สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงเตือนถึงรัฐบาล สู้คดีพระวิหารให้ถูกทิศ

เสียงเตือนถึงรัฐบาล"สู้คดีพระวิหารให้ถูกทิศ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

คดีข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ให้ทั้งสองประเทศแถลงคำชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 15-19 เม.ย.

ทั้งนี้ ก่อนที่จะไปถึงวันนั้นได้มีข้อเสนอจากหลายภาคส่วนในไทยฝากถึงรัฐบาลเป็น จำนวนไม่น้อยที่ต้องการประกาศออกมาเป็นทางการเลยว่าไม่ขอรับอำนาจศาลโลก เพื่อปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้ หรือต่อสู้ไปเลยว่าพื้นที่โดยรอบปราสาทเป็นของไทย

กลายเป็นแรงกดดันมายังรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พอสมควร เพราะหากไทยแพ้คดีดังกล่าวขึ้นมาปัญหาจะลามมาถึงเสถียรภาพทางการเมืองด้วย

“สมปอง สุจริตกุล” อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหารสมัยปี 2505 นำเสนอมุมมองในทางกลับกันกับโพสต์ทูเดย์ว่า การต่อสู้และการทำคำชี้แจงไปยังศาลโลกของรัฐบาลไทย ควรจะพยายามทำให้ศาลเห็นว่าตัวเองไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ไม่ใช่ให้ศาลวินิจฉัยว่าพื้นที่ทับซ้อนเป็นของใคร หรือไทยจะดำเนินการไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก

ทนายความอาวุโสผู้นี้ให้เหตุผลประกอบว่า ถึงแม้คดีนี้จะเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่ตัวปราสาทที่ศาลตัดสินไปแล้วในปี 2505 แต่ถือเป็นการพิจารณาคดีเดิม ศาลจึงไม่มีอำนาจมาทบทวน|ตีความใหม่ เพราะธรรมนูญศาลข้อ 61 ระบุว่า การขอทบทวนคำพิพากษานั้นจะต้องทำภายใน10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ปัจจุบันล่วงเลยกว่า 50 ปี ถือว่าอายุความหมดลงแล้ว

“ตะโกนเข้าไปในรูหูแค่ไหนเขาก็ไม่ได้ยิน บอกไปหลายครั้งแล้วว่าต้องคัดค้านศาล ซึ่งเราควรทำมาตั้งนานแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากเราเสนอคำคัดค้านศาลไป ศาลจะยุติกระบวนการพิจารณาทั้งหมด แล้วหันกลับมาพิจารณาว่าแท้จริงแล้วศาลมีอำนาจในการตีความคดีนี้หรือไม่...

...เหมือนกับในอดีตที่สหรัฐอเมริกาเคยค้านอำนาจศาลโลกในกรณีที่ศาลโลก เห็นว่าได้ละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสัมพันธภาพทางการกงสุล ค.ศ. 1963” อ.สมปอง กล่าว

ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากมีการคัดค้านต่อศาลโลกจะส่งผลกระทบลามไปยังสิทธิ การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในกรณีอื่นของไทยหรือไม่นั้น อ.สมปอง ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะตามธรรมนูญศาลข้อ 59 กำหนดให้คำพิพากษาของศาลไม่มีผลผูกมัดผู้หนึ่งผู้ใดยกเว้นไทยและกัมพูชาซึ่ง เป็นคู่กรณี และคำพิพากษาจะผูกมัดประเด็นที่เป็นข้อพิพาทเท่านั้น ดังนั้นต่อให้มีคำพิพากษาก็ไม่ถือว่าผูกพันต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหาร ทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลจับแนวทางการสู้คดีครั้งนี้ให้ถูกทิศ เพราะหลายฝ่ายกำลังกังวลไปที่คำตัดสินของศาลว่าปรากฏผลออกมาเป็นอย่างไร โดยลืมคำนึงว่าศาลมีอำนาจหรือไม่ ยอมรับว่าเวลาล่วงเลยมาจวบจนบัดนี้ถือว่าประเทศไทยสายไปมากที่ไม่ดำเนินการ คัดค้านตั้งเเต่เเรก แต่ยังไม่ถือว่าสายเกินไปหากจะดำเนินการแก้ไขตั้งแต่บัดนี้


ปลดล็อก"วีระ-ราตรี"เกมเขมรค้ำยัน"ยิ่งลักษณ์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เป็นเวลากว่าเกือบ 2 ปีที่ทั้ง วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเปรย์ซอว์ของกัมพูชา ตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2554 ใน 3 ข้อหา คือ ข้ามแดนผิดกฎหมาย เข้าไปในเขตทหารกัมพูชาโดยไม่ได้รับอนุญาต และประมวลข่าวสารที่อาจเป็นอันตรายต่อกัมพูชา

“วีระ” รับโทษ 8 ปี “ราตรี” 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นใช้ช่องทางการทูตอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ คนไทยทั้งสองคนได้กลับประเทศก่อนที่กัมพูชาจะนำตัวขึ้นศาล เวลานั้นรัฐบาลไทยรู้ดีว่าหากปล่อยให้คดีสู่ศาลโอกาสที่จะช่วยทั้งสองคนก็คง ริบหรี่

สาเหตุหนึ่งที่ความช่วยเหลือไม่สัมฤทธิผลมากนัก มาจากความสัมพันธ์ของ “ไทยกัมพูชา” ในยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ค่อยราบรื่นมากนัก

มีต้นเหตุมาจากการใช้อำนาจของนายกฯ ฮุนเซน แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาคดีทุจริต เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ไปจนถึงการปฏิเสธส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กับไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

เป็นผลให้ไทยประท้วงทางการทูตอย่างรุนแรงด้วยการสั่งเรียกทูตไทยประจำ กัมพูชากลับไทย พร้อมกับทบทวนความสัมพันธ์และการให้ความช่วยเหลือเพื่อเป็นการตอบโต้

ยังไม่นับเหตุการณ์ปะทะกันตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศที่มีผลสืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่ลงรอยกันในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร

สุดท้าย “วีระราตรี” ต้องจำใจรับสภาพไปโดยปริยายที่ต้องติดคุกประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมมีความหวังว่าจะได้กลับมารับโทษต่อในเรือนจำไทย

จนกระทั่งมาถึงพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลกลางปี 2554 เริ่มกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์อีกครั้ง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นายกฯ ฮุนเซน เรียกว่า “เพื่อน” เป็นบันไดก้าวสำคัญให้กับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แสดงภาวะผู้นำในการเยือนกัมพูชา

แต่ทุกครั้งที่นายกฯ ปู ต้องเจอกับคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าเพื่อช่วยวีระและราตรี กลับได้คำตอบแค่ว่า “รัฐบาลไทยกำลังพยายามประสานอยู่”

กลายเป็นแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นของจริงหรือของปลอม โทษฐานเคยปรามาสรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าไม่มีวันจะคุยกับกัมพูชารู้เรื่องได้ เหมือนกับพรรคเพื่อไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคีย์แมนสำคัญ

ก่อนที่ล่าสุดจะมาได้รับการเปิดเผยจาก

“สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ว่า กัมพูชาจะขอพระราชทานอภัยโทษจำคุกให้กับราตรีช่วงงานพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุในวันที่ 1 ก.พ. ขณะที่ลดโทษวีระลงไปอีก 6 เดือนเหลือจำคุกเป็นเวลา 5 ปีครึ่งโดยประมาณ

สร้างความโล่งอกให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์!

ทั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายจากที่เดิมไม่มีใครคาดว่ารัฐบาลกัมพูชาจะ ยอมให้ หลังจากรัฐบาลไทยพยายามประสานงานช่วยเหลือหลายครั้ง

จึงเริ่มมีการวิเคราะห์ไปต่างๆ นานาว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหากรณีปราสาทพระวิหาร

การแสดงออกต่อนักโทษไทยทั้งสองคนนั้นกัมพูชาเองก็หวังผลอยู่พอสมควร โดยต้องการเป็นจุดหนึ่งที่ให้นานาชาติเห็นว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศของไทยและกัมพูชาไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง หรือจะนำไปสู่การปะทะตามแนวชายแดนบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารได้

อย่าลืมว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก มีคิวนัดให้ทั้งไทยและกัมพูชาชี้แจงด้วยวาจาช่วงเดือน เม.ย. ก่อนที่จะไปตัดสินชี้ขาดในช่วงปลายปี ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ศาลโลกจะนำบริบทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเป็น ส่วนหนึ่งในการใช้ดุลยพินิจควบคู่กับการใช้ข้อกฎหมาย

หมายความว่า ศาลอาจเห็นว่าหากตัดสินคดีไปทางหนึ่งทางใดลงไปย่อมจะสร้างความได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ให้กับสองฝ่าย อันอาจนำมาสู่ความรุนแรงและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียของพลเรือนได้ จึงเป็นไปได้ที่ศาลจะหาทางออกด้วยการไม่รับวินิจฉัย โดยระบุว่าเป็นประเด็นเดิมที่ศาลโลกได้พิพากษาไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2505

ถ้าหวยออกมาเลขนี้เท่ากับว่ากัมพูชาจะไม่สามารถอ้างสิทธิเหนือพื้นที่พิพาทได้ ความเสียหายจะอยู่กับกัมพูชาเอง

ขณะเดียวกัน กัมพูชายังต้องการรักษารัฐบาลพรรคเพื่อไทยเอาไว้ เนื่องจากประเมินว่าถ้าเสถียรภาพของยิ่งลักษณ์เกิดมีปัญหาขึ้นมา ย่อมกระเทือนถึงผลประโยชน์ของกัมพูชาด้วย โดยเฉพาะแรงกดดันของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ในไทย ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวอย่างหนักไม่ให้รัฐบาลยอมรับอำนาจศาลโลก

ไม่เพียงเท่านี้ ความไม่มั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะสร้างความหวั่นไหวลามไปถึงการเจรจาเส้น เขตแดนทางทะเลที่มีทรัพยากรด้านพลังงานจำนวนมหาศาลด้วย

การปล่อย “ราตรี” และลดโทษ “วีระ” กัมพูชาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยคลี่คลายให้สถานการณ์กับรัฐบาลไทยเพื่อความมั่นคงในผลประโยชน์

สอดคล้องกับการประเมินของ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลุ่มการเมืองสำคัญที่ได้เคลื่อนไหวในประเด็นปราสาทพระวิหาร ก็มีมุมมองในทำนองว่า กัมพูชาต้องการให้การปล่อยตัวและการลดโทษคุณราตรีและวีระช่วยให้สถานการณ์ การเมืองในไทยผ่อนคลาย และรู้ดีว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้ต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองในประเทศอย่างรุนแรง ถึงขั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผลเสียจะอยู่ที่กัมพูชาหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเขตแดนที่ยังรอการจัดสรรอยู่

“กัมพูชากำลังพยายามทำให้ใครต่อใครเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้ง เป็นรัฐบาลขาดประสิทธิภาพ เหตุที่ไม่สามารถช่วยเหลือคนไทยได้ เสริมให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูดีขึ้น เพราะคนไทยทั้งสองคนได้รับการช่วยเหลือในยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ พร้อมๆ กับลดแรงกดดันในประเทศที่มีต่อรัฐบาลไทยเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาเอง” โฆษก พธม.วิเคราะห์

เป็นบทสรุปว่างานนี้มีแต่วินวินทั้งสองฝ่าย ต่างคนต่างได้ประโยชน์กันไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสียงเตือน ถึงรัฐบาล คดีพระวิหาร ถูกทิศ

view