สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความเปลี่ยนแปลงของสื่อไทย : จากแพลทฟอร์มถึงอุดมการณ์

ความเปลี่ยนแปลงของสื่อไทย : จากแพลทฟอร์มถึงอุดมการณ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขณะที่ฟากฝั่งผู้ประกอบการสื่อรายใหญ่ๆ กับกสทช.กำลังวาดฝันถึงทีวีดิจิทัล ถึงการมีทีวีช่องใหม่อีก 48 ช่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อีกฟากฝั่งหนึ่งของวงการสื่อสารมวลชนก็เกิดปรากฏการณ์ “ถึงพี่เต้งที่รัก” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนการโหยหาอดีตอันทระนงของวงการนักข่าวผ่านการโต้ตอบออนไลน์ของนักข่าวเก่ากลุ่มหนึ่ง พร้อมๆ กับการเกิดกระแสลงทัณฑ์ทางสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่อหนังสือพิมพ์แนวคุณภาพฉบับหนึ่งในข้อหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สืบเนื่องจากการตีพิมพ์อาศิรวาทที่มีเนื้อหากำกวม

การทำความเข้าใจสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของไทยในยุคนี้นับว่าเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งนัก หลายคนเลือกที่จะโฟกัสไปที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของการแพร่กระจายและรับสัญญาณที่ส่งเนื้อหา เช่น ทีวีภาคพื้นดิน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม เป็นต้น หรือเน้นไปที่รูปแบบของการเปิดรับเนื้อหา เช่น การเปิดรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ การเป็นสมาชิก กับการไม่ได้เป็นสมาชิกแต่เป็นเจ้าของจานดาวเทียมหรือกล่องแปลงสัญญาณ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองส่วนดังกล่าวมักจะเรียกรวมๆ กันว่าแพลทฟอร์ม

ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัยสื่อ AGB Nielsen ที่มักอ้างกันถึงอย่างกว้างขวาง ระบุว่า ในปีที่แล้ว การเปิดรับโทรทัศน์ผ่านเสาอากาศมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 50 ของการเปิดรับโทรทัศน์ทั้งหมดในประเทศไทย ขณะที่การเปิดรับผ่านจานดาวเทียมมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 31 แต่มาในปีนี้ตัวเลขการเปิดรับผ่านเสาอากาศกลับตกลงเป็นร้อยละ 36 ขณะที่การเปิดรับผ่านจานดาวเทียมกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ ร้อยละ 45

หากมองเผินๆ ก็จะดูเหมือนว่าทีวีดาวเทียมกำลังกลายมาเป็นช่องทางและรูปแบบหลักของการบริโภคเนื้อหาทางโทรทัศน์ในเมืองไทยไปแล้ว ทว่าสิ่งที่ตัวเลขนี้ซ่อนไว้ก็คือความจริงที่ว่า คนที่ยอมเสียเงินเป็นเจ้าของจานดาวเทียมจำนวนมาก นอกจากจะซื้อบริการเพื่อเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นทางเลือกแล้วยังต้องการเข้าถึงเนื้อหาของทีวีหลักหรือฟรีทีวีอย่างช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ TPBS ให้ได้สัญญาณที่ชัดเจนขึ้นด้วย เนื่องจากการรับชมผ่านเสาอากาศนั้นค่อนข้างหมดสภาพ ด้วยการที่เจ้าของโครงข่ายสัญญาณทีวีหลักดั้งเดิมไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนในโครงข่ายที่ใช้สัญญาณแอนะล็อกเนื่องจากตั้งหน้าตั้งตารอที่จะยกระบบเปลี่ยนเป็นดิจิทัล เมื่อประเมินแล้วว่าการลงทุนใดๆ ไม่น่าจะคุ้มค่าก็เลยปล่อยให้ผู้บริโภคต้องช่วยตัวเองด้วยการหาเทคโนโลยีที่มีการทวนสัญญาณซ้ำอย่างเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมมาช่วยให้ดูได้ทั้งทีวีหลักและทีวีทางเลือกใหม่ๆ เหล่านี้สามารถกล่าวได้ว่าเป็นผลจากการขาดองค์กรกำกับดูแลในภาคส่วนวิทยุและโทรทัศน์มาเป็นเวลานาน ทำให้นโยบายต่างๆ ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ไปจนถึงการกำกับดูแลสื่อต้องหยุดนิ่งไป ผู้ประกอบการเคเบิลและทีวีดาวเทียมจึงถือโอกาสนี้ในการขยายกิจการผ่านเทคโนโลยีใหม่ และละทิ้งเทคโนโลยีเก่าอย่างเสาอากาศ ขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกนอกจากยอมซื้อกล่องแปลงสัญญาณและจานดาวเทียม

ขณะเดียวกัน การขาดซึ่งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างกสทช.ก็มีส่วนทำให้ขาดกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของนักวิชาชีพสื่อจากการถูกครอบงำของกลุ่มอำนาจทั้งอำนาจทางการมืองและอำนาจทุนด้วย กรณีของปรากฏการณ์ “ถึงพี่เต้งที่รัก” ที่กล่าวถึงไปในตอนแรกเริ่มต้นจากการที่นักข่าวรุ่นใหญ่ที่เป็นที่รู้จักดีกันในวงการคนหนึ่งที่รู้จักกันในนาม “พี่เต้ง” ได้โพสต์บนเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบายความในใจถึงการไม่ทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิของสื่อภาคสนามโดยเฉพาะที่ประจำอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ด้วยการยอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง หรือผลประโยชน์กลุ่มการเมือง โพสต์ดังกล่าวได้สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมาเป็นวงกว้าง เมื่อคนข่าวหลายรุ่นทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่เป็นอดีตหรือยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ต่างถูกกระตุกต่อมสำนึกและเขียนเนื้อหาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโพสต์ดังกล่าวของ “พี่เต้ง” ออกมามากมาย สรุปบทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ สื่อยุคนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจแทนประชาชน แต่กลับทำตรงกันข้ามโดยเฉพาะในช่วงเวลาอันเป็นวิกฤติทางการเมืองของประเทศอย่างในปัจจุบัน นักข่าวรุ่นเก่าที่ยังคงยึดถืออุดมการณ์ที่เชยไปแล้วของการเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้แต่ก็อยู่ในสภาวะเสมือนไร้สมรรถภาพที่จะขับเคลื่อนวงการสื่อที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองมากที่สุดให้หลุดพ้นจากบ่วงแห่งการครอบงำของรัฐที่ผนวกอำนาจกับทุน เนื่องจากฝ่ายหลังสถาปนาอำนาจมายาวนานและครองใจมวลชนผู้บริโภคสื่อจำนวนมากอย่างเหนียวแน่น

เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลังวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมที่ผ่านมาก็สืบเนื่องจากการที่หนังสือพิมพ์จากค่ายใหญ่ฉบับหนึ่งตีพิมพ์อาศิรวาทที่มีเนื้อหาอันกำกวมชวนให้คนอ่านสงสัยว่ากำลังถวายความจงรักภักดีตามจุดประสงค์ของอาศิรวาทหรือกำลังนำเสนอวาทกรรมในแนวล้มเจ้ากันแน่ ในหมู่ผู้ใช้สังคมออนไลน์ที่จงรักภักดีต่อสถาบัน ก็ได้มีการตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงขับไล่ให้คนประพันธ์อาศิรวาทหรือคนทำหนังสือพิมพ์ดังกล่าวออกไปจากเมืองไทย ซึ่งทางตัวแทนหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ได้ออกมาชี้แจงผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ว่าไม่ได้มีความตั้งใจอย่างที่ถูกตีความ และยืนยันว่าเป็นการแสดงความชื่นชมและศรัทธาในสถาบันอย่างแท้จริง

อนึ่ง หากวิเคราะห์ด้วยมุมมองทางสื่อและวัฒนธรรมศึกษา ตัวบท (text) หรือเนื้อหาที่นำเสนอในสื่อถือว่าเป็นการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อและทัศนคติของผู้เปิดรับ แต่สื่อใดๆ ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง การวิเคราะห์ถึงอิทธิพลของสื่อจึงมักทำโดยผ่านการวิเคราะห์ตัวบทซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนเชิงอุดมการณ์ (หมายความถึง รูปแบบเฉพาะของสำนึกทางสังคมที่ถูกสร้าง ปลูกฝัง ผลิตซ้ำ และส่งต่อผ่านกระบวนการและระบบทางความหมายต่างๆ ในสังคม) ของสื่อนั้นในสังคม และในสังคมที่กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างสังคมไทย ตัวบทของสื่อจึงเป็นปรอทวัดที่ดีของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่วัดและประเมินผ่านตัวกรองทางอุดมการณ์ของสื่อนั้นๆ

สำหรับสังคมไทยที่คลาคล่ำไปด้วยสื่อเลือกข้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบเห็นการนำเสนออุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันผ่านสื่อต่างประเภท ต่างแพลทฟอร์ม ต่างเจ้าของ ต่างสี และต่างจุดยืน เพียงแต่ว่าผู้นำเสนออุดมการณ์นั้นๆ จะกล้ายอมรับอย่างเต็มอกหรือไม่ว่าสนับสนุนให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด อย่างน้อยก็เพื่อความกระจ่างต่อผู้เปิดรับสื่อที่จะได้เห็นแจ้งและตัดสินใจได้ถูกทั้งในเรื่องของอนาคตของสังคม หรือเรื่องการเลือกเปิดรับสื่อที่นับวันจะยิ่งเพิ่มพูนในเชิงปริมาณแต่ไม่เสมอไปในเชิงคุณภาพ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความเปลี่ยนแปลง สื่อไทย แพลทฟอร์ม อุดมการณ์

view