเข้ามา 10 กว่านายเต็มห้อง ท่านก็รีบนั่งลง ถ้าไม่นั่งผมให้หิ้วออกแล้ว"

"ผมบอกแล้วว่าผมยึดความยุติธรรมนะ อย่าโกรธผม เพราะพรรคเลือกผมมาให้ใช้ความยุติธรรม ผมก็ต้องทำ สมาชิกพรรคจะมาโกรธผมไม่ได้ ถ้าผมลำเอียงแล้วคุณโกรธผมมันถึงจะถูก เพราะประชาชนดูอยู่ ผมทำให้พรรคเสียหาย แต่ในเมื่อผมยุติธรรมแล้ว คุณจะมาโกรธผมไม่ได้"
         
"เพราะฉะนั้น หลักการผมคือไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้นไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยก็มีบาง ท่านยังงอนๆผมอยู่ ไม่มองหน้าผม แต่เชื่อเถอะว่าผมทำความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ผมสังกัดพรรคเพื่อไทยผมรักพรรคผม แต่ผมต้องรักชาติมากกว่า วันนี้ถ้าประธานทำหน้าที่ไม่ดี เอนเอียง ไม่เป็นกลาง ปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต คือคนจะไม่ยึดมั่นในระบบรัฐสภาอีกเลย"

 

บัลลังก์ไม่คาดฝัน

ครองที่นั่ง สส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ถึง 4 สมัย ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยา เสพติด สภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังติดตามชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตนักศึกษา "วิสุทธิ์ ไชยณรุณ" ฉายภาพรัฐสภาไทยอดีต-ปัจจุบัน ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
         
"สมัยก่อนเป็นวัยรุ่น ผมชอบดูการประชุมสภา เพราะเห็นลีลานักการเมืองแล้วสนุกมากแล้วเขาก็ไม่ด่ากันรุนแรงขนาดนี้ อาจจะใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือชั้นเชิงทางกฎหมายโจมตีกัน แต่ยังเป็นพี่เป็นน้องกัน ท่านไตรรงค์ สุวรรณคีรี ท่านชวน หลีกภัย หรือป๋าเหนาะ (เสนาะ เทียนทอง)ในสภาเขาก็อภิปรายใส่กันตามที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่กล่าวหา รัฐบาลก็มีหน้าที่ตอบ แต่ออกมาหน้าห้องแล้วพวกท่านยังหัวเราะเอิ๊กอ๊าก จับมือกัน ตบมือตบหลัง นั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกันหัวเราะ ทักทายกันได้"
         
"ผิด กับสมัยนี้ที่เอาเป็นเอาตาย มีความอาฆาตแค้น ชิงชังต่อกัน สส.รุ่นหลังๆ2-3 สมัยผ่านมานี่ เดินผ่านกันแทบไม่มองหน้า ไม่มองผู้อาวุโส ทั้งที่จริงเมื่อเลือกตั้งเสร็จก็ควรเคารพฝ่ายที่ชนะ ให้เขาทำหน้าที่บริหารไป ฝ่ายค้านก็ตรวจสอบไป แต่ไม่ต้องถึงกับขนาดเอาเป็นเอาตาย ตอนนี้ดูหน้าบางคนเหมือนจะฆ่ากันแล้ว"
         
พฤติกรรม ผู้แทนข้างในสะท้อนประชาชนข้างนอก? วิสุทธิ์ ตอบชัด ไม่ใช่แค่ข้างในสะท้อนข้างนอก แต่ความเคียดแค้นเกลียดชังที่เกิดกับประชาชนข้างนอกลุกลามออกมาจาก "ผู้แทนข้างใน" เป็นต้นเหตุ
         
"อย่าปฏิเสธว่ากลุ่มก๊วนต่างๆ นอกสภามันไม่เกี่ยวกับผู้แทนในสภา พูดตรงๆ ม็อบอะไรก็แล้วแต่มันออกจากสภาทั้งหมด ทุกสีทุกพรรคมันเกี่ยวกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าบ้านเมืองแตกแยก ผมถามเบื้องหลังจริงๆ พวกนักการเมืองคุณมีส่วนรับผิดชอบไหม หากเกิดสงครามการเมือง มีคนฆ่ากันตายสักล้านคน ใครแพ้ ชนะ ผมไม่รู้ แต่ใครจะรับผิดชอบเรื่องพวกนี้คุณสาบานไหมว่าคุณไม่ได้เชียร์สีใดสีหนึ่ง แล้วยุคนไปทำ ดังนั้นอย่าโกหกว่าผมไม่เกี่ยวกับม็อบนี้สีนั้น คุณต้องพูดความจริงก่อนแล้วจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้"
         
"สำคัญคือประชาชนต้องอย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู" วิสุทธิ์ ฝากหลักคิดถึง "คนข้างนอก" พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
         
"อย่าง ผมเป็นเสื้อแดง แต่ประธานเสื้อเหลืองพะเยาผมยังไปรับเขามานั่งกินเหล้า กินกาแฟด้วยกัน ฉะนั้นมันเป็นเรื่องต่างทางความคิด แต่อย่าเอามาเป็นความแค้น คนที่คิดไม่เหมือนกันเป็นสีสันของประชาธิปไตย เมื่อถึงช่วงเลือกตั้งเสื้อเหลืองหรือเสื้อหลากสีอาจไปช่วยประชาธิปัตย์หา เสียงเต็มที่ แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ศัตรูผม เราไม่ใช่ศัตรูกัน ต่างอุดมการณ์ ต่างความคิด แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ"
         
วิสุทธิ์ ยังชี้ว่าที่จริงแล้วในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ "ตัวแทนของประชาชนยิ่งต้องเป็นตัวอย่างที่ดีที่ไม่ทำให้เกิดความแตกแยกใน บ้านเมือง" แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สภาพ"ผู้แทน" ขณะนี้แตกต่างและห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องสังเกตอะไรมาก ดูได้จากการประท้วงพร่ำเพรื่อเน้นโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยอารมณ์มากกว่าข้อเท็จ จริง
         
"คุณประท้วงได้ แต่ต้องมีเหตุมีผลพอที่จะประท้วงเขา หลายครั้งคุณไม่พอใจฝั่งโน้นเลยพรวดขึ้นมาก่อนเลย ผมเห็นหน้าตาคุณก็รู้ถามไปบางทียังนึกไม่ออกเลยว่าประท้วงข้อไหน เอะอะก็ข้อ 8 ข้อ 61 ข้อ 63 ไว้ก่อนพอประท้วงเสร็จก็เสียดสีเขาต่อ พอคุณไปใส่เขา เขาก็ใส่คุณกลับ แล้วมันจะจบอย่างไรผมเตือนหลายครั้งแล้วว่าประชาชนฟังวิทยุดูถ่ายทอดสดอยู่ นะ ถ้า สส.ทำตัวดีประชาชนจะชื่นชมและศรัทธาในตัวคุณแต่ถ้าไม่มีเหตุมีผล ประชาชนเขาจะเกลียดโดยที่คุณไม่รู้ตัว

         
...วันแรก ที่ผู้แทนทุกคนเข้ามา สิ่งที่สภาให้คือข้อบังคับการประชุม ทุกคนรู้หลักการทั้งหมดว่าข้อไหนผิด ข้อไหนถูก รู้อยู่แก่ใจดี แต่ทุกคนก็พยายามทำเรื่องที่ตัวเองผิดเป็นถูกเข้าข้างตัวเองให้มากที่สุด ใช้คารมหลบเลี่ยงข้อบังคับแต่ผมบอกเลยว่าคนที่ตัดสินคุณไม่ใช่ผม แต่เป็นสังคม เป็นประชาชนที่ดูทีวีแล้วเขาตัดสินคุณไปแล้ว เพราะฉะนั้นคุณอาจใช้เล่ห์เหลี่ยมจะชนะเกมในสภา แต่คุณอาจจะแพ้ฟาวล์ชาวบ้านที่เขาดูรู้เห็นอยู่ว่าคุณทำอะไร และต่อไปเขาอาจจะไม่เลือกคุณเข้าสภา"
         
กลยุทธ์การลุกขึ้น ประท้วงนั้น "วิสุทธิ์" ขยายความต่อว่ามีหลายสาเหตุ บางคนอาศัยจังหวะต้องการตัดเกมฝ่ายตรงข้าม บางคนอยากออกทีวีใช้ช่องทางนี้หาเสียงไปในตัว ส่วนบางคนจะลุกขึ้นเพื่อต้องการโชว์ผลงานให้ผู้มีบารมีในพรรคเห็นหรือไม่ ตรงนี้เจ้าตัวขอไม่แสดงความคิดเห็น เพียงแต่ยืนยันว่าการจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้หรือไม่นั้น "ผู้ใหญ่" ไม่ได้ประเมินจากการประท้วงบ่อยแน่นอน
         
"ถ้าผู้ใหญ่มองตรงประท้วง ผมก็ไม่ได้มานั่งตรงนี้ เพราะผมไม่เคยประท้วงสักครั้ง แต่ขยันมานั่งประชุมเท่านั้นเอง"

ก่อนขยายความถึงสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยเลือกให้มาเป็นรองประธานสภา
         
"วัน ที่พรรคประชุมเลือกประธาน รองประธาน เขาพยายามติดต่อผมหลายครั้งให้นั่งรองฯ แต่วันนั้นผมเป็นไข้หวัดก็ไม่ได้รับโทรศัพท์ถ้ารับก็คงปฏิเสธให้คนอื่นเป็น ไปแล้วเพราะผมไม่ถนัด แต่ท่านพงษ์ศักดิ์ (รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน) ดันไปรับแทนกับที่ประชุมพรรคให้ผมเป็น"
         
"พอตื่นมาประมาณ ตี1 โทรกลับไป ท่านบอกว่า 'เวลาอย่างนี้ทำไมไม่กอดโทรศัพท์ไว้ เขาจะให้มึงเป็นรองประธานสภา' ผมรีบตอบกลับไปว่า ไม่เอานะท่าน แกเลยบอกว่า มึงเป็นคนอย่างนี้เหรอ กูรับไว้แล้ว บอกว่ามึงรับ แล้วจะให้ไปบอกกรรมการบริหารพรรคยังไง หรือจะให้บอกว่าเมื่อกี้กูโกหก(หัวเราะ) ผมเลยบอกว่า ครับ รับเป็นก็ได้ครับ หลังจากนั้นไม่หลับเลยจนถึงสว่าง บอกกับตัวเองว่างานเข้าแล้ว (หัวเราะ)" วิสุทธิ์ เล่าเส้นทางพลิกผันก่อนขึ้นสู่บัลลังก์จนเป็นรองประธานจนถึงทุกวันนี้
         
สุดวิกฤต...อั้นแล้วอั้นอีก

ตั้งท่ารับมือ สส.ประท้วง อภิปรายสาดน้ำลายไปมาว่าโหดหินแล้ว แต่ผู้ควบคุมการประชุมยังต้องคอยรับศึกใหญ่กว่านั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเบื้องหลังบัลลังก์อันทรงเกียรติ
         
"วิสุทธิ์" แจงการสลับสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ "ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ" ของทั้ง 3 คนว่า ตามปกติช่วงแรกจะเป็นหน้าที่ของสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ตามด้วย เจริญ จรรย์โกมล รองประธานคนที่ 1 และต่อด้วยเจ้าตัวขึ้นเป็นลำดับที่ 3 แต่หากประธานและรองฯ 1 มีภาระงานอื่นต้องรับผิดชอบ อาจมีการสลับลำดับได้ตามสถานการณ์ ทั้งนี้แต่ละคนจะใช้เวลาควบคุมการประชุมประมาณ 2 ชม.ครึ่ง ถึง 3 ชม.เป็นอย่างต่ำ      

"ถือเป็นกรรมอย่างหนึ่งเลยนะที่ประธานในที่ประชุมต้องฝึกอดทนอั้นปัสสาวะ"ท่าน รองฯ เผยเบื้องหลังการปฏิบัติหน้าที่บนบัลลังก์อันหฤโหดพลางว่า"ก่อนขึ้นบัลลังก์ 10 นาที ต้องไปเข้าห้องน้ำทำธุระให้เสร็จ และห้ามดื่มน้ำมากส่วนน้ำที่ตั้งบนโต๊ะระหว่างทำหน้าที่ ผมไม่กล้ากินหมด เราหิวน้ำแต่กินไม่ได้ ต้องค่อยจิบๆ เอาเพราะต้องอยู่ข้างบนอีก 3 ชม. หากกินเหมือนคนอื่นรวดเดียวหมดจบแน่"
         
"บางครั้งประธานอีก ท่านยังไม่ขึ้นมาเปลี่ยน ต้องโดนลากไปเป็น 3 ชั่วโมงครึ่งส่วนเพื่อนสส.ข้างล่างก็เกเร บางทีก็โกรธเหมือนกันนะ (หัวเราะ) มีอารมณ์บ้างเป็นธรรมดาของมนุษย์ อย่างเคยมีอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งถูกฝ่ายค้านอภิปราย ท่านลงไปไม่ได้ไม่ไหว ก็ลุกขึ้นบอกขอโทษครับ ผมขออนุญาตไปปัสสาวะ คนก็ฮากันทั้งประเทศ(หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นประธานสภาจะลุกไม่ได้ไม่เช่นนั้นจะถือว่าปิดการประชุม เลขาฯ กดกริ๊งปิดทันที แต่ประธานจะใช้การสั่งพักประชุม 10 นาที และทุกคนในห้องประชุมทั้งหมดต้องพักด้วย ใช้วิธีนี้นี่เพราะอั้นสุดอั้นแล้วนะ"
         
"นับเป็นความทรมานอย่างหนึ่งจริงๆ"รองประธานมาดเข้มกล่าวทิ้งท้าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สัมภาษณ์พิเศษ รักชาติ พรรค

view