สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าเรียกร้องให้คนอื่นมีศีลธรรม

อย่าเรียกร้องให้คนอื่นมีศีลธรรม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เรื่องศีลธรรม จรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ความยุติธรรม และทุกเรื่องที่อยู่ในประเภทเดียวกันนี้

ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคม ทุกคนก็ต่างรู้เห็นเป็นอย่างดีว่า เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้ได้ เพื่อสังคมที่ตนอาศัยจะได้สงบสุข นี่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

แต่ธรรมชาติของมนุษย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ มักจะเรียกร้องเอาจากคนอื่น คืออยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตนอย่างดี แต่ตนเองกลับปฏิบัติต่อคนอื่นได้ไม่ถึงระดับที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตน ดังนั้นปัญหาจึงเกิดขึ้น ยิ่งในสังคมใดที่คนปฏิบัติต่อคนอื่นได้น้อยเท่าใด สังคมนั้นปัญหาก็ยิ่งมาก

ในรอบปี 2555 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น สังคมไทยมีปัญหาคนหย่อนยาน ศีลธรรม จรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ความยุติธรรม และทุกเรื่องที่อยู่ในประเภทเดียวกันนี้ มากเท่าใด ก็คงจะประเมินกันได้ จากระดับความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรม การละเมิดกฎหมาย การคอร์รัปชัน ซึ่งเกิดขึ้นจากคนทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ลองพิจารณาอย่างไม่เข้าใครก็จะเห็นได้ว่า อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงมาก

น่าแปลกใจใช่ไหม ที่คนไทยซึ่งขึ้นชื่อว่านับถือพุทธศาสนากว่าร้อยละ 90 และมีการสอนศีลธรรมในโรงเรียน ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเกือบทุกคนน่าจะท่องศีล 5 ได้อย่างคล่องปาก แต่ยากที่จะปฏิบัติตามได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าระบบกล่อมเกลาทางสังคมของเราน่าจะมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ทั้งในระดับครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา ซึ่งทั้ง 3 สถาบันนี้มีบทบาทสำคัญในการกล่อมเกลาให้คนในสังคมเป็นคนที่มีคุณภาพในทุกประเทศ

ดัชนีชี้วัดคุณภาพของระดับศีลธรรม จรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ความยุติธรรม และทุกเรื่องที่อยู่ในประเภทเดียวกันนี้ในสังคมใดนั้น อย่างพื้นฐานที่สุดก็คือ การปฏิบัติตนในชีวิตปกติของประชาชนในสังคมนั้นๆ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่พบเห็นมาด้วยตนเองสัก 2 เรื่อง

เรื่องแรก ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สังคมสงบสุข คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP แม้จะไม่หวือหวา แต่มั่นคงสม่ำเสมอ ออสเตรเลียนั้นเป็นเมืองสำหรับการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโลก ชาวออสเตรเลียเองก็นิยมท่องเที่ยวในประเทศกันมาก เกษตรกรของออสเตรเลียจะมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง พวก Hand Made และ Home Made ประเภทต่างๆ เช่น ขนมนมเนย ของกินของใช้ เครื่องสำอาง เป็นต้น นักท่องเที่ยวก็จะแวะเข้าไปชม ไปทดสอบ ลองใช้ และซื้อ ตามบ้านที่เป็นโรงงานเล็กๆ หรือเรียกกันว่า Farm แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่เปิดให้คนเข้าไปชมที่ใน Farm ของตน พวกเขาขายผลิตภัณฑ์ โดยตั้งโต๊ะวางของไว้ที่ข้างทาง เขียนราคาแปะไว้และมีกระป๋องสำหรับผู้ซื้อหยอดเงินค่าผลิตภัณฑ์ที่ตนเองซื้อ

กรณีนี้ หากไม่มีความซื่อสัตย์ ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ กล่าวคือ ถ้าผู้ซื้อไม่ซื่อสัตย์ ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาขาย ก็จะขายได้ไม่กี่ครั้ง ขณะเดียวกัน หากผู้ซื้อไม่มีความซื่อสัตย์ หยิบของไปโดยไม่จ่ายเงิน ผู้ขายก็อยู่ไม่ได้ แต่เมื่อมีกิจกรรมนี้อยู่ เมื่อผู้เขียนประเทศนี้ครั้งใด ในต่างสถานที่ ต่างรัฐ ก็มีการซื้อขายลักษณะนี้อยู่ทั่วไป แสดงว่า ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความซื่อสัตย์จึงมีกิจกรรมแบบนี้จึงดำรงอยู่ได้

เรื่องที่สอง ในประเทศไทย เมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้เขียนขับรถไปจอดติดไฟแดงที่แยกโบสถ์แม่พระฟาติมา ดินแดง มีเด็กหญิงวัยประมาณ 11-12 ปีมาขายพวงมาลัย เธอพูดอย่างสุภาพช่วยซื้อพวงมาลัยได้ไหม เหลือพวงสุดท้ายแล้ว เธออยากกลับบ้าน ด้วยความหวังดี ผู้เขียนถามราคา ได้ความว่า 20 บาท จึงให้เงิน 20 บาทแล้วบอกว่าพวงมาลัยไม่เอา เธอจะเอากลับบ้านหรือไปขายให้ใครก็ได้ เด็กหญิงปฏิเสธที่จะรับเงิน เธอขอบคุณและบอกว่า ไม่ขอเงินแต่อยากให้ช่วยซื้อพวงมาลัย

ผู้เขียนถือว่า การกระทำของเด็กหญิงขายพวงมาลัยเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ในการประกอบอาชีพ เธอกล้าที่ปฏิเสธและบอกอย่างตรงไปตรงมา หากเรียกว่าเธอเคารพจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพก็ย่อมไม่ผิด เพราะการรับเงินที่ผู้เขียนให้เปล่าๆ นั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับการ “กินตามน้ำ” ที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย อันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวง การไร้จรรยาบรรณในวิชาชีพต่างๆ นั่นเอง

หากคนไทยเราต้องการให้ผู้อื่นมีศีลธรรม จรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ความยุติธรรม และทุกเรื่องที่อยู่ในประเภทเดียวกันนี้ ก็ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน เหมือนที่ประชาชนชาวออสเตรเลียและเด็กหญิงขายพวงมาลัยได้กระทำเป็นแบบอย่าง หากมัวแต่เรียกร้องคนอื่นแต่ตัวเองไม่ทำแล้ว ก็ป่วยการที่จะพูดถึงเรื่องนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่าเรียกร้อง ให้คนอื่น มีศีลธรรม

view