สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปมฆ่าครูใต้ รัฐบาลสะเทือน

จาก โพสต์ทูเดย์

การประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียน 921 แห่ง ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา บางส่วน

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

การประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียน 921 แห่ง ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา บางส่วน เบื้องต้นระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค. ถือเป็นสัญญาณอันตรายของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่รัฐบาลไม่อาจเข้าไปคลี่คลายเยียวยา

เมื่อ “เหตุผล” การปิดโรงเรียนครั้งนี้เป็นไปเพื่อรอดูแนวทางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ชัดเจนจากรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่ามาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่ปลอดภัย และหากจะให้ทุกโรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติได้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด และไม่มีจุดอ่อน

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ และกำลังพุ่งเป้ามายังกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของครูในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ย้อนไปดูเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดกับครูในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. “นันทนา แก้วจันทร์” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายซุ่มยิงระหว่างเดินทางออกจากโรงเรียนไปไม่ถึง 100 เมตร เพื่อไปร่วมงานศพ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในขณะที่คนร้ายหลบหนีไปได้

ต่อมาวันที่ 3 ธ.ค. “ฉัตรสุดา นิลสุวรรณ” ครูโรงเรียนบ้านตาโง๊ะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกประกบยิงเสียชีวิตขณะเดินทางกลับบ้านจากโรงเรียน หลังเสร็จจากการเตรียมรับการประเมินของคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

ถัดมาวันที่ 4 ธ.ค. “ธีรพล ชูส่องแสง” ครูโรงเรียนบ้านบอเกาะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ถูกคนร้ายยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเดินทางกลับบ้านพัก และนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก จ.นราธิวาส

ยิ่งกว่านั้น ในวันที่ 11 ธ.ค. คนร้าย 5 คน อุกอาจบุกเข้าไปก่อเหตุในโรงเรียนบ้านบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานี ช่วงกลางวัน ระหว่างที่คณะครูกำลังรับประทานอาหาร จนทำให้ “ตติยารัตน์ ช่วยแก้ว” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาโง และ “สมศักดิ์ ขวัญมา” ครูประจำชั้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ครูพุทธหลายคนขอย้ายออกจากพื้นที่ และเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเร่งด่วน

ในขณะที่ข้อเรียกร้องจากตัวแทนสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเข้าพบ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมายังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการผลักดันนำไปสู่การปฏิบัติ

ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้อีก 2 แสนบาท/คน/ปี ขอให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เกิน 5 ปี ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) รวมถึงให้ครูกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด

รวมทั้งเงินเยียวยาแก่ครอบครัวและทายาทผู้เสียชีวิตรายละ 4 ล้านบาท ซึ่งเคยได้รับการอนุมัติในหลักการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน หรือเพิ่มค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากเดิม 2,500 บาท เป็น 3,500 บาท/เดือน

มีเพียงมติ ครม.นัดที่ผ่านมา ซึ่งอนุมัติงบประมาณ 66 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดซื้อรถหุ้มเกราะ 33 คัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ทั้ง “พงศ์เทพ” พร้อม “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รมช.ศึกษาธิการ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามรับฟังความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรในพื้นที่ที่ลดน้อยถอยลงไปทุกที

ประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตั้งใจจะยกระดับการก่อเหตุในช่วงที่จะเข้าสู่ปีที่ 10 ของสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้

สาเหตุที่พุ่งเป้าก่อเหตุมายัง “ครู” นั้น ประการแรก เพราะความอ่อนแอในตัวครู ต่างจากเป้าหมายเดิมที่จ้องก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุกับครูแล้วจะส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจ สร้างความปั่นป่วนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะพลังของสมาพันธ์ครูในพื้นที่ที่ออกมาแสดงออกต่อความเคลื่อนไหวแต่ละครั้งส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการประกาศปิดการเรียนชั่วคราว

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ไม่อาจนิ่งนอนใจ จนถึงขนาดพาคณะลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ ท่ามกลางความคาดหวังจะเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม มากกว่าการลงพื้นที่แค่พอเป็นพิธี

เพราะที่ผ่านมาหลังการบริหารของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีแนวนโยบายที่ชัดเจน หรือแสดงออกให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ที่หวังจะให้เป็นหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการแก้ปัญหาในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในทางปฏิบัติ

เจะอามิง โตะตาหยง สส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า ทิศทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เวลานี้ ยังยึดติดอยู่ที่รูปแบบแก้ปัญหาความรุนแรงโดยใช้กำลัง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดึงความร่วมมือจากมวลชน โดยยังไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบจากฝ่ายระดับนโยบาย มีเพียงแค่การไล่แก้ปัญหาเฉพาะหน้ารายวัน

นอกจากนี้ การลงพื้นที่ของนายกฯ ถือเป็นเรื่องดีในการสร้างขวัญและกำลังใจ แต่ยังเป็นแค่การพบปะประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ที่คงจะเป็นเพียงแค่การรับฟังสรุป ไม่ได้ลงไปรับฟังข้อมูลข้อเสนอของคนในพื้นที่จริงๆ และเป็นประธานเปิดสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำ อ.ธารโต จ.ยะลา ยิ่งหากยังไม่เห็นความคืบหน้าชัดเจนในการแก้ปัญหา ยิ่งยากจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ยิ่งในช่วงเวลาใกล้ครบ 10 ปี เหตุการณ์ปล้นปืน ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประเมินว่า เหตุการณ์จะยังรุนแรงต่อเนื่อง และเริ่มเปลี่ยนจากเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ มาเป็นตัวบุคคล หรือครู รวมทั้งอาจจะขยับเป้าหมายจากครู เป็นพระ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังต่อไป

ช่วงเวลานี้จึงเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่จะต้องเร่งพิสูจน์ฝีมือ คลี่คลายปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาที่มีรากเหง้าหมักหมม จนซับซ้อนยากจะแก้ไข ก่อนที่ปัญหานี้จะย้อนกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือ ต่อทั้งนายกฯ และรัฐบาล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปมฆ่าครูใต้ รัฐบาลสะเทือน

view