สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทางสองแพร่ง ธุรกิจ-ประชานิยม ท้าทายสอท.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ความขัดแย้งในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หากมองผิวเผิน จะเห็นว่าเป็นความขัดแย้งภายในองค์กรเท่านั้น...
แต่หากมองลึกลงไป อาจมีสาเหตุมาจากการเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองในยุค "ประชานิยม" ที่คนจำนวนมากเรียกร้องผลประโยชน์ผ่านนักการเมือง

ส.อ.ท. พัฒนาขึ้นมาจากสมาคมอุตสาหกรรมไทยที่ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ต่อมาในสมัยนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทยได้ผลักดันกับรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ยกร่างกฎหมายเพื่อยกระดับองค์กรให้เหมือนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่มีกฎหมายรับรอง รัฐบาลยุคนั้นเห็นการทำงานร่วมกับเอกชนที่เกิดผลหลายอย่างจึงได้ผลักดัน พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2530 ออกมา

จากบทบาทของส.อ.ท. ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนมากขึ้น ทำให้ภาคเอกชนที่เข้าเป็นสมาชิกมีความหลากหลายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และปัญหาที่ตามคือการประสานประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมด

จากบทบาทที่มากขึ้นนี้เอง การแข่งขันในตำแหน่งประธานส.อ.ท.จึงดุเดือดขึ้นในช่วงปีหลังๆ

ในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่สมาชิกส.อ.ท. ต้องเผชิญหน้ากันและผู้พ่ายแพ้ต้องเดินออกจากองค์กรไป นับตั้งแต่ครั้งที่นายสันติ วิลาสศักดานนท์ จากเครือสหพัฒน์และนายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ จากบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม ที่แข่งขันกันเพื่อเป็นประธาน ส.อ.ท. เมื่อปี 2549 จนถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 ที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล แข่งขันกับนายสุรพร สิมะกุลธร จากกลุ่มกุลธรเคอร์บี้ ที่จับมือกับนายอดิศักดิ์ โรหิตศุน จากฮอนด้า

จนถึงครั้งล่าสุดเกิดความขัดแย้งระหว่างนายพยุงศักดิ์ กับกลุ่มสมาชิกต่างจังหวัดที่นำโดยนายสมมาต ขุนเศรษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.ในปัจจุบันที่มาจากเครือสหพัฒน์

แต่ความขัดแย้งไม่ใช่จากกลุ่มหรือพวกพ้องภายใน แต่มาจากพลังภายนอก นั่นคือ นโยบายประชานิยมของรัฐบาล

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากการที่สมาชิกในต่างจังหวัดเห็นว่านายพยุงศักดิ์ มีบทบาทในการผลักดันให้รัฐบาลชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จนทำให้สมาชิกบางส่วนเห็นว่านายพยุงศักดิ์เพิกเฉยต่อเรื่องนี้ โดยสมาชิก ส.อ.ท. เคลื่อนไหวให้รัฐบาลชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำชัดเจนตั้งแต่เดือน เม.ย.2555 แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากนายพยุงศักดิ์

ปัจจัยเหล่านี้ถูกใช้เป็นเหตุผลหลักที่ประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2555 มีมติปลดนายพยุงศักดิ์และคณะกรรมการบริหาร ส่วนปัจจัยอื่นที่มีผลต่อความขัดแย้งก็มีเรื่องการทุจริตในองค์กรและกรณีนายพยุงศักดิ์สนับสนุนเครือเอสซีจีให้มีบทบาทมากขึ้นทั้งที่เคยประกาศไม่สนับสนุนนายพยุงศักดิ์มาก่อน

การประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการโต้แย้งทางกฎหมายขึ้นมาเมื่อทีมกฎหมายทั้ง 2 ฝ่าย ตีความเข้าข้างตัวเอง โดยนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธาน ส.อ.ท. และนักกฎหมายจากเครือเอสซีจีตีความว่าประธาน ส.อ.ท. มีอำนาจเลื่อนประชุมคณะกรรมการประจำเดือนทำให้การประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2555 ไม่ถือเป็นการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. โดยข้อบังคับ ส.อ.ท.กำหนดให้ประชุมคณะกรรมการเดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีปัญหาก็เลื่อนได้ยกเว้นว่าจะเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการประชุม เช่น จากการประชุมทุกเดือนเปลี่ยนเป็นทุก 2 เดือน จะต้องให้คณะกรรมการ ส.อ.ท.เห็นชอบ

ทีมกฎหมายของนายพยุงศักดิ์เห็นว่า พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ใช่กฎหมายเอกชนและควรตีความตามกฎหมายมหาชน และถ้ากฎหมายไม่ได้บัญญัติอะไรไว้ถือเป็นเรื่องที่ดำเนินการไม่ได้เพราะต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมาย โดยกฎหมายไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการปลดประธาน ส.อ.ท. จึงไม่สามารถปลดนายพยุงศักดิ์ได้เว้นแต่การปลดจากความเป็นกรรมการ ส.อ.ท.ตามมาตรา 18(3) กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่มาประชุม และมาตรา 18(7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหากเห็นว่าเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ แต่รัฐมนตรีต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนจึงจะพ้นจากตำแหน่งได้

ในขณะที่นายสมมาตใช้ทีมกฎหมายที่เคยชี้แจงศาลปกครองเมื่อครั้งกลุ่มนายสุรพรร้องว่านายสันติเตรียมการเลือกตั้ง ส.อ.ท.เมื่อปี 2553 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยครั้งนี้ตีความว่าการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2555 ถูกต้องตามข้อบังคับ ส.อ.ท.ฉบับที่ 3 ว่าด้วยการประชุมและดำเนินการของคณะกรรมการและการประชุมใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2531 และเห็นว่านายพยุงศักดิ์เข้าใจผิดที่คิดว่าอำนาจการปลดประธานเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ แต่ที่ประชุมใหญ่มีสิทธิเฉพาะการเลือกตั้งคณะกรรมการ ส.อ.ท.และอำนาจการปลดกรรมการ และเมื่อที่ประชุมใหญ่เลือกคณะกรรมการขึ้นมาแล้วคณะกรรมการนี้จะเป็นผู้เลือกประธานและคณะกรรมการบริหาร จึงเห็นว่าที่ประชุมคณะกรรมการมีสิทธิ์ลงมติปลดคณะกรรมการบริหารได้ซึ่งรวมถึงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ด้วย

ข้อบังคับ ส.อ.ท.ฉบับที่ 3 ข้อ 7 ระบุว่า “การประชุมคณะกรรมการให้มีเดือนละครั้งเว้นแต่คณะกรรมการเห็นสมควร” และข้อ 8 วรรคสองระบุว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือตามเสียงข้างมาก” ซึ่งจุดนี้ทำให้กลุ่มนายสมมาตตีความว่าอำนาจเลื่อนการประชุมอยู่ที่กรรมการไม่ใช่ประธาน ส.อ.ท.จึงมั่นใจว่าการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมาเป็นที่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลปลดคณะกรรมการบริหารและแต่งตั้งนายสันติเป็นประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ รวมทั้งให้อำนาจนายสันติในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเพื่อมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งถัดไป

หลังการประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ทำให้ทั้งนายพยุงศักดิ์และนายสมมาตเข้าพบนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อชี้แจง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานขึ้นมาและให้ทั้ง 2 กลุ่ม ส่งเอกสารมาให้ทีมกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมดูว่าการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.ถูกต้องตาม พ.ร.บ.และข้อบังคับ ส.อ.ท.หรือไม่ และจะข้อมูล 2 ฝ่ายครอบคลุมหนังสือเชิญประชุม วาระการประชุม หนังสือการเลื่อนประชุมและรายงานการประชุม โดยถ้าฝ่ายใดเสียประโยชน์จากการตีความของกระทรวงอุตสาหกรรมอาจนำไปสู่การร้องศาลปกครองให้พิจารณาอีกครั้ง และถ้านายพยุงศักดิ์ได้ประโยชน์จากการตีความครั้งนี้จะทำให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานต่อไป แต่ยังมีการประชุมใหญ่ ส.อ.ท.ในเดือน มี.ค.2556 รออยู่

หากกลุ่มนายสมมาตคุมเสียงสมาชิกเกิน 2 ใน 3 ได้ก็อาจลงมติปลดนายพยุงศักดิ์ให้พ้นจากความเป็นกรรมการได้

แม้รัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายคนในรัฐบาลไม่อยากเห็นความขัดแย้งภายในส.อ.ท.และพยายามไกล่เกลี่ย เนื่องจากรัฐบาลยังต้องพึ่งพาภาคเอกชนอยู่มากในหลายด้าน แต่ความขัดแย้งในครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างรุนแรงกว่าครั้งก่อน และไม่ว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการของกระทรวงอุตสาหกรรมจะออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นผลดีต่อส.อ.ท.ทั้งสิ้น

หากไม่สามารถตกลงกันได้ ส.อ.ท.ก็ถึงคราวแตกออกเป็น "เสี่ยง" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส.อ.ท.มีกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายและเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ที่การสนับสนุนโยบายหนึ่งของรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบกับสมาชิกรายอื่น ซึ่งอีกไม่นานก็จะรู้ว่าอนาคตของส.อ.ท.จะเป็นอย่างไร

ส.อ.ท.กำลังเผชิญกับการท้าทายใหม่ ไม่เพียงแค่สมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นเท่าไร แต่เป็นการเรียกร้องมากขึ้นจากฝ่ายการเมืองในยุค"ประชานิยม" เป็นการท้าทายจาก"คะแนนเสียง"ที่นักการเมืองต้องดูแล และคะแนนเสียงเหล่านี้กดดันผ่านรัฐบาลเพื่อขอแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่พวกเขาไม่เคยมีปากมีเสียงมาก่อนเลย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทางสองแพร่ง ธุรกิจ ประชานิยม ท้าทายสอท.

view