สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมดยุคอิสระของธนาคารกลางเสี่ยงก่อสงครามค่าเงินเพื่อชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นอกเหนือจากการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะใน ยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐ และมาตรการแก้เงินฝืดในญี่ปุ่นแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายจับตาอย่างใกล้ชิดก็คือบทบาท หน้าที่และการทำงานของบรรดาธนาคารกลางในประเทศต่างๆ

และประเด็นที่เริ่มมีเสียงท้วงติงจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ “อิสระในการทำงาน” ของธนาคารกลาง

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับโดยทั่วหน้ากันว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงิน ซึ่งเริ่มต้นในสหรัฐ ก่อนตามติดด้วยยุโรป และส่งผลกระทบลุกลามจนเศรษฐกิจทั่วโลกซึมเซาไปตามๆ กันนั้น ทำให้รัฐบาลนานาประเทศ โดยเฉพาะบรรดาประเทศพัฒนาแล้วงัดเอาสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดสภาพ คล่องในระบบขนานใหญ่

ไล่เรียงตั้งแต่ นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เพื่ออัดเงินเข้าระบบ นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และกดให้ต่ำในระดับใกล้ศูนย์เพื่อควบคุมค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทน พันธบัตร รวมถึงนโยบายการปรับเป้าเงินเฟ้อเพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลมีหนทางกระตุ้น เศรษฐกิจประเทศเพิ่มเติม

แน่นอนว่า สารพัดมาตรการทั้งหมดที่เอ่ยมาข้างต้น ล้วนเป็นมาตรการซึ่งประกาศบังคับใช้โดยหน่วยงานที่เรียกว่า ธนาคารกลาง (เซ็นทรัล แบงก์) องค์กรกลางที่ดำเนินงานทางด้านการเงินของประเทศอย่างเป็นอิสระ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบหลัก 4 ประการคือ 1) ออกธนบัตร 2) เป็นธนาคารของธนาคารพาณิชย์ และบริหารดูแลทุนสำรองระหว่างประเทศ 3) เป็นธนาคารของรัฐบาล และ 4) ดำเนินนโยบายทางการเงินและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ดูแลระบบการเงินให้มีความมั่นคงก้าวหน้า กำหนดนโยบายทางการเงิน รวมถึงการควบคุมดูแลสถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจ

เรียกได้ว่า บทบาทหน้าที่โดยรวมของธนาคารกลางนี้มีผลต่อสถานะ นโยบายทางการเงิน ค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยของประเทศเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์แทบจะทุกสำนักตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายจากธนาคารกลางซึ่งเข็นออกมารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการที่รัฐบาลหรือผู้นำประเทศนั้นๆ พยายามกดดันให้ธนาคารกลางออกมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจต่อหน้าที่ของธนาคารกลางซึ่งจะต้องใช้นโยบายการเงินอย่างเป็นกลาง เพื่อรักษาเสถียรภาพเสถียรภาพด้านราคา (Price Stability) หรือการดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์โดยทั่วหน้ากัน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า กฎระเบียบข้อบังคับที่ธนาคารกลางประกาศใช้นี้ นอกจากจะฝืนกฎนโยบายทางการเงินที่ดีและเป็นกลางตามชื่อแล้ว ยังเป็นไปตามความต้องการทางการเมืองที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของประเทศตนเอง เพียงอย่างเดียวอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่เพิ่งจะยอมทำตามคำขอแกมบังคับของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ชินโสะ อาเบะ เพื่อจัดการให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ด้วยการขยายเพดานเงินเฟ้อจากเดิม 1% เป็น 2% พร้อมออกมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) แบบปลายรวมมูลค่า 13 ล้านล้านเยน (ราว 4.38 ล้านล้านบาท) ต่อเดือน โดยกำหนดเริ่มบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2557

หรือกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ถึง 3 ครั้ง ควบคู่ไปกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 0.25% เพื่อกดให้ค่าเงินสกุลเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออกของสหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) ก็ใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาเพราะวิกฤตหนี้ สาธารณะในภูมิภาคของตนเอง

สตีเฟน คิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี กล่าวว่า นโยบายคิวอีหรือที่เรียกกันว่าเป็นนโยบายที่แทรกแซงระบบค่าเงินที่เหล่า ธนาคารกลางเข็นออกมาใช้ ไม่ได้มีผลช่วยรักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินแม้แต่น้อย เนื่องจากผลลัพธ์ของคิวอีในระยะยาวรังแต่จะเพิ่มภาระหนี้สินและการขาดดุลให้ กับประเทศ

กระนั้น แม้จะรู้ซึ้งถึงผลกระทบดังกล่าวดี แต่ธนาคารกลางก็ยังฝืนใช้ เพราะในระยะสั้นจะเป็นประโยชน์ช่วยให้รัฐบาลสามารถระดมเงินทุนได้ง่าย สะดวก และประหยัดต้นทุน

กลายเป็นบทสรุปที่สตีเฟน คิง ระบุว่า หากไม่ใช่เพราะอำนาจทางการเมืองแล้ว ธนาคารกลางคงไม่ตัดสินใจเช่นนี้ได้ สอดคล้องกับความเห็นของ เจนส์ ไวด์แมนน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ที่กล่าวเตือนว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังสูญเสียอิสระในการทำงานมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างบีโอเจที่ยอมทำตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีอาเบะแห่ง ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งแสดงความเห็นที่ค่อนข้างเห็นใจธนาคารกลางเหล่านี้ไม่น้อย เพราะเมื่อรัฐบาลประเทศหนึ่งๆ

โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลของโลกตัดสินใจกดดันให้ ธนาคารกลางของตนดำเนินนโยบายแทรกแซงค่าเงิน ธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องทำบ้างเพื่อปกป้องเศรษฐกิจ

และภาคเอกชนของประเทศ

เพราะเมื่อธนาคารกลางแทรกแซงค่าเงิน ค่าเงินสกุลที่อ่อนกว่าจะไหลไปเก็งกำไรกับค่าเงินที่แข็งกว่า ย่อมทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

คำถามต่อมาก็คือ แล้วเงินแข็งเงินอ่อนจะส่งผลอย่างไรต่อไป

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ประเทศที่ค่าเงินอ่อนจะได้ประโยชน์จากภาคส่งออกไปเต็มๆ เพราะสามารถขายสินค้าส่งออกได้ในราคาถูก ขณะที่สินค้านำเข้าจะมีราคาแพงไม่จูงใจให้คนในประเทศใช้ ซึ่งส่งผลให้ประเทศคู่ค้ากับประเทศที่ดำเนินนโยบายค่าเงินอ่อนเสียประโยชน์ ไปเต็มๆ จนในที่สุดต้องขอแทรกแซงค่าเงินบ้าง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดล่าสุดก็คือ การประกาศแทรกแซงเงินเยนของบีโอเจ ที่ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสินค้าเมดอินเจแปนทั้งหลาย เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น รถยนต์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าตัวอื่นๆ ในตลาดโลกถูกลง จนทำให้ประเทศที่มีสินค้าส่งออกคล้ายคลึงกันอย่างเกาหลีใต้ โดย บักแจวอน รัฐมนตรีคลังโสมขาว ออกมาส่งสัญญาณที่จะกดค่าเงินของสกุลเงินวอนให้ต่ำลง ก่อนที่สินค้าเกาหลีใต้จะเสียส่วนแบ่งตลาดให้ญี่ปุ่นจนกระเทือนเศรษฐกิจและ การจ้างงานของตน

นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักกล่าวตรงกันว่า แนวโน้มที่ทุกประเทศจะแข่งกันลดค่าเงินจะนำไปสู่สงครามค่าเงินได้ไม่ยาก และเมื่อทุกประเทศกดค่าเงินให้ต่ำเหมือนกันหมดย่อมไม่มีใครได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันกลับกลายเป็นการก่อบรรยากาศหวาดระแวง สั่นคลอนเสถียรภาพตลาดการค้าเสรี ขณะที่กลไกตลาดซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมค่าเงินเจอบิดเบือนจนง่อย เปลี้ย

แนวโน้มความเลวร้ายข้างต้น ทำให้นักวิชาการและนักวิเคราะห์ทั่วโลกส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความเป็น อิสระของธนาคารกลางที่ต้องปราศจากอิทธิพลทางการเมืองมาครอบงำ

ทว่า ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นมากนัก โดยหนึ่งในนั้นคือ โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแสดงความเห็นในงานเลกเชอร์ของธนาคารกลางอินเดียอย่างหนักแน่นชัดเจนว่า ความเป็นอิสระของธนาคารเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ และเป็นไปไม่ได้แน่นอน

ทั้งนี้ สติกลิทซ์ให้เหตุผลโดยยกตัวอย่างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านมาได้ พิสูจน์ให้เห็นอย่างดี โดยบรรดาธนาคารกลางของจีน บราซิล และอินเดีย ซึ่งมีอิสระน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว สามารถจัดการรับมือกับวิกฤตได้ดีกว่าธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ยุโรปและสหรัฐที่มีอิสระในการบริหารงาน

ความเป็นไปดังกล่าว ทำให้สติกลิทซ์สรุปอย่างไม่ยากเย็นว่า โลกใบนี้ไม่มีสถาบันที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง บรรดาองค์กรสาธารณะทั้งหลายล้วนมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และคำถามเดียวที่ต้องถามก็คือกับใครเท่านั้น

แน่นอนว่า หากภาระหน้าที่นั้นเพื่อประเทศชาติส่วนรวม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ล้วนเชื่อมั่นว่าเหล่าผู้นำทั่วโลกย่อมสามารถหา ทางออกร่วมกันได้แม้ไม่ดีที่สุด แต่ก็สมเหตุสมผลที่สุดเหมือนที่ผ่านมา

แต่หากภาระหน้าที่นั้น เป็นไปเพื่อกลุ่มอำนาจอิทธิพลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ธนาคารกลางก็จะกลายเป็นเพียงแค่เครื่องมือกอบโกยของคนเพียงไม่กี่คนบนความ ย่อยยับของประเทศ

และถ้าเป็นทางเลือกอย่างหลัง ต่อให้ต้องฝืนกับสถานการณ์เศรษฐกิจของชาติมากแค่ไหน นักเศรษฐศาสตร์ล้วนสรุปอย่างไม่มีลังเลว่าธนาคารกลางย่อมจำเป็นต้องรักษา ความเป็นอิสระไม่ให้การเมืองเข้ามาครอบงำแทรกแซงได้ต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หมดยุคอิสระ ธนาคารกลาง เสี่ยง ก่อสงครามค่าเงิน เพื่อชาติ

view