สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิสิต ม.เกษตรฯ 1,500 คน เดินหน้าทวงถามคำตอบ กทพ. สร้างทางด่วน 6 เลน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 นิสิต ม.เกษตรฯ 1,500 คน เดินทางไปยัง กทพ.ทวงถามคำตอบการสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน 1 สร้างตอม่อขนาดใหญ่เข้ามายังพื้นที่ของ มก.ส่งผลกระทบกับพื้นที่การเรียนการสอนบริเวณประวัติศาสตร์ ของ มก.และสภาพแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งทัศนียภาพที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา
       
       “ไมค์” จักรพล บัวโฮม นายกองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการตามแนวสายทางรูปแบบที่เสนอ และขอเสนอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาแนวสายทางอื่นที่ไม่ต้องล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และพิจารณาเลือกแนวสายทางที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้อยที่สุด จนกระทั่งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการก่อสร้างทางด่วนพิเศษนั้นว่า ต้องคำนึงถึงจุดคุ้มทุนเป็นสำคัญ โดยในประเด็นนี้ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องจุดคุ้มทุน ที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ได้กล่าวอ้างถึง
       
       เนื่องจากประชาคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มิได้คิดว่าทุนนั้นเป็นเพียงแค่ทุนทางด้านการเงินที่ใช้ในการก่อสร้างระบบ ทางด่วนเท่านั้น ทุนในที่นี้ยังรวมถึงค่าเสียโอกาส และต้นทุนทางด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ด้วย โครงสร้างของทางด่วนนั้นมีความสูงประมาณ 28 เมตร หรือสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น หากมีอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของนิสิตมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ แม้แต่เพียงคนเดียวก็มีมูลค่ามากมายนับสิบล้าน ไม่รวมถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลภาวะ และความเครียด ในขณะดำเนินโครงการของนิสิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่ประมาณค่ามิได้ทั้งสิ้น ซึ่งมิใช่ต้นทุนเพียงแค่มูลค่าการก่อสร้างและการเวนคืนที่ดินเท่านั้น
       
       “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบัน การศึกษาที่ผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติมาเป็นเวลา 70 ปี มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน และเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ โดยในแต่ละปีมีนิสิตจำนวน 40,000 คน ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองคุณประเทศชาติ ด้วยรู้ว่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งเงินงบประมาณที่ได้นั้นเป็นเงินภาษีของประชาชน มิได้เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อหารายได้และแสวงหาผลกำไรในลักษณะเดียว กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อีกประการหนึ่งที่เป็นที่ทราบดีโดยทั่วกัน คือ ในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งพัฒนาคนที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ให้กับคนทุกชนชั้นของ สังคมอย่างแท้จริง
       
        ในการนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมิได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพื้นที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปมากกว่าการเป็นพื้นที่ในการสร้างฐานของโครงสร้าง ทางด่วนเลย นอกจากนั้น การใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อสร้างทางด่วนนั้นจำเป็นที่จะ ต้องตัดต้นไม้ที่ปลูกมาเป็นเวลานานนับสิบปีส่งผลให้พื้นที่สีเขียว ของกรุงเทพลดลงซึ่งขัดต่อวิสัยทัศน์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ว่า “ทางเลือกที่คุ้มค่า พัฒนาก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

       
       “ไมค์” จักรพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากคำตอบที่ไม่ชัดเจนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแล้ว สิ่งที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจประชาคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่าง มาก คือ ท่าทีที่ไม่ใยดีต่อความรู้สึกของประชาคมเกษตรศาสตร์ ที่ยังคงยืนยันในการสร้างทางด่วนพาดผ่านหอประชุมใหญ่ ต้นนนทรีทรงปลูก และแนวสะพานลอยฟ้าบริเวณแนวรั้วมหาวิทยาลัย เป็นแนวข้าม 3 บูรพาจารย์ โดยทั้ง 3 สิ่งเป็นที่ศูนย์รวมจิตใจของนิสิตเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
       
       “องค์การนิสิตมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จึงขอทวงถามคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนที่ 1 และเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยพิจารณาแนวทางการก่อสร้างทางด่วน ที่เหมาะสม และผลกระทบรอบด้านมากกว่าเรื่องมูลค่าของงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง เพื่อลดความสูญเสีย และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ลูกค้า ประชาชน และสังคมอย่างแท้จริง"
       
       ขณะที่ นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีโครงการสร้างทางด่วน เข้ามาเฉียดอาคารเรียน 7 เมตร เพราะจะมีตอม่อที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร และแผ่พื้นข้างบนเป็น 6 เลน เข้ามาภายในมหาวิทยาลัย และรวมแล้วจะมีการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยประมาณ 10 ไร่ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้มีข้อเสนอไป 2 แนวทาง คือ 1.ควรขุดอุโมงค์ลอดแทนเพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการที่อาจมีรถยนต์ตกลง มาจากทางด่วน ซึ่ง กทพ.จะยืนยันได้ 100% อย่างไรว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้บริเวณแถวนั้นก็เคยเกิดอุบัติเหตุแล้ว และหากเกิดเหตุจริงใครจะรับผิดชอบทั้งผู้ว่าการ กทพ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็คงไม่รับผิดชอบ 2.ให้ใช้แนวคลองบางเขนแทน เพราะสามารถตอกตอม่อในคลองได้และคลองก็เป็นที่ของหลวงไม่สร้างความเดือดร้อน ของประชาชน
       
       “ผมว่าการ กทพ.จะขอใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อประหยัดค่าก่อสร้างจึงมาขอเวนคืน ที่ดินของหลวงแทน แต่ไม่นึกถึงความเสี่ยงอันตรายของเยาวชน นิสิตนักศึกษา แต่กลับเอากำไรมาเป็นตัวตั้ง และที่ กทพ.ยังบอกว่ายังไม่รีบเร่งเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ทราบว่ามีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดูแลเรื่องนี้และจะสิ้นสุดสัญญา ในเดือนกันยายนนี้ ฉะนั้น จะบอกว่าไม่รีบร้อนได้อย่างไร” อธิการบดี มก.กล่าว และว่า การสร้างทางด่วนนี้ใช้เงินภาษีของประชาชน ฉะนั้น จะทำอะไรก็ควรนึกถึงประชาชนด้วย ทั้งนี้ การที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่ยอมรับทางด่วนทั้งเส้น แต่เราไม่ยอมรับทางด่วนช่วงที่ผ่าน มก.เท่านั้น”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นิสิต ม.เกษตรฯ เดินหน้า ทวงถาม คำตอบ กทพ. สร้างทางด่วน 6 เลน

view