สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สัญญาณใหม่จากว่าที่ประธานธนาคารอังกฤษ

สัญญาณใหม่จากว่าที่ประธานธนาคารอังกฤษ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จากการประชุม World Economic Forum ที่เมือง Davos เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายมาร์ก คาร์นีย์ ว่าที่ประธานธนาคารอังกฤษคนใหม่

ได้เปิดมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินต่อสาธารณชนหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานแบงก์ชาติอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยสามารถสรุปได้เป็น 2 ประเด็นหลัก

ประการแรก นายคาร์นีย์กล่าวว่า วัตถุประสงค์นโยบายการเงินที่มีความสำคัญที่สุดในขณะนี้ ได้แก่ การผลักดันให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตที่สูงพอจนสามารถเดินหน้าไปได้ในที่สุดจนทำให้อัตราการว่างงานลดลงได้อย่าง ต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการอัดเงินของธนาคารกลางในระยะยาว ในประเด็นนี้ ไม่น่าแปลกใจที่นายคาร์นีย์ประกาศเช่นนั้น เนื่องจากในขณะนี้เศรษฐกิจของอังกฤษถือว่าย่ำแย่ แม้ไตรมาสล่าสุดจีดีพีจะเติบโตร้อยละ 1 ทว่าในรอบ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่เติบโตเลย และยังมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่าไตรมาสแรก ปี 2008 อยู่กว่าร้อยละ 3 ดังรูป

ประการที่สอง นายคาร์นีย์กล่าวว่า ตัวเขาเองอาจจะยอมรับให้อัตราเงินเฟ้อสามารถสูงเกินเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนการปรับตัวทางนโยบายการคลังซึ่งคล้ายคลึงกับที่ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินการอยู่ในตอนนี้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ว่าที่ประธานธนาคารอังกฤษกำลังมีแนวโน้มจะเดินตามรอยเบอร์นันเก้ อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ ค่อนข้างขัดแย้งกับเนื้อหาทางกฎหมายที่รองรับวัตถุประสงค์นโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษที่มักจะถูกตีความโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษว่าให้คงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 2 เป็นเวลาประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ นายคาร์นีย์อาจจะเลี่ยงบาลีการตีความตามความเห็นของตนเองดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเป็น "นโยบายอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบยืดหยุ่น" ซึ่งในเนื้อแท้แล้วก็คือ การบริหารจัดการทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน ให้อยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษก็อาจเสนอให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในเนื้อหาของกฎหมายให้มี ความชัดเจนขึ้นไปเลยจะได้ไม่มีความกำกวมในการตีความ

นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวทาง ที่ เซอร์ เมอร์วีน คิง ประธานธนาคารอังกฤษคนปัจจุบันเสนอว่า ในปีงบประมาณหนึ่งๆ รัฐบาลสามารถจะประกาศว่าระยะเวลาคาดหวัง (สักกี่เดือน) ที่อยากจะให้ธนาคารกลางลดอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันลงให้กลับมาเท่ากับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย ทว่าคงไม่มีรัฐบาลไหนที่อยากจะถูกมองว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย

หากพิจารณากันให้ดี จะพบว่า นายคาร์นีย์ อาจจะไม่สามารถมีอิสระในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ดังเช่นนายเบอร์นันเก้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ

หนึ่ง องค์ประกอบของสมาชิกธนาคารกลางอังกฤษที่ให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการดูแลอัตราเงินเฟ้อมี อยู่เพียงแค่หนึ่งในสามของทั้งหมด ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐกว่าร้อยละ 80 ของสมาชิกเฟดให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า

สอง หากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบันนั้น ธนาคารกลางอังกฤษยังไม่สามารถจัดการให้อยู่ในขอบเขตที่เป็นเป้าหมายได้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การที่จะขยับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่สหรัฐทำอยู่ในตอนนี้นั้น คงทำได้ยากกว่า

ผู้เขียนมองว่า ในขณะนี้ นายธนาคารกลางของประเทศยักษ์ใหญ่กำลังอาจจะได้รับอิทธิพลหรือแรงจูงใจเล็กๆ (Moral Hazard) จากนายธนาคารกลางท่านอื่นในการใช้นโยบายการเงินแบบไม่ปกติ (Unconventional Monetary Policy) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รวมถึงหากมองไปในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็น นางแจเนต เยลเลน ตัวเก็งประธานเฟดคนใหม่ นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป ว่าที่ประธานแบงก์ชาติญี่ปุ่น รวมถึงนายคาร์นีย์เอง ล้วนแล้วแต่จะถูกสร้างแรงจูงใจจากเพื่อนนายธนาคารกลางให้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้น้อยหน้ากัน ซึ่งก็อาจเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากควรจะนำเศรษฐกิจโลกออกจากภาวะถดถอยเสียก่อน จึงค่อยคิดถึงเรื่องอื่นต่อ ทว่าก็เสี่ยงต่อการเกิดสงครามค่าเงินในระยะต่อไปครับ

หมายเหตุ หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “จิบกาแฟ ท่องเน็ต เล่นหุ้น...ก็รวยได้” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 มีวางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สัญญาณใหม่ ประธานธนาคารอังกฤษ

view