สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาอินไซเดอร์เรื้อรังในตลาดทุนไทย (จบ) : ได้เวลาออกจากด้านมืดของระบอบอุปภัมภ์

ปัญหาอินไซเดอร์เรื้อรังในตลาดทุนไทย (จบ) : ได้เวลาออกจากด้านมืดของระบอบอุปภัมภ์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผู้เขียนพูดถึงปัญหาการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น หรือที่เรียกว่า “อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง” ติดต่อกันมาแล้วสามตอน

เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่ผู้คุมกฎคือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่เคยมีท่าทีจะเอาจริงกับผู้กระทำผิดที่เป็นมืออาชีพในวงการ อย่างเช่นวาณิชธนกร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือผู้สอบบัญชี ยังไม่ต้องพูดถึง “เจ้ามือ” ปั่นหุ้นรายใหญ่หรือสื่อที่ช่วยเจ้ามือปั่นหุ้นอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

นอกจากจะน่ากังขาว่าผู้กำกับดูแลเอาจริงเพียงใดกับการปราบปรามอินไซเดอร์รายใหญ่และเจ้ามือปั่นหุ้นรายยักษ์ การที่สื่อมวลชนละเลยหน้าที่ หรือไม่ก็ช่วย “เจ้ามือ” ปั่นหุ้นเสียเอง ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ตอกตรึง “วัฒนธรรมอินไซเดอร์” ในสังคมไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป

“วัฒนธรรมอินไซเดอร์” คืออะไร? อธิบายอย่างสรุปรวบรัดคือ มุมมองที่แพร่หลายว่าการใช้ข้อมูลภายในแสวงประโยชน์ส่วนตนและส่วนพวกพ้องนั้นเป็น “เรื่องธรรมดา” ที่ใครๆ ก็ทำกัน ยิ่งได้ข้อมูลนั้นมาระหว่างการทำงานสิยิ่งดี คนอื่นอยากไม่มาทำงานนี้เองทำไม การเล่นหุ้นเป็นเรื่องของการฉกฉวยความได้เปรียบและชิงไหวชิงพริบระหว่างนักลงทุนด้วยกันมิใช่หรือ ถ้าไม่มีข้อมูลภายในแล้วจะได้เปรียบจากคนอื่นได้อย่างไรกัน ฯลฯ

วัฒนธรรมอินไซเดอร์ดำรงอยู่ได้ส่วนหนึ่งเพราะสื่อไทยไม่ทำหน้าที่ขุดคุ้ย ตีแผ่ และตั้งประเด็นอย่างที่ควรทำ นักข่าวจำนวนมากตอนนี้ทำข่าวแบบ “มักง่าย” คือไปฟังแถลงข่าวต่างๆ แล้วสรุปเนื้อหามาลง ไม่มีการไปสอบถามผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นให้รอบด้าน หลายครั้งไม่ได้สรุปแถลงข่าวเองด้วยซ้ำ แต่เอา “ข่าวประชาสัมพันธ์” ที่องค์กรนั้นยื่นให้มาลงทั้งดุ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้ปัญหาสื่อไม่ทำหน้าที่ คือการดำรงอยู่มาช้านานของ “ด้านมืด” ของ “ระบอบอุปถัมภ์” แบบไทยๆ ซึ่งผู้เขียนยังไม่เห็นความพยายามที่จะสลัดหรือลบล้างอย่างจริงจังเสียที

ด้านดีที่ดีที่สุดของระบอบอุปถัมภ์คือการที่คนในสังคม โดยเฉพาะ “สังคมใกล้” คือญาติมิตรและเพื่อนร่วมงาน มีความห่วงใยห่วงหาอาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่น่าแปลกใจที่เวลาเกิดภัยพิบัติหรือโศกนาฏกรรมอะไรก็ตาม จิตอาสาและเงินบริจาคจากคนไทยด้วยกันจึงหลั่งไหลมาอย่างง่ายดายและน่ามหัศจรรย์ในสายตาของชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ดี ด้านมืดของระบอบอุปถัมภ์แบบไทยๆ ก็เลวร้ายจนคุกคามความเจริญก้าวหน้า และหลายคนที่ตระหนักในอันตรายนี้ก็คือชาวต่างชาติคนเดียวกันกับที่ประทับใจในจิตอาสาของคนไทย ฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องความเห็นของชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทยต่อ “นิสัยคนไทย” ซึ่งส่งต่อกันอย่างกว้างขวางฉบับหนึ่งถ่ายทอดความเห็นของผู้บริหารชาวต่างชาติในไทยรายหนึ่งว่า

“คนไทยมักจะนำเพื่อนฝูงมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเสมอ ผมไม่เคยชอบวิธีนี้เลย ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อข้าวของภายในสำนักงาน พวกเขามักจะแนะนำเพื่อน ๆ มาก่อนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่บริษัทควรจะได้รับ นี่เป็นประสบการณ์จริงที่ประสบมา การให้ความช่วยเหลือเพื่อนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทเลยเป็นอะไรที่แย่มาก และเมื่อพบว่าเพื่อนพนักงานด้วยกันทุจริต คนไทยก็จะช่วยกันปกป้อง และทำให้ไม่รู้ไม่เห็นจนกว่าผู้บริหารจะตรวจสอบได้เอง”

มุมมองข้างต้นสะท้อนว่า วัฒนธรรมอินไซเดอร์ดำรงอยู่ได้ก็เพราะคนไทยโดยรวมยังแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานไม่ค่อยออก และ “ความรักพวกพ้อง” มาก่อน “ความเป็นมืออาชีพ” หลายขุม ส่วนประเด็น “ความเป็นธรรม” ในตลาดทุน (การใช้ข้อมูลภายในแสวงประโยชน์ส่วนตัวนั้นไม่ยุติธรรมกับนักลงทุนคนอื่นที่ไม่มีข้อมูลภายใน) ไม่ต้องพูดถึง

จะเปลี่ยนวัฒนธรรมอินไซเดอร์ให้เป็นวัฒนธรรมมืออาชีพได้ ส่วนหนึ่งจึงต้องให้ ก.ล.ต. และ ตลท. ทำงานอย่างแข็งขันกว่าที่ผ่านมา อีกส่วนต้องปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ให้บริษัทมีส่วนร่วมและรับผิดชอบกับกรณีทุจริตที่เกิดในบริษัทหรือจากพนักงานบริษัทมากขึ้น

ส่วนสุดท้ายคือต้องยกระดับฝ่ายตรวจสอบภายในและคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ และเข้าใจความสำคัญของหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ทำตัวเป็น “บุรุษไปรษณีย์” คอยส่งข่าวให้พนักงานรับทราบการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบต่างๆ แต่ไม่สามารถอธิบายหลักการและเหตุผลของกฎระเบียบเหล่านั้น ผลกระทบต่อกระบวนการทำงานในบริษัท หรือวางแผนการปฏิบัติตามกฎระเบียบได้เลย

การยกระดับอำนาจหน้าที่และความรับผิดของคณะกรรมการตรวจสอบและฝ่ายตรวจสอบภายในน่าจะเป็นความริเริ่มของ ก.ล.ต. ตลท. ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ส่วนภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันก็อาจคิดค้นหลักสูตร “โตแล้วไม่โกง” ที่ใช้กรณีตัวอย่างรูปธรรมของการทุจริต อธิบายให้ชัดว่าอินไซเดอร์แบบไหนผิดกฎหมาย แบบไหนไม่ผิดกฎหมาย และผิดกฎหมายเพราะอะไร บริษัทจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรบ้างเมื่อพบว่าพนักงานทุจริต

เด็กๆ ที่ไหนล้วนแต่ตั้งใจว่า “โตไปไม่โกง” ทั้งนั้น แต่พอเจอสถานการณ์เย้ายวน บีบบังคับ หรือถูกเพื่อนชักชวนตอนเป็นผู้ใหญ่ ก็กลายเป็นตั้งใจโกงหรือจำใจโกง ฉะนั้นเราต้องเน้นการเปลี่ยนสถานการณ์ที่ให้คนรู้สึกว่าการทุจริตนั้น “ต้นทุนต่ำ” หรือ “ไม่เป็นไร” หรือ “ต้องทำตามน้ำ” ไม่ใช่ทุ่มทุนสั่งสอนเด็กๆ ที่ไม่คิดจะโกงและก็ไม่มีโอกาสโกงใครมากมายอยู่แล้ว

ปัญหาสื่อไร้คุณภาพและไม่ทำหน้าที่นั้นแก้ยากพอๆ กัน แต่ผู้เขียนคิดว่าจุดเริ่มต้นที่ดีคือ การให้สื่อกับรัฐ โดยเฉพาะ กสทช. ผู้กำกับดูแลสื่อโดยตรง มาถกเรื่องแนวทางและกลไก “การกำกับดูแลร่วมกัน” (co-regulation) อย่างจริงจัง เพราะดูจะเหลือกลไกนี้กลไกเดียวแล้วที่เป็นไปได้ ในเมื่อสื่อปฏิเสธการกำกับดูแลโดยตรงของรัฐ และกลไกการกำกับดูแลกันเอง (self-regulation) ก็พิสูจน์ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่ได้ผล

การออกจากด้านมืดของระบอบอุปถัมภ์อาจฟังดูยาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ประเทศอื่นที่อยากพัฒนาจริงๆ ก็ทำกันมาแล้วทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2012 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) ไต้หวันกับเกาหลีใต้ต่างได้คะแนนเกินครึ่งอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งที่เพียงสองทศวรรษก่อน ทั้งสองประเทศนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทุจริตมโหฬารในตลาดทุน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหาอินไซเดอร์เรื้อรัง ตลาดทุนไทย ได้เวลา ด้านมืด ระบอบอุปภัมภ์

view