สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

งูเล็กพ่นพิษ การเมืองเผชิญหน้าชี้ขาดแก้รธน. สารพัดคดีปะทุ

จาก โพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ปี 2556 ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังต้องเจอสารพัดบททดสอบที่ล้วนแต่เป็นปมทิ้งเชื้อจากปีที่ผ่านมา

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

เมื่อกางปฏิทินและส่องทางไกลยิ่งเห็นชัดว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลเพื่อไทย จะยังคงถูกมรสุมรุมเร้าแถมยังส่อเค้าเข้มข้นกว่าปีเก่าหลายเท่าตัว

เปิดศักราชใหม่ด้วย 1.ศึกชิงเสียงคนกรุง หลังพรรคประชาธิปัตย์เปิดหน้าผู้ท้าชิงเป็นแชมป์เก่ารายเดิม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อุณหภูมิสนาม กทม.ก็ร้อนระอุขึ้น เดิมมีการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 17 ก.พ. ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ระบุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ

ถึงกระนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ประกาศแล้วว่าจะชิงลาออกก่อน 10 ม.ค. เพราะไม่ต้องการนั่งรักษาการผู้ว่าฯ ที่จะส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการหาเสียง ดังนั้นวันหย่อนบัตรอาจต้องเปลี่ยนกำหนดการ เพราะมาตราเดียวกันกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หากผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ

นับตั้งแต่ 1 ม.ค.เป็นต้นไป สนามการเมือง กทม.น่าจับตา เพราะผลการเลือกตั้งในสนามนี้คือดัชนีชี้วัดการยอมรับพรรคเพื่อไทยจากคน กรุงเทพฯ ที่ตลอดกว่า 10 ปี 4 สมัย ตั้งแต่ไทยรักไทยลงสู่สนามการเมือง ขั้วไทยรักไทยพลังประชาชน ตลอดจนเพื่อไทย ไม่เคยครองใจคนกรุงได้แม้แต่สมัยเดียว

แม้วิกฤตการเมืองหลังรัฐประหารจะพลิกทฤษฎีตาลปัตรส่งผลให้ชนชั้นล่างและ ชนชั้นกลางระดับล่างกลายเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลชี้ชะตาการเมืองไทยมากยิ่ง ขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงกลุ่มชนชั้นกลางใน กทม.ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการหันทิศเรือของรัฐบาล ฉะนั้นหากพ่ายให้ประชาธิปัตย์ซ้ำจะยิ่งตอกย้ำกระแสคนกรุง “ไม่เอาเพื่อไทย” แน่นอนว่าย่อมส่งผลไปถึงหลายนโยบายของรัฐบาลในปีหน้า โดยเฉพาะการทำ “ประชามติ” เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลยังคงก่ายหน้าผากมึนหนทางเข็น 24 ล้านเสียงขึ้นภูเขา

2.วังวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นด่านใหญ่ลำดับ 2 ที่รัฐบาลต้องเผชิญ ลำพังแค่ประชามติที่รัฐบาลกำลังเดินหน้า ก็ต้องเจอ2 ขวากหนามใหญ่ คือ จำนวนเสียงผู้มาลงประชามติและความสุ่มเสี่ยงที่การทำประชามติจะขัดต่อตัวรัฐ ธรรมนูญเองก็ทำให้เพื่อไทยสะอึกไม่น้อยแล้ว หากแม้ประชามติครั้งนี้ผ่านฉลุยเปิดทางให้สภาโหวตวาระ 3 และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้น แม้จะได้ ส.ส.ร. 77 ใน 99 คนที่มาจากเสียงประชาชน แต่จะหนีไม่พ้นข้อครหาของฝ่ายค้านว่าเป็น “ร่างทรง” ของพรรคเพื่อไทย

แม้แต่ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.เอง หากเผลอแตะต้องมาตราใดที่เกี่ยวโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะแก้มาตรา 309 ให้ลบล้างผลพวงอำนาจของคณะรัฐประหาร รวมถึงคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เกิดจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อาจเป็นการจุดพลุให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมต้าน เพราะกลุ่มเสื้อเหลืองเคยประกาศจุดยืนชัดหากรัฐบาลแก้กฎหมายเพื่อ “นายใหญ่” เมื่อใด กลุ่มพันธมิตรฯ จะออกสู่ท้องถนนเมื่อนั้น

3. การตรวจสอบคดีการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ของคนในรัฐบาล ที่อยู่ในมือองค์กรอิสระ ซึ่งอาจกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาล โดยในปีหน้าคงปรากฏผลเป็นรูปธรรมจากกรณีฝ่ายค้านยื่นคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบนโยบายของรัฐบาลโดยใช้เอกสารข้อมูลหลักฐานจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

น้ำหนักสำคัญอยู่ที่โครงการรับจำนำข้าวที่พรรคประชาธิปัตย์เคยโจมตี รัฐบาลว่าเอื้อให้บริษัทเอกชนบางรายผูกขาดการซื้อขายข้าว ทั้งยังพบความไม่โปร่งใสในการตั้งบริษัทผีรับระบายข้าวจีทูจี

นอกจากโครงการรับจำนำข้าว ฝ่ายค้านยังยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.สอบกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ละเลยข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ที่เสนอให้หน่วยงานรัฐจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าดูข้อมูลได้

สองคดีนี้น่าหวาดเสียวต่อ “เก้าอี้นายกฯ” เป็นอย่างยิ่ง กรณีโครงการรับจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” มีส่วนรับผิดชอบในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) รวมถึงการนั่งหัวโต๊ะประชุม ครม. แต่กลับเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. สุดท้ายแล้วหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจะเกิดผลสะเทือนต่อรัฐบาลยิ่งกว่าปัจจัยอื่น เพราะมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ระบุชัด หาก ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิด ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะ มีคำพิพากษา

4.คดีก่อการร้ายของแกนนำ นปช. กับคดีที่ อภิสิทธิ์-สุเทพ ถูกดีเอสไอตั้งข้อหา พยายามฆ่า อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 ที่จะมีความคืบหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การออก พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษกรรมทุกฝ่าย

ปีที่ผ่านมาศาลอาญาเริ่มสืบพยานคดีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 24 คนที่ตกเป็นจำเลยความผิดฐานก่อการร้ายในวิกฤตการณ์การเมืองปี 2553 ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ดำเนินคดีกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาพยายามฆ่า พร้อมกับที่ญาติเหยื่อเสื้อแดงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับอภิสิทธิ์สุเทพ เพื่อให้ดีเอสไอดำเนินคดี

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ดีเอสไอจะตั้งข้อหากับอภิสิทธิ์สุเทพ และยื่นฟ้องต่ออัยการ คาดว่าปีนี้คดีจะเข้าสู่ศาล ทำให้ “อภิสิทธิ์สุเทพ” ต้องเผชิญวิบากกรรมขึ้นศาลคดีเสื้อแดงตลอดปี 2556

ตามแผน รัฐบาลใช้ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหา “อภิสิทธิ์สุเทพ” เพื่อบีบให้ยอมรับโมเดล“นิรโทษยกเข่ง” เปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นความผิดจำคุก 2 ปี คดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษกจะได้เดินทางกลับไทย โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เป็นเครื่องมือล้างผิด

อีกเรื่องที่ต้องติดตาม พรรคเพื่อไทยอาจต้องเจอแรงกดดันด่านสุดท้ายที่มาจากฝ่ายเสื้อแดงเช่นกัน เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีการสั่งสมความไม่พอใจจากกลุ่ม “แดงอุดมการณ์” ต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีทีท่าปรองดองกับกลุ่มอำนาจเก่ามากเกินไปจนหลงลืม อุดมการณ์ฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความไม่จริงใจของรัฐบาลต่อการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถือเป็นผู้ต่อสู้ ให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

มรสุมในปี 2556 ของรัฐบาลอาจไม่ลื่นไหลง่าย เหล่านี้เป็นเพียงวาระเบื้องหน้า ยังไม่นับรวมพฤติกรรมของรัฐบาลหากทำเพื่อพวกพ้อง หรือ “คนพิเศษ” ก็อาจเป็นเชื้อให้ต่อต้านหนักขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะเป็นเกราะกำบังป้องกันแรงต้านจากกลุ่มอำนาจเก่าได้เป็นอย่างดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : งูเล็ก พ่นพิษ การเมือง เผชิญหน้า ชี้ขาด แก้รธน. สารพัดคดีปะทุ

view