สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณสมบัตินักการเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ

นักการเมืองเป็นผู้เสียสละเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ในทางทฤษฎีนักการเมืองที่ดีจึงเป็นผู้เสียสละที่จะสร้างความเจริญให้กับส่วน รวม เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องญาต|ิพี่น้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ มีความโปร่งใสในการทำงาน

คุณสมบัติที่ว่ามาทั้งหมดนั้น เป็นนักการเมืองในความฝันของคนไทย แต่ความเป็นจริงแล้วยังหานักการเมืองไทยที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไม่พบ และเข้าใจว่าในอนาคตก็จะยังคงหาไม่พบ

นักการเมืองไทยมีคุณสมบัติตรงข้ามกับคุณสมบัติทางทฤษฎี แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติเอาไว้อย่างไร นักการเมืองไทยก็หาช่องหลบหลีกเอาตัวรอดได้เสมอ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม

รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 กำหนดคุณสมบัติของนักการเมืองเกี่ยวกับการต้องคดีไว้ โดยแบ่งเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีและสมาชิกสภาทั้ง สส.และ สว. ซึ่งบัญญัติไว้เหมือนกัน

คุณสมบัติต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องคดีของสมาชิกสภา มีกำหนดไว้ในมาตรา 102 (4) (5) และ (7) ดังนี้

(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(7) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

คุณสมบัติต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องคดีของรัฐมนตรี บัญญัติไว้เหมือนกับคุณสมบัติของ สส.-สว. โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 174 (4) และ (5)

นอกจากคุณสมบัติของ สส.-สว. และรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องหรือผู้ บริหารท้องถิ่น ไว้คล้ายกับคุณสมบัติของ สส.-สว.และรัฐมนตรี

โดยบัญญัติคุณสมบัติต้องห้ามเรื่องการได้รับโทษ (ตามมาตรา 102 (5)) ไว้ต่างออกไป โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 45 (5) ว่า “ได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป และได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท”

ความแตกต่างของนักการเมืองระดับชาติตามรัฐธรรมนูญ กับนักการเมืองท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อยู่ที่คุณสมบัติตาม (5) โดยนักการเมืองระดับชาติ ใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” แต่นักการเมืองท้องถิ่น ใช้คำว่า “ได้รับโทษจำคุก”

ประเด็นที่ถกเถียงกันมากและเถียงกันมานานแล้ว คือ คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” นั้น หมายความว่าจะต้องถูกจำคุกจริงหรือเปล่า ถ้าศาลรอการลงโทษ จะถือว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” หรือไม่

นักการเมืองไทยเราพยายามแปลความตลอดมาว่า การ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” แต่ศาลรอการลงอาญา โดยยังไม่ต้องจำคุกจริงนั้น ยังไม่เป็นไปตามบทบัญญัตินี้

หากตีความตามที่นักการเมืองไทยตีความตลอดมา เท่ากับว่า นักการเมืองระดับชาติ ไม่ได้มีคุณสมบัติสูงกว่านักการเมืองท้องถิ่นเลย ที่หนักไปกว่านั้นคือ นักการเมืองท้องถิ่นไม่ยกเว้นความผิดลหุโทษ เท่ากับว่า นักการเมืองท้องถิ่นมีคุณสมบัติสูงกว่านักการเมืองระดับชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด

คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” นั้น โดยถ้อยคำที่ใช้มีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว คำว่า “ต้อง” หมายถึงว่า ถูก หรือเพียงได้รับเท่านั้น เช่น ต้องตาต้องใจ ในกฎหมายใช้คำว่า ต้องหลายกรณี เช่น ผู้ต้องหา ซึ่งหมายถึงคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ได้หมายความถึงว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว

การแปลคำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” หมายถึงต้องถูกจำคุกจริงนั้น เป็นการแปลกฎหมายเกินเลยไปกว่าตัวบทกฎหมาย และจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก หากปรากฏว่า จำเลยถูกศาลตัดสินให้จำคุก แต่ได้หลบหนีไปก่อนที่ศาลจะออกหมายจำคุก เท่ากับว่าไม่ได้ถูกจำคุกจริง

ถ้าแปลตามที่นักการเมืองพยายามตีความเข้าข้างตนเอง จะกลายเป็นว่า จำเลยที่ถูกพิพากษาให้จำคุก แต่หลบหนี ยังไม่ขาดคุณสมบัติ ทั้งๆ ที่เป็นการทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่จำเลยที่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา ยอมรับโทษตามที่ศาลพิพากษากลับมีคุณสมบัติต้องห้าม ได้รับผลร้ายจากกฎหมายมากกว่าคนที่ทำผิดซ้ำซาก

การตีความกฎหมายมีหลายทฤษฎี แล้วแต่ใครจะยกทฤษฎีใด ซึ่งขึ้นอยู่กับเจตนาว่าเป็นการตีความเพื่อความเป็นธรรมหรือไม่

หากผู้ใช้กฎหมายตีความแบบเอาสีข้างเข้าถู กฎหมายที่ดีก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ การตีความกฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้ใช้กฎหมายที่จะใช้กฎหมายเพื่อให้เกิด ความเป็นธรรมได้ในทุกกรณี
เพียงแต่นักการเมืองของไทยชอบตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย บ้านเมืองเราจึงวุ่นวายอย่างเช่นทุกวันนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุณสมบัตินักการเมือง

view