สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ชาติยึดหลักสากล ป้องกันการเมืองแทรก

แบงก์ชาติยึดหลักสากล ป้องกันการเมืองแทรก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




แบงก์ชาติยืนยัน พ.ร.บ.ธปท.ปี"51 เหมาะสมสอดคล้องหลักสากล ตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อตัดสินใจด้านนโยบาย ป้องกันการเมืองแทรก

ความพยายามของภาครัฐที่กดดัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่เชื่อกันว่าเข้ามาเล่นเก็งกำไรในส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย จนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และเป็นที่มาซึ่งทำให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือแสดงความห่วงใยส่งตรงถึง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. เพื่ออ่านให้ คณะกรรมการธปท.ได้รับทราบ

พร้อมกันนี้ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะว่า กฎหมาย ธปท. ให้อิสระการดำเนินงานแก่ ธปท. มากเกินไปจนไม่ฟังเสียงของทางรัฐบาล อันเป็นที่มาของกระแสซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันว่า รัฐบาลอาจแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.

นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า กฎหมาย พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธปท. ปี 2551 ถือเป็นกฎหมายที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ก็ใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป

สำหรับกฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.ฉบับนี้ แม้จะผ่านสภาฯ ในสมัย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) แต่ตัวเนื้อหาของกฎหมายมีการศึกษากันมาตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยมี นายนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธปท. เป็นประธานคณะทำงานที่ศึกษาตัวกฎหมายฉบับนี้

"กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มคิดปี 51 แต่ทำกันมาก่อนหน้านั้นตั้งนานแล้ว โดยมีอดีตผู้ว่าฯ นุกูล เป็นประธานคณะทำงานศึกษา คนส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า “นุกูล รีพอร์ต” โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่หลังวิกฤติปี 40 มา ซึ่งตอนนั้นท่านบอกว่าต้องทบทวน เพราะสมัยก่อนวิกฤติปี 40 ได้ให้อำนาจผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นคนตัดสินใจคนเดียว จึงไม่ถูกต้อง"นายชาญชัยกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า คณะทำงานชุดนั้นได้ศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆ อยู่นาน และเห็นว่าประเทศไทยควรมีคณะกรรมการอย่างน้อย 2 ชุด ในการดูแลนโยบายด้านต่างๆ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) ส่วนคณะกรรมการระบบการชำระเงิน(กรช.) เพิ่งมามีขึ้นในช่วงหลัง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีปัญหาในเรื่องระบบการชำระเงิน

นอกจากนี้ ทางธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ก็เคยศึกษาเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะแยกคณะกรรมการซึ่งมีอิสระในการตัดสินใจด้านนโยบายออกมา

"พวกนี้ในต่างประเทศ อย่างเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ ก็ศึกษามาแล้ว และก่อนที่จะออกกฎหมายตัวนี้ ท่านผู้ว่าฯ นุกูล ก็ดูกันมานาน ซึ่งจริงๆ กฎหมายฉบับนี้เสนอเข้ากระทรวงการคลังตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ แต่เพิ่งมาผ่านสภาในสมัยคณะรัฐประหาร ดังนั้นแม้กฎหมายฉบับนี้จะผ่านในสมัยรัฐบาลของคณะรัฐประหาร แต่ตัวกฎหมายศึกษากันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว"นายชาญชัยกล่าว

สำหรับวัตถุประสงค์ที่ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระแยกออกมา เพื่อการตัดสินใจทางด้านนโยบายนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า ก็เพื่อจะถ่วงดุลอำนาจการตัดสินใจของ ธปท. และยังป้องกันการแทรกแซงจากฝั่งการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เพราะการทำนโยบายนั้นหลักคิดทางการเมือง กับทางนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จึงต้องมีกลุ่มคนที่คอยมองเสถียรภาพระยะยาวมาช่วยถ่วงดุลด้วย

"กฎหมายตัวนี้ ต่างประเทศ ก็ใช้แนวลักษณะนี้ คือ มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระแยกออกมา ซึ่งช่วยลดการแทรกแซงจากการเมืองได้ระดับหนึ่ง วัตถุประสงค์เพื่อ ป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามา ซึ่งหลักคิดง่ายๆ และมีการศึกษาโดยเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ แล้ว คือ รัฐบาลทุกชุดที่เข้ามาไม่เฉพาะประเทศไทย เขามองระยะสั้นเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ได้มองเสถียรภาพระยะยาวว่าจะเป็นอย่างไร จึงต้องมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คอยมองเสถียรภาพระยะยาวให้ จึงเป็นที่ยอมรับว่า เรื่องการคลังให้เป็นของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกด้านที่คอยดึง คือ การเงิน จึงมองว่าเรื่องการเงินควรแยกออกมา"นายชาญชัยกล่าว

ส่วนกระแสข่าวเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐบาลที่อาจพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธปท. หลังมองว่าให้อำนาจ ธปท.มากเกินไปนั้น เขากล่าวว่า ไม่ทราบในเรื่องนี้เลย เพียงแต่เห็นว่า การแก้กฎหมายคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่งจะต้องคิดให้รอบคอบ และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า แก้เพื่ออะไร ซึ่งถ้ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะแก้ไขจริง ก็คงต้องมาหารือกับทางธปท.ก่อนอยู่ดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แบงก์ชาติ ยึดหลักสากล ป้องกัน การเมืองแทรก

view