สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอโต้ เกษียร ปัดขวาจัดจ้องล้มรัฐบาล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทีดีอาร์ไอเปิดศึก! "เกษียร เตชะพีระ" นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัดเป็นพวก "ฝ่ายขวา" ขวางนโยบายทุกเรื่อง จ้อง "ล้มรัฐบาล"

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความในหัวข้อ "แลกเปลี่ยนกับเกษียร เตชะพีระต่อบทบาทของทีดีอาร์ไอ" โดยเนื้อหาระบุว่า อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้เขียนบทความเรื่อง "ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน" ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 7 ธันวาคม 2555 และเรื่อง "กระบวนการกำหนดนโยบายของไทย - ที่มา ที่เป็นและที่ไป" ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 14 ธันวาคม 2555 บทความทั้งสองมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันมากจนคล้ายการตีพิมพ์ซ้ำ โดยส่วนที่คล้ายกันดังกล่าวมีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ใน 2 ประเด็นคือ

หนึ่ง ทีดีอาร์ไอเป็นพวกที่เชื่อในตลาดเสรี แม้ว่าอาจารย์เกษียรไม่ได้เขียนตรงๆ ในบทความทั้งสองว่า ทีดีอาร์ไอเป็น "ฝ่ายขวา" แต่การนำเอาทีดีอาร์ไอไปกล่าวรวมกับกลุ่มคนที่อาจารย์เรียกว่า "ฝ่ายขวา"ทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งก็เกิดความรู้สึกว่า อาจารย์เหมารวมเอาทีดีอาร์ไอเป็น "ฝ่ายขวา" ไปด้วย

สอง ทีดีอาร์ไอ ขยายบทบาทเชิงผลักดันหรือต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล จนทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว เพราะ "สถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไปเสียฉิบ" และเสนอว่า "สถาบันวิจัยก็ (ควร) จะได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยข้อมูลทางเลือกเชิงนโยบายต่างๆ แทนที่จะแปรบทบาทตนเองเป็นกลุ่มรณรงค์กดดันต่อต้านนโยบาย"

ในฐานะผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ ผมใคร่ขอแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เกษียรและผู้อ่านใน 2 ประเด็น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะดังนี้

ประการที่หนึ่ง ผมเห็นว่า การเอาฉลาก "ขวา" หรือ "ซ้าย" ไปแปะใส่บุคคลหรือองค์กรหนึ่งๆ แทนที่จะถกเถียงกันเรื่องประเด็นด้านนโยบายแต่ละเรื่อง น่าจะไม่มีประโยชน์นัก เพราะการเป็น "ขวา" หรือ "ซ้าย" ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเป็นเพียงการสะท้อนจุดยืนของตัวผู้แปะฉลาก ซึ่งในที่นี้คือตัวอาจารย์เกษียรเอง เปรียบเทียบกับผู้ถูกแปะฉลาก มากกว่าที่จะสะท้อนคุณภาพหรือคุณค่าอะไรที่มากไปกว่านั้น

ในความเห็นของผม การเหมาเอาว่าทีดีอาร์ไอเป็น "ฝ่ายขวา" เป็นเรื่องที่ออกจะแปลกอยู่ เพราะในฐานะองค์กรทางวิชาการ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของอาจารย์เกษียร เราไม่เคยกำหนดว่า นักวิจัยแต่ละคนจะต้องมีความเชื่ออย่างไร ตราบเท่าที่การวิเคราะห์และข้อเสนอทางนโยบายของเขามีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลรองรับ อันที่จริง ที่ผ่านมา นักวิจัยของเราหลายคนได้พยายามผลักดันให้เกิด การปฏิรูปภาษีและการใช้จ่ายของรัฐเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม สนับสนุนให้ใช้ระบบสวัสดิการสังคมในการแก้ไขปัญหาคนจน ไม่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดตลาด และมีท่าทีอย่างระมัดระวังต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

ในด้านเกษตร เราไม่ได้ปฏิเสธการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ แต่เสนอให้ใช้แนวทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายน้อยลงและให้ประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรกลุ่มที่ยากจนจริงๆ มากขึ้น

ท่าทีดังกล่าวน่าจะสะท้อนถึงความเชื่อของนักวิจัยหลายคนในทีดีอาร์ไอที่ว่า รัฐและตลาดต่างมีข้อจำกัดในตัวเอง ไม่สามารถเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในทุกๆ เรื่องได้ แต่ต้องผสมผสานกันและในหลายกรณีก็ต้องใช้กลไกอื่น เช่น ชุมชนและกลไกทางสังคมประกอบด้วย ผมคิดว่า ท่าทีเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พวก "ฝ่ายขวา" ชื่นชอบนัก

ผมเชื่อว่า การถกเถียงทางวิชาการอย่างมีคุณภาพในแบบที่อาจารย์อยากเห็น น่าจะเกิดขึ้นจากการศึกษาความคิดของกันและกันอย่างจริงจัง โดยวิเคราะห์ว่า ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายในแต่ละเรื่อง จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร และจะสามารถตรวจสอบข้ออ้างของแต่ละฝ่ายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์กันได้อย่างไร มากกว่าการติดฉลากว่าใครเป็น "ขวา" หรือ "ซ้าย" แบบเหมาเข่ง

ประการที่สอง ผมไม่เห็นว่า การวิจัยและการดำเนินการต่างๆ ของทีดีอาร์ไอในปัจจุบัน จะทำให้ระบบในการกำหนดนโยบายปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว หรือ ทำให้เรากลายเป็น policy lobbyist ตามความหมายที่ใช้กันทั่วไปในประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะทีดีอาร์ไอไม่มีนโยบายที่จะโน้มน้าวนักการเมืองหรือข้าราชการให้กำหนดนโยบายเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ใด

ถ้าจะมีสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า "ล็อบบี้" มากที่สุดก็คือ การให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพราะในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะพลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและติดตามการทำงานของรัฐบาล

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอไม่มีแนวทางที่จะฟ้องร้องหน่วยงานใดเพื่อกดดันทางนโยบาย และไม่คิดที่จะล้มรัฐบาลไหนๆ เราตระหนักดีว่า เราเป็นสถาบันทางวิชาการที่ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถโน้มน้าวรัฐบาล สื่อมวลชนและประชาชน ให้เห็นคล้อยตามแนวคิดของพวกเราได้ นอกจากพลังแห่งเหตุผลทางวิชาการ ที่มีข้อมูลจากการวิจัยรองรับ ตลอดจนความเชื่อถือที่สังคมมอบให้แก่เราว่า เรานำเสนอข้อเสนอทางนโยบายต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทีดีอาร์ไอ เกษียร ขวาจัด จ้องล้มรัฐบาล

view