สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนวนวัดกับพุทธศาสนา

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

คอลัมน์ สามัญสำนึก


มีายงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเข้ามาว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2553-2555) ประเทศไทยมีจำนวนคำขอสร้างวัดและวัดเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2553 มียอดขอสร้างวัด 350 แห่ง ปี 2554 อีก 350 แห่ง และปี 2555 จำนวน 550 แห่ง หรือ 3 ปีมียอดคำขอสร้างวัดถึง 1,250 แห่ง

ส่วนการขอตั้งวัดใหม่ก็ เพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน คือ ปี 2553 มีการขอตั้งวัดใหม่ 720 แห่ง ปี 2554 ขอตั้งวัด 430 แห่ง และปี 2555 อีก 490 แห่ง หรือ 3 ปีมีการขอตั้งวัดถึง 1,640 แห่ง ในจำนวนนี้ปรากฏว่าจังหวัดที่ขอตั้งวัดใหม่มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา รวม 3 ปีขอตั้งวัดใหม่ 134 แห่ง รองลงมาได้แก่ บุรีรัมย์ 108 แห่ง, หนองบัวลำภู 47 แห่ง, ขอนแก่น 37 แห่ง และจังหวัดเพชรบูรณ์ 31 แห่ง

จำนวนคำขอสร้างวัดและคำขอตั้งวัดที่เพิ่มมากขึ้นข้างต้นนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. กล่าวว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ 1) การยกฐานะวัดร้างให้กลับมาเป็นวัดขึ้นใหม่ จากปัจจุบันมีวัดร้างอยู่ในประเทศกว่า 6,000 แห่ง ในจำนวนนี้ พศ.ยกฐานะกลับเป็นวัดใหม่แล้ว 2,000 แห่ง 2) ชุมชนขยายตัว หรือเกิดชุมชนใหม่ขึ้น ความต้องการวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนจึงมีมากขึ้น พร้อมให้ข้อมูลว่า "วัดร้างที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมด เป็นวัดร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย-รัตนโกสินทร์" หรือในความหมายว่า ในปัจจุบันแทบจะไม่พบวัดร้างเลย

แผน งานใหม่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ระบุด้วยว่า ปี 2556 พศ.เป็นต้นไป ตั้งเป้าหมายยกฐานะวัดร้าง และออก "ใบอนุญาต" ตั้งวัดใหม่ให้ได้ 400 แห่ง เพื่อให้สถานที่เหล่านี้เป็น "วัด" ที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ทั้ง นี้ การตั้ง "วัดใหม่" มีเงื่อนไขว่า จะต้องมีที่ดินเป็นผืนเดียวกันไม่น้อยกว่า 6 ไร่ ไม่มีทางสาธารณะ-ลำคลองกั้นกลาง ไม่เป็นที่สาธารณะ หรือถ้าเป็นที่เอกชนเจ้าของที่ดินต้องทำหนังสือสัญญายกที่ดินให้สร้างวัด ถ้าเป็นที่ราชการก็ต้องผ่านขั้นตอนการขอใช้ที่ดินทางราชการเพื่อสร้างวัด, วัดที่จะขอตั้งใหม่จะต้องห่างจากวัดที่มีอยู่เดิมไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร, จะต้องมีประชาชนได้รับประโยชน์และให้การสนับสนุนการตั้งวัดเฉลี่ยไม่น้อย กว่าชุมชนละ 1,000 คน

ที่สำคัญ เจ้าคณะอำเภอ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเห็นสมควรให้ตั้งวัดใหม่ด้วย

ฟังเผิน ๆ ก็ดูดีที่แต่ละปีประเทศไทยจะมีจำนวนวัดเพิ่มขึ้นมากมายถึงปีละตั้ง 400 วัด แต่ปัญหาสำคัญคือ

การเพิ่มขึ้นนั้นเป็นแต่เพียงการเพิ่มขึ้นของปริมาณมากมาย แต่คุณภาพและหน้าที่ของพระสงฆ์ไทยนั้น "อยู่ที่ตรงไหน ?"

ยังไม่นับความสับสนในเรื่องของ "ความเชื่อ" และ "คำสั่งสอน" ของแต่ละวัดแต่ละสำนักล้วนแตกต่างกัน

แต่ทุกสำนักทุกวัดบอกว่า นี่คือพระพุทธศาสนา

ยกตัวอย่าง ทำไมต้องมีธรรมกายนั่งเพ่งลูกแก้ว ทำไมมีสำนักพิธีสวดมนต์ปัดรังควาน เสริมบารมี ไล่ราหู ทำไมมีสำนักวิปัสสนากรรมฐาน

ทำไมถึงมีวัดขายแต่เครื่องรางของขลัง ขมังเวทย์

ไม่ เพียงปรากฏรูปพระพุทธ แต่ยังลามไปถึงเทพ-เทวดา สัตว์ในตำนาน ป่าหิมพานต์-เทพนิยาย ไม่เว้นแม้แต่พญาเต่า จิ้งจก ปี่เซียะ มังกรจีน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่คืออะไร

บางสำนักถึงกับเปิดหมู่บ้าน เกรดที่ดินถางป่าทำไร่

ตั้งสำนักใหม่ก็มี

ทุกที่ล้วนแล้วแต่บอกว่า นี่คือพระพุทธศาสนา

มีกระทั่งถึงที่บวชภิกษุณี-แม่ชีเชิงอภินิหารบอกชาติภพ ทำนายแก้เวรแก้กรรมกันก็ได้ ก็บอกว่านี่คือวัดหรือสำนักทางพระพุทธศาสนาอีก

นอก จากนี้ วัดส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเกิดสภาพที่ว่า มีพระจำพรรษาอย่างถาวรน้อยมาก น้อยจนกระทั่งหลาย ๆ วัด หลาย ๆ ตำบล เวลาต้องประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบท บวชพระ ต้องให้เจ้าภาพ "วิ่งรอก" นิมนต์พระจากวัดต่าง ๆ เพื่อให้เข้ามาประชุมจนครบองค์ก็มี

ทั้งหมด นี้กลายเป็น "ข้อสงสัยส่วนตัว" ที่ว่า เราจะมีวัดจำนวนมากมายปีละตั้งกว่า 400 แห่งไปทำไม ในเมื่อยังไม่สามารถแจกแจง ค้นหาเนื้อแท้ที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนาจนได้ข้อยุติและประกาศต่อสาธารณชน ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาของประเทศไทยนั้นคืออะไรกันแน่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จำนวนวัด พุทธศาสนา

view