สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการมองการเมืองปี 56 ติดหล่ม ?? แก้รธน.-ประชามติ-เขาพระวิหาร

จากประชาชาติธุรกิจ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

สถานการณ์ ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2556 คงไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายสุดขั้วทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม เนื่องจากแนวโน้มทางการเมืองยังคงอยู่ในบรรยากาศที่จะทำให้สถานการณ์ทางการ เมืองเกิดความปรองดองต่อไป สำหรับประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะหยิบยกขึ้นมาเป็นชนวนหรือเงื่อนไขทาง การเมืองเพื่อระดมคนออกมาทำสงครามมวลชน อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.การทำประชามติ 3.เรื่องเขาพระวิหารที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน หากมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาล้มรัฐบาลจริง คิดว่าคงจะประสบความสำเร็จยาก เพราะทั้งหมดเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หลายรอบและยังไม่สามารถเอาชนะ ในทางการเมืองได้

ดังนั้น การสร้างความปรองดองยังเป็นเรื่องหลักในทางการเมืองต่อไป เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างได้เปรียบมากกว่าฝ่าย อื่นๆ ทั้งในแง่การเมืองและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ในปี 2556 รัฐบาลจะยืนอยู่ในมุมที่ได้เปรียบในการบริหารนโยบายสาธารณะสำคัญๆ หลายเรื่องให้คืบหน้าต่อไป อาทิ การบริหารจัดการน้ำ หรือ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ

เนื่องจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะไม่สามารถ ต้านได้ดีกว่าช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลคงจะไม่นำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ขณะเดียวกันพลังของฝ่ายต่อต้านได้ผ่านจุดสูงสุดและคงจะไม่สามารถทำอะไรได้ มากไปกว่านี้ อีกทั้งยังขาดผู้นำในการขับเคลื่อนมวลชนด้วย ดังนั้น มีโอกาสน้อยมากที่รัฐบาลจะถูกรบกวนด้วยปัจจัยทางการเมือง อีกทั้งในปี พ.ศ.2556 ผลของนโยบายหลายๆ อย่างของรัฐบาลจะเห็นผลมากขึ้น อาทิ นโยบายรถคันแรกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตอย่างชัดเจนขึ้น หรือนโยบายค่าแรง 300 บาท จะส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น ฝ่ายตรงข้ามหมดโอกาสในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปโดยปริยาย

บทบาทของ กองทัพ คงอยู่ในโหมดของความปรองดองกับรัฐบาลต่อไป เพราะรัฐบาลยังไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะดำเนินนโยบายใดที่มีผลกระทบกระเทือนต่อ ฝ่ายของกองทัพ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น เห็นได้ว่าที่ผ่านมาปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยแตะ ต้อง รวมไปถึงงบประมาณของกองทัพที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการดำเนินคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงรัฐบาลไม่เคย นำกองทัพเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ดังนั้น ไม่มีเหตุใดที่ทำให้รัฐบาลกับกองทัพจะขัดแย้งกัน อีกทั้งโอกาสที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะใช้กองทัพเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อล้ม รัฐบาลคงเกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลาแห่งความปรองดองนี้

สำหรับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ฝ่ายเสื้อแดงค่อนข้างจะชัดเจนว่าต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าโหวตวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภา และไม่ต้องการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหัก แต่จะเป็นความขัดแย้งธรรมดาๆ เท่านั้น เพราะยังไม่มีเหตุผลร้ายแรงใดที่ทำให้คนเสื้อแดงถึงขั้นเลิกสนับสนุนรัฐบาล ชุดปัจจุบัน

ส่วนคดี 99 ศพ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงได้ คิดว่าผลสรุปทั้งหมดของคดีความจะยังไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งพรรคประชา ธิปัตย์ต้องออกแรงอะไรในการล้มรัฐบาล เชื่อว่าในแง่กฎหมายทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คงยังไม่โดนอะไร แต่ในทางการเมือง 2 คนนี้จะถูกลอยแพจากฝ่ายที่คนเสื้อแดงเรียกว่า "อำมาตย์" ให้เป็นแพะรับบาปในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 ทั้งหมด ซึ่งในประวัติศาสตร์เหตุการณ์รับบาปลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับคนที่เคยเป็นมือ เป็นไม้ให้กับฝ่ายตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักวิชาการ มองการเมือง ปี 56 ติดหล่ม แก้รธน. ประชามติ เขาพระวิหาร

view