สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วาระลับ บัญชีเงินประชาเสวนา ชงปรองดอง 168 ล้าน 108 เวที

วาระลับ บัญชีเงินประชาเสวนา ชงปรองดอง 168 ล้าน 108 เวที

จากประชาชาติธุรกิจ

ขณะที่การเมืองกำลังกลับเข้าสู่โหมดความขัดแย้ง ทันทีที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าจัดทำ "ประชามติ" เพื่อขอความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

อีกหนึ่งวาระร้อนที่ถูกกระแสกลืนหายในพริบตา คือ กระบวนการเดินหน้าผ่านร่างกฎหมายปรองดองฯที่ยังคงค้างในสภานิติบัญญัติ ที่จะเริ่มต้นเปิดสมัยประชุมในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

เป็นความปรองดองที่เคยสร้างความโกลาหลมาแล้วหนหนึ่ง จากการชุมนุมปิดถนนและทางเข้าออกรัฐสภา เพื่อไม่ให้ ส.ส.เข้าไปลงมติเห็นชอบ หลังจากที่ใช้กำลังภายในผลักร่างกฎหมายไปคาอยู่ในวาระพิจารณาลำดับที่ 1-4

ในวันนั้นทำให้รัฐบาลตัดสินใจถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อเปิดเวที "ประชาเสวนา" เพื่อถามความเห็นภาคประชาชน ก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการปรองดองในอนาคต

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 55 อนุมัติงบประมาณ 90.26 ล้านบาท ให้กรมพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าหาช่องทำเวทีระดมความเห็นดังกล่าว

ทุกยุทธวิธีถูกผลักดันให้เดินหน้าอย่างเงียบ ๆ โดยคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มี "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รมว.มหาดไทย เป็นประธาน

ล่าสุด กระบวนการดังกล่าวถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แบบลับ ๆ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 55 เป็นวันเดียวกันที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ประกาศพร้อมเดินหน้าจัดทำ "ประชามติ" เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ประชาเสวนา" ของกระบวนการปรองดอง จึงถูกขึ้นบัญชีตีกลับออกจากที่ประชุมด้วยเหตุผล 2 ข้อ

หนึ่ง เพราะที่ประชุมวันนั้นได้มีการถก-เถียงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องปรองดอง หาก ครม.จะมีมติอนุมัติเดินหน้าทั้ง 2 เรื่องในคราวเดียวกัน อาจเป็นปมให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ในเร็ววัน

สอง รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีบทเรียนแล้วว่า หากเดินหน้าปรองดองผ่านเวที "ประชาเสวนา" ควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการทำ "ประชามติ" อาจทำให้ทุกสายตาโฟกัสไปที่จุดเดียวกันว่า กระบวนการทั้งหมดเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เพียงผู้เดียวทั้งนี้ ร่างเอกสารการจัดเวทีประชาเสวนาที่เตรียมนำเสนอ ครม.ในวันดังกล่าว เป็นวาระพิจารณาที่ 13 เพื่อรายงานความพร้อมอย่างรอบด้าน พร้อมขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 77.76 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งกระบวนการต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น รวม 168.23 ล้านบาท

โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อให้การสานเสวนาเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคม และจัดทำข้อเสนอที่สร้างสรรค์ในการยุติความขัดแย้ง ผ่านกิจกรรมตามลำดับขั้นตอน

ทั้งการจัดทำคู่มือสรุปเนื้อหาเพื่อแจกจ่ายประชาชน 100,000 เล่ม อบรมวิทยากรเพื่อสร้างความเข้าใจในท้องถิ่น 400 คน จัดเวทีประชาเสวนาในภูมิภาคและ กทม. รวม 108 เวที แบ่งโซนตามเขตเลือกตั้ง โดยจัดทำเวทีไว้ 5 ระดับตามปริมาณกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ 300-1,000 คน โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานรวม 75,700 คน

นอกจากนั้นยังทุ่มงบประมาณกว่า 70 ล้านบาท ในการเน้นแผนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกแขนง แบ่งออกเป็นการถ่ายทอดสดการจัดเวทีใน กทม. 1 จุด ภูมิภาค 4 จุด ถ่ายทอดสดการจัดเวทีวิทยากร เผยแพร่สปอตทีวีความยาว 30 นาที ไม่น้อยกว่า 230 ครั้ง เผยแพร่สกู๊ปข่าว 3 ตอน สารคดีข่าว 6 ตอน

ประชาสัมพันธ์ลงหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 4 ฉบับ จำนวน 15 ครั้ง แจกข่าวสั้น ภาพข่าว 40 ชิ้น สกู๊ปข่าว 4 ชิ้น ลงสปอตวิทยุ 30 นาที 4 ภาษา ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ไม่น้อยกว่า 3,000 ครั้ง ออกแบบเว็บไซต์หลัก เผยแพร่ข่าวลงสื่อออนไลน์ ป้ายบิลบอร์ดทั่วประเทศ 79 ป้าย และทำนิทรรศการเคลื่อนที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ

และกระบวนการสุดท้าย หลังเดินสายจัดเวทีทั่วประเทศ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต รวบรวมสรุปผลการดำเนินงาน และส่งไม้ต่อให้ ปคอป.นำเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการโดยในกรณีที่ ครม.อนุมัติโครงการภายในต้นเดือน ธ.ค. 55 จะสามารถตีกรอบระยะเวลาดำเนินการดังนี้

ธ.ค. 55 กรมพัฒนาชุมชนร่วมกับคณาจารย์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ต้องจัดทำเอกสาร คู่มือ จัดจ้าง จัดทำคู่มือทั้งแนวทางการจัดเวที คู่มือสำหรับผู้เข้าร่วมเวที แผ่นพับประชาสัมพันธ์ และให้กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกจังหวัด

ม.ค. 56 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอบรมวิทยากร

ม.ค.-ก.พ. 56 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต คัดเลือกประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการสานเสวนา

มี.ค. 56 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดทำข้อสรุปจากทุกเวที ก่อนส่งรายงานผลการดำเนินการให้ ปคอป. ภายในเดือน เม.ย. 56 เพื่อนำเข้าสู่การรับทราบของ ครม.

แม้เงื่อนเวลาทั้งหมดถูกถ่างออกไปเพื่อรอจังหวะทางการเมือง แต่ร่างเอกสารทั้งหมดก็ไม่ได้ถูกตีกลับเพื่อทำลายหรือทิ้งลืมเสียทีเดียว เพราะสุดท้ายรัฐบาลเชื่อว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็พร้อมที่จะโยนเรื่องปรองดองเข้าไปสมทบในกระดานทันที


"มาร์ค"แนะ รบ.ตั้งหลักใหม่ก้าวข้ามคดี"ทักษิณ" เลิกรื้อ รธน.ทั้งฉบับ

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ที่โรงแรมรามาดา พลาซ่า แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติในการแก้ไข รัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยหรือปรับปรุงระบบมีหลายวิธีการ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่จนกระทั่งเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะไปผูกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญติดกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถ้าละตรงนี้ได้แล้วตั้งหลักใหม่ คุยกันระหว่างพรรคการเมือง ภาคประชาชนว่า จะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวมอย่างไร คิดว่าจะเดินหน้าได้ง่ายกว่า โดยเลิกแนวคิดเดิมที่จะรื้อทั้งฉบับก่อน เพราะมีฐานอยู่แล้วเคยมีการศึกษาไว้ทั้งของวุฒิสภาและหลายคณะกรรมการว่า มีมาตราไหนที่เป็นปัญหา จะนำมาเป็นตัวตั้งก็ทำได้ โดยเบื้องต้นควรพูดเรื่องจริงก่อนว่า ถ้าไม่หยุด หรือพยายามจะล้างผิด อย่างไรก็เกิดความสับสน วุ่นวาย ทั้งนี้ ควรให้หยุดก่อนทุกอย่างก่อนจะคุยได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่จบ เหมือนกับกฎหมายล้างผิดที่เสนออยู่ในขณะนี้ ที่อ้างว่า รัฐบาลไม่เกี่ยว แต่แท้จริงแล้วเสียงข้างมากในสภา คือผู้สนับสนุนรัฐบาล นายกฯ เป็นผู้กำหนดได้ จะโยนความรับผิดชอบให้สภาไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนเดียวกัน จึงต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าต้องการทำอะไร


"การทำประชามติมาเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งทางความคิดนั้น สามารถทำได้ แต่คำถามต้องชัดเจน รวมถึงเป้าหมายด้วยว่าทำแล้วนำไปสู่อะไร เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ชัดเจน เช่น อ้างจะแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้แต่พ่วงเรื่องล้มคดี อย่างนี้ก็ไม่มีทางรู้คำตอบที่ได้มาว่า ตอบเรื่องอะไร เพราะถ้ามาถามผมว่า รัฐธรรมนูญควรแก้ไขหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าควรแก้และเคยแก้แล้วสองมาตรา หากถามว่า ผมเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ผมก็เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมบางเรื่อง เช่น การชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนโกง ที่แปลกคือฝ่ายผมเป็นคนบอกว่า ไม่ควรล้างผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตายของประชาชนในปี 2553 แต่พรรคเพื่อไทยกลับเสนอกฎหมายให้มีการล้างผิดตรงนี้ ความสับสนที่เกิดขึ้น เป็นเพราะมีการนำประโยชน์ของคนบางคนมาเป็นตัวกำหนด ทำให้เกิดการโต้แย้งตลอดเวลา ถ้าหยุดตรงนี้ได้ บ้านเมืองก็เดินได้สบายๆ และเห็นด้วย หากทุกพรรคการเมืองจะหารือร่วมกันเพื่อหาทางออก แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการหารือ ก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่มีข้อยุติ จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน ซึ่งผมย้ำว่า ถ้าก้าวข้ามคดี พ.ต.ท.ทักษิณไปได้ บ้านเมืองเดินได้สบายๆ ไม่มีปัญหา" นายอภิสิทธิ์กล่าว


นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่นายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกและทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ถูกลอบทำร้ายว่า ตำรวจต้องเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ มีการสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องและคนใกล้ชิดไปแล้ว ซึ่งเป็นห่วงว่าจะได้รับความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังมีข้อมูลที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มาอีกด้านหนึ่งด้วย จึงต้องจับตาดูการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ว่า จะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็ให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปก่อน ซึ่งขณะนี้นายราเมศคงยังไม่สามารถให้ปากคำกับตำรวจได้ เพราะว่าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปเยี่ยมนายราเมศก็พยายามจะพูดแต่ออกเสียงได้เพียงเล็กน้อยและ จำเป็นต้องพักฟื้นอีกซักระยะหนึ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วาระลับ บัญชีเงินประชาเสวนา ชงปรองดอง 168 ล้าน 108 เวที

view