สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อภิสิทธิ์ คิดให้ เพื่อไทย ทำ ก้าวข้าม ทักษิณ ปลดหนี้คลัง หยุดแก้รัฐธรรมนูญ

จากประชาชาติธุรกิจ

ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของรัฐนาวาภายใต้กำกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556 ยังคงมีบททดสอบรอคอยผู้นำให้แก้ปัญหาอีกหลายประเด็นทั้งการเมืองเรื่องเดิม จากศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายปรองดอง ที่ยังคงถูกตีความเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องทั้งการไขปัญหาภาพรวมทางเศรษฐกิจ ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภายนอก และปัญหาภายในจากนโยบายรัฐบาล

ในสายตา "ยิ่งลักษณ์" อาจย้อนภาพ 1 ปีเป็นความสำเร็จ แต่ฝ่ายค้าน - คู่ตรงข้ามอาจมีความเห็นที่ต่างออกไป

ประชา ชาติธุรกิจ สนทนากับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินผลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่ประเทศและสิ่งที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จะต้องเผชิญในปีหน้า

- ประเมินสถานการณ์ประเทศที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าอย่างไร

ผม เชื่อว่าคนไทยทุกคนยังอยู่ในภาวะห่วงใยประเทศ เห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่า ยังมีความกังวลเรื่องความขัดแย้ง และปรารถนาที่จะเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ปัจจัยภายนอกยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและไม่ส่งผลให้เกิด ความเป็นอยู่ที่ดีมากนัก หลายภูมิภาคในโลกยังมีปัญหาอยู่ ขณะเดียวกันในเรื่องของปากท้อง สินค้ายังมีราคาแพงทั้งอาหาร พลังงาน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามามีผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนำข้าว หรือความเสี่ยงที่เกิดจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศแน่นอนว่าไม่ได้มีมาตรการที่จะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กมีความ พร้อมเพียงพอ ฉะนั้นคนไทยจำนวนมากจึงอยากเห็นรัฐบาลและภาคการเมืองเอาจริงจังกับปัญหา เหล่านี้

- หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่า ปีหน้าจะเริ่มเผาจริงทั้งเศรษฐกิจ-การเมือง


ปัญหา มันสะสม และรุนแรงขึ้น หากรัฐบาลไม่ทบทวนท่าที ความเสียหายจะยิ่งรุนแรงขึ้น ของขวัญปีใหม่ชิ้นแรกที่รัฐบาลมอบให้ประชาชนคือการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งผมเรียกร้องให้ทบทวนตรงนี้

- ของขวัญที่ดีที่สุดที่รัฐบาลควรมอบให้ประชาชนคืออะไร


ปลด เงื่อนไขความขัดแย้งทั้งหมด ก้าวข้ามคุณทักษิณ (ชินวัตร) มองผ่านเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายปรองดอง เดินหน้าแก้ปัญหาให้กับประชาชน ส่วนเรื่องความขัดแย้งที่เกิดจากเหตุการณ์ในอดีตก็ปล่อยให้กระบวนการ ยุติธรรมหาคำตอบให้กับสังคม นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด

- คาดหวังจะเห็นรัฐบาลบริหารประเทศในเชิงนโยบายอย่างไร

ผม ว่า 1 ปีที่กำลังจะมาถึงไม่มีอะไรแตกต่างจาก 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่บอกกล่าวไปแล้วยังถูกละเลย รัฐบาลยังคงนิ่งและเลือกที่จะสร้างประเด็นความขัดแย้งใหม่ ๆ ตลอดเวลา รวมไปถึงปัญหาการทุจริตที่จะเกิดอีกมหาศาลจากการกู้เงินเพิ่มของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.ที่จะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน

ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายค้าน แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นฝ่ายค้านที่ยกมือสนับสนุนกฎหมาย ข้อตกลงระหว่างประเทศให้กับรัฐบาลมากที่สุด และสิ่งที่ผมคาดหวังคือการเรียกร้องให้

ผู้มีอำนาจลงมาแก้ปัญหาดัง ที่กล่าวไปแล้วอย่างจริงจัง ดังนั้นถามว่าอยากเห็นสิ่งใหม่ ๆ ในปีใหม่นี้ รัฐบาลก็ต้องทบทวนท่าที เพราะถ้าไม่ทำอะไรก็เสมือนเราย่ำอยู่กับที่ ยิ่งไปกว่านั้นจะกลายเป็นถดถอยมากขึ้นจนเกิดความรุนแรง

- มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตในประเทศอีกรอบ


ใน ทางเศรษฐกิจ สภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นในปีหน้าอาจไม่ถึงขั้นรุนแรงเทียบเคียงกับปีก่อน ๆ แต่เป็นการสะสมความเสียหายที่อาจจะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามไม่ควรประมาท อยากให้รัฐบาลตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ผมยกตัวอย่างความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในแง่การเงินการคลัง เช่น โครงการรับจำนำข้าวเสียหายปีละ 200,000 ล้านบาท ทำ 2 ปีก็เสียหาย 400,000 ล้านบาท ถ้าเดินต่อไปทุกปีอีกไม่นานหนี้สาธารณะก็จะทะลุเพดาน 60% แต่ถามว่าปีหน้าจะรุนแรงขนาดนี้หรือไม่ มันก็ไม่ขนาดนั้น แต่ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐจะไม่ทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการกู้เงินนอกงบประมาณที่จะทำอยู่แล้ว 350,000 ล้านบาท และมีข่าวว่าจะเอาอีก 2 ล้านล้านบาท

ปีหน้าอาจจะยังไม่มีปัญหาอะไรที่เห็นชัด นอกเสียจากเขามีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดปัญหาในสถานการณ์คลังของประเทศ

จะ ไปบอกว่าไม่มีปัญหาเลยก็ไม่ได้ เพราะผมเคยได้ยินรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจบอกว่า ประเทศยังเหลือช่องทางให้กู้เงินได้อีก 2 ล้านล้านบาท ก็จะกู้เลย ทำเลย ถ้ามีความคิดอย่างนี้ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดวิกฤตประเทศเร็วขึ้น

- รัฐบาลควรเก็บความคิดที่จะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทออกไปก่อน

ผม ยังไม่เห็นเหตุผลเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการอย่างนี้ ความจริงรัฐบาลยังไม่เคยแสดงให้เห็นเลยว่าต้องการจะแก้ปัญหาในเรื่องงบ ประมาณด้วยความโปร่งใส เพราะเรายังไม่เห็นแผนการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนอย่างหลากหลายหรือรูปแบบ วิธีการลงทุนที่หลากหลาย เช่น การดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุน

ในทางกลับ กันรัฐบาลมุ่งหน้าจะกู้เงินด้วยการออกกฎหมายพิเศษ และเขาก็ประกาศชัดว่า เมื่อมีเงินกู้แบบพิเศษ ก็จะใช้วิธีการจัดซื้อจ้างแบบพิเศษ แน่นอนว่ายิ่งกู้มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาการรั่วไหลที่มากขึ้นตามไปด้วย

- 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนจะกู้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก ควบคู่กับการออกมาตรการภาษีลดรายได้ของตนเอง สุดท้ายจะกระทบสถานะทางการเงินการคลังของประเทศหรือไม่


ทุกคน วิเคราะห์ตรงกันว่า หากจะเดินนโยบายแบบที่เป็นอยู่ต่อไป ก็จะมีปัญหาการขาดดุลการคลังมากขึ้น ฐานะของประเทศจะอ่อนแอลง การส่งออกข้าววันนี้ไม่ใช่แค่ปริมาณลดลง แต่ตัวเงินที่เข้ามาก็หายไปเยอะ เมื่อรวมกับนโยบายที่มุ่งแต่จะหาเสียง การเข้าไปยุ่งวุ่นวายในโครงการที่ตนเองมีดุลพินิจจะบริหารเองจนเกิดความรั่ว ไหล สุดท้ายเศรษฐกิจและสังคมจะอ่อนแอลงทั้งหมด

- มีข้อเสนอที่จะปลดล็อกปัญหาเหล่านี้อย่างไร


นโยบาย จำนำข้าวมาถึงวันนี้ก็ต้องทบทวนได้แล้ว ความจริงมีวิธีช่วยชาวนาให้ได้เท่าเดิม แต่ใช้เงินน้อยกว่า แต่มันขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำหรือไม่ ผมไม่ทราบเหตุผลด้วยซ้ำว่าทำไมถึงไม่ทำ ในเมื่อวันนี้เงินครึ่งหนึ่งไปไม่ถึงชาวนา ส่วนแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระยะยาว หากรัฐบาลเน้นเรื่องความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม มากกว่าการประมูลงานใหญ่ด้วยวิธีพิเศษผมว่ามันก็ช่วยได้เยอะ

- เมื่อปี 2556 สถานะการเงินการคลังจะเริ่มมีปัญหา ขณะที่รัฐบาลเล็งใช้เงินนอกงบประมาณเพิ่มขึ้น ผลที่เลวร้ายที่สุดของเรื่องนี้เป็นอย่างไร

เขาจะนำประเทศไป ใกล้ความเสี่ยง การเสียวินัยการเงินการคลังเมื่อถึงจุดหนึ่งจะกระทบความเชื่อถือความเชื่อ มั่น เมื่อถึงตรงนั้นก็เกิดวิกฤตการเงิน วิกฤตเศรษฐกิจ แต่ตอบยากว่าจะถึงจุดนั้นเมื่อไร ส่วนหนึ่งต้องวิเคราะห์ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากตลาดว่ายังให้ความเชื่อถือ อยู่หรือไม่ เพียงแต่ผมว่ารัฐบาลควรนำบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตมาศึกษาว่า การคิดแต่ใช้เงินโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพ ไม่คำนึงถึงการรั่วไหล สุดท้ายมันไม่มีทางทำให้ประเทศเจริญได้อย่างยั่งยืน และมันนำพาประเทศไปสู่วิกฤตทุกกรณีในประวัติศาสตร์

- หากเสนอว่าไม่ควรใช้เงินตาม พ.ร.บ.เงินกู้ แนวทางที่รัฐบาลควรจะทำเป็นอย่างไร


รัฐบาล ก็มีทางเลือก หนึ่งคือไม่กู้ ผมคิดว่าถึงวันนี้แล้ว สิ่งที่อ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องรีบใช้เงิน มันก็ไม่จริง เพราะผ่านไปเกือบปียังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็กลับมาทำแผนให้มันโปร่งใส หาเงินตามช่องทางปกติ สองผมเดาว่ารัฐบาลจะกู้มาเก็บไว้ก่อน แต่ถ้ายังอยากใช้วิธีพิเศษในการประมูล ผลที่ตามมาก็คือประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยอย่างไม่จำเป็น

- ตามกฎหมาย พ.ร.บ.เงินกู้ จะสิ้นสุดระยะเวลากู้เงินในเดือนมิถุนายนปี 2556 ตามกฏหมายขยายเวลาการใช้ได้หรือไม่


ก็ น่าคิดนะครับว่า คำอธิบายที่ตอบโต้กันมาตลอด ที่ใช้อ้างในศาลรัฐธรรมนูญว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องทำงานในเวลาที่กำหนด สุดท้ายหากมีการต่อเวลาในกฎหมายนี้ออกไป มันก็ขัดแย้งกันเอง มันก็เท่ากับว่าเขายอมรับแล้วว่า ที่เคยพูดกับศาลไว้มันไม่เป็นความจริง แต่ผมไม่ทราบนะครับว่ามันจะนำประเทศไปเจออะไรบ้าง

- การที่รัฐบาลสั่งให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ตรวจสอบทรัพย์สินของตนเอง เป็นสัญญาณบอกอะไร


ผม คิดว่าขณะนี้รัฐบาลคงเริ่มเห็นปัญหาว่า นโยบายของตนเองกำลังสร้างภาระที่ใหญ่หลวงให้ประเทศ ดังนั้นต้องทำทุกช่องทางที่จะลดการใช้จ่ายเงิน เปิดทางให้หน่วยงานรัฐหาเงินเพิ่ม ตอนนี้ในต่างจังหวัดเริ่มกังวลว่า เริ่มมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลเสมือนจะขึ้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว

- กระทรวงการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะก็ออกมายอมรับว่า หากรัฐบาลเดินหน้านโยบายค้ำประกันสินค้าเกษตรทุกตัว อนาคตเครดิตในการค้ำประกันของกระทรวงการคลังจะเป็นอย่างไร


มัน กระทบแน่นอน เราถึงได้เรียกร้องให้รัฐทบทวนตลอดเวลา แต่กลับมีความพยายามที่จะสร้างปัญหามากขึ้น เท่าที่คิดได้ตอนนี้คือการผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบ เช่น การขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม สุดท้ายจะทำคูปองช่วยเหลือก็มีการรั่วไหลและเลือกปฏิบัติตามมา เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ใหญ่ขึ้นไปอีก

- ปัญหาเศรษฐกิจติดกับดัก ภาคการเมืองและรัฐบาลจะแก้อย่างไร


ท่าน นายกฯ ต้องเลือกว่าจะเข้าไปแก้ปัญหาประชาชน หรือจะปล่อยให้ภาคการเมืองถกเถียงกันบางเรื่องเพื่อใครคนหนึ่ง เช่น กฎหมายล้างผิดกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเป็นปมความขัดแย้งอยู่แล้ว สิ่งที่พวกผมเรียกร้องง่าย ๆ เลยว่า สิ่งที่เขากำลังจะทำต้องไม่ได้ช่วยเหลือบุคคลหรือพวกพ้อง ล้มล้างคำพิพากษา ล้มคดีความ คิดได้แค่นี้ก็ปลดเงื่อนไขความขัดแย้งได้เกือบทั้งหมด

ผม เชื่อว่าหากรัฐบาลยังคิดที่จะเดินหน้าแบบนี้ ความขัดแย้งจะขยายวง ซึ่งผมไม่อยากให้เกิด ฉะนั้นควรจะหยุดยั้งเสีย เพราะที่ทำทั้งหมดก็ตอบใครไม่ได้ว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร

- ในฐานะฝ่ายค้านจะสกัดความรุนแรงนี้อย่างไร


เรา พยายามที่จะเสนอทางออกตลอด แต่ถ้ามันเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่จะทำในสิ่งที่ทำลายระบบ และมีคนจำนวนมากเขารับไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องยากที่ภาวะเผชิญหน้าจะไม่เกิดขึ้น เพียงแต่ละวางประโยชน์ของคนบางคนได้ทุกอย่างก็จบแล้ว

- หากการเมืองถูกผลักออกสู่ถนน จุดยืนของประชาธิปัตย์จะอยู่ตรงไหน


เรา ก็สนับสนุนการใช้สิทธิตามกรอบของกฎหมาย ผมย้ำแล้วว่าประเด็นการต่อต้านความไม่ถูกต้องนี้ ตัวผู้นำคือความคิดของประชาชน มันเลยจุดที่จะบอกว่า มีฝ่ายที่จ้องจะคัดค้านพวกเขา ต้องมีผู้นำ ต้องมีองค์กร มันพ้นเรื่องพวกนี้มาหมดแล้ว ทุกอย่างมันเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีบุคคลหรือองค์กรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เหมือนในอดีต เพราะนี่คือการรวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนทางความคิด แต่ฝ่ายรัฐบาลต่างหากที่ยังยึดติดที่ตัวบุคคล

- รัฐบาลควรยุติปัญหาเหล่านี้อย่างไร

สิ่ง ที่ทำง่ายที่สุด คือ เอาเรื่องรัฐธรรมนูญและกฎหมายปรองดองออกจากวาระการเมือง ในแง่รัฐธรรมนูญก็เห็นว่ามีประเด็นแล้วที่ต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย โดยไม่มีอะไรแอบแฝง ผมเชื่อว่าทุกพรรคพร้อมคุย ส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ยังเดินหน้าอยู่ แม้ตอนตั้งต้นจะถูกแทรกแซงจนบิดเบี้ยว แต่พวกผมก็ให้ความร่วมมือกับกระบวนการ เพื่อหาคำตอบให้กับทุกฝ่าย

- หมายความว่า ท่านกับคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) จะเจอปัญหาหนักในปี 2556

ผม ตอบไม่ได้หรอกครับ แต่เขาตั้งธงไว้อีกหลายคดี พวกเราก็พร้อมที่จะต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมาย เพราะเชื่อว่าความจริงชนะทุกสิ่ง ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็ชินแล้วครับ บริหารเวลาได้ ดังนั้นต้องเดินหน้าทำงานเต็มที่ ไม่หวั่นไหว มีเสียเวลาบ้าง มีรำคาญบ้าง แต่ผมก็ทำเต็มที่

- 1 ปีที่ผ่านมาพอใจในการทำงานหน้าที่ฝ่ายค้านมากน้อยแค่ไหน


พอ ใจในระดับหนึ่ง เราสามารถเปิดโปงความจริงหลายอย่าง หยุดยั้งกฎหมายที่ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาก็ยังมี เราพยายามที่จะคิดวิธีเพิ่มความเข้มแข็งในการทำงาน และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ การทำหน้าที่ฝ่ายค้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประชาชนจะมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งเสมอ แต่ก็ต้องทำเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น

- สุดท้ายการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน มันคุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลหรือไม่

ผม ไม่ได้มองความคุ้มค่ามากเท่ากับสิ่งที่ผมได้ทำ หากกฎหมายล้างผิดหรือรัฐธรรมนูญผ่านไปได้วันนั้น บ้านเมืองคงเสียหายมากกว่า เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก เราอยากให้ทุกฝ่ายหาทางออก โดยไม่มีการเผชิญหน้า และไม่นำไปสู่ความเสียหายกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อภิสิทธิ์ คิดให้ เพื่อไทย ก้าวข้าม ทักษิณ ปลดหนี้คลัง หยุดแก้รัฐธรรมนูญ

view