สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าด้วยการเสียภาษี : คำถามถึงท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ต่อกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ

ว่าด้วยการเสียภาษี : คำถามถึงท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ต่อกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรครับ ผมมีข้อข้องใจบางประการเกี่ยวกับความมีมาตรฐานและความจริงใจและความตระหนักสำนึกรู้ของตัวท่าน
กับนโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนเสียภาษีของท่าน ผมขออนุญาตนำเรียนโดยการอ้างถึง ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346219445&grpid=03&catid=&subcatid=

ที่มีใจความว่า “วันนี้ (29 ส.ค. 2555) ที่กรมสรรพากร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวแสดงความยินดีในพิธีมอบรางวัล "รัษฏากรพิพัฒน์" ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ต่อการเสียภาษีแก่ประเทศ เป็นแบบอย่างที่ดี และส่งเสริมให้ผู้เสียภาษีเกิดความภาคภูมิใจ โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 120 ราย แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 11 ราย และนิติบุคคล 109 ราย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมาย และเชิดชูเกียรติผู้เสียภาษี ซึ่งทุกคนถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดเงินภาษีที่ได้มากขึ้นในแต่ละปีแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องนำเม็ดเงินจำนวนมากมาใช้ในการลงทุนเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ยืนยันรัฐบาลจะใช้เม็ดเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีทุกบาททุกสตางค์นี้ไปลงทุนให้คุ้มค่า โปร่งใส และเป็นธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศในระยะยาว”

คำถามที่เกิดขึ้นกับผมก็คือ หากท่านมีความจริงใจและตระหนักรู้สำนึกในคำพูดและการกระทำของท่านในพิธีมอบรางวัล ‘"ษฎากรพิพัฒน์" ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ต่อการเสียภาษีแก่ประเทศ เป็นแบบอย่างที่ดี และส่งเสริมให้ผู้เสียภาษีเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมาย และเชิดชูเกียรติผู้เสียภาษี ซึ่งทุกคนถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดเงินภาษีที่ได้มากขึ้นในแต่ละปีแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องนำเม็ดเงินจำนวนมากมาใช้ในการลงทุนเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ยืนยันรัฐบาลจะใช้เม็ดเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีทุกบาททุกสตางค์นี้ไปลงทุนให้คุ้มค่า โปร่งใส และเป็นธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศในระยะยาว” (จากข้างต้น ผมขออนุญาตนำเรียนซ้ำตรงนี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ)

ท่านคิดอย่างไรต่อคำพูดและการกระทำของท่าน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) ที่ได้กล่าวถึงการเสียภาษีไว้สองครั้ง ดังนี้คือ

ครั้งแรก ท่านอดีตนายฯ ทักษิณได้กล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า “.....ประชาชนควรจะมีความรักในชาติ เมื่อวานผมได้ดูข่าวจากซีเอ็นเอ็น ทราบว่าขณะนี้ สภาของสหรัฐฯกำลังแก้ไขกฎหมายใหม่ เพราะบริษัทต่างๆ แม้มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ แต่ไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆ เช่น ในปานามาหรือบริติช เวอร์จิ้น ไอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่รักชาติ (Non-Patriot) เพราะถือว่าเป็นการเลี่ยงภาษี ซึ่งเห็นได้ว่าแม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสูง ยังมีการดำเนินการเช่นนี้ ก็อยากฝากให้คนไทยและบริษัทต่างๆ มีความรักชาติด้วย”

หลังจากมีกระแสต่อต้านการซื้อขายหุ้นโดยเลี่ยงการเสียภาษีของครอบครัวของท่านทักษิณ (ซึ่งไม่แน่ใจว่า คำว่าครอบครัวที่ว่านี้ หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อตัวท่านนายกฯยิ่งลักษณ์หรือไม่ ?) ที่ถูกเปิดโปงขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 และเรียกร้องให้ท่านทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันนำมาซึ่งคำพูดอีกครั้งหนึ่งของท่านทักษิณต่อการเสียภาษี นั่นคือ

ครั้งที่สอง ท่านทักษิณแถลงผ่านสื่อสาธารณะเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ในรายการวิทยุ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน” ว่า “ผมขอเรียนว่าผมได้ตั้งบริษัทนี้ แอมเพิลริช ที่ตั้งขึ้นมานี้เพื่อหวังทำธุรกรรมด้านต่างประเทศ......การจดทะเบียนบริษัท BVI (บริติช เวอร์จิ้น ไอร์แลนด์) ทั้งหลายนี้ก็ทำกันทั่วไป ธนาคารในประเทศไทยก็ทำทั้งนั้น ทำเพื่อทำธุรกรรมในต่างประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อทำธุรกรรมในประเทศ ถ้าอะไรที่เป็นธุรกรรมในประเทศเขาก็จะใช้บริษัทในประเทศ แต่ถ้าเป็นธุรกรรมในต่างประเทศ เขาถึงจะใช้บริษัทที่ขอจดทะเบียนในต่างประเทศ เพื่อทำธุรกรรมในต่างประเทศ นั่นคือหลักของการทำธุรกิจทั่วไป...”

ผมอนุมานได้ว่า ในการพูดครั้งแรกของท่านทักษิณ ท่านพูดในฐานะนายกรัฐมนตรี ท่านพูดเพื่อขอให้นักธุรกิจอย่าเลี่ยงภาษี แม้ว่าจะสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะในฐานะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอยากจะให้ทุกคนรักชาติ แต่ในการพูดครั้งที่สอง ดูเหมือนว่า ท่านจะพูดในฐานะนักธุรกิจ เพราะท่านอ้างว่า สิ่งที่ท่านทำไป (เลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย) เป็นสิ่งที่นักธุรกิจทั่วไปไม่ว่าที่ไหนเขาก็ทำกัน เพราะมันคือ หลักของการทำธุรกิจทั่วไป

ท่านทราบหรือไหมครับว่า สาเหตุที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของวิกฤตการเมืองอันรุนแรงและยาวนานในบ้านเมืองของเราเกิดจากปัญหาข้อถกเถียงเกี่ยวกับความถูกผิด-ชอบธรรมไม่ชอบธรรมในกรณีการหาช่องทางอันสลับซับซ้อนคดเคี้ยวเพื่อที่จะซื้อขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีของครอบครัวของท่านทักษิณ ? ท่านทักษิณผู้ซึ่งเป็นพี่ชายของท่าน และเป็นผู้ที่ออกความคิดให้กับการบริหารบ้านเมืองของท่านและพรรคที่ท่านสังกัด ("ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ")

ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ครับ ท่านคิดอย่างไรครับ ? ตกลงแล้ว รางวัล "รัษฎากรพิพัฒน์" มันมีความหมายอะไรจริงๆ หรือเปล่าครับ ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ว่าด้วยการเสียภาษี คำถาม ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ

view