สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินร้อน ท่วมไทยเสี่ยงยาว3ปี ปู บี้คลังเว้นเก็บภาษีธุรกิจดันลงทุนนอก

จากประชาชาติธุรกิจ

นักเศรษฐศาสตร์เตือนไทยเสี่ยงสะสมความเปราะบาง แนะทำแผนรับมือ "เงินร้อน" ผันผวนยาว 3 ปี ให้เร่งสกัดเก็งกำไร "อสังหาฯ-หุ้น" ก่อนลามฟองสบู่ "ปู" บี้ปลัดคลังจัดแพ็กเกจหนุนคนไทยไปลงทุน ตปท. เว้นเก็บภาษีกำไร-ปันผล ระวังเงินไหลกลับกะทันหัน สศค.ยันหนี้สาธารณะยังต่ำมีช่องให้ใช้เงินรับความเสี่ยง
เตือนรับมือเงนร้อนไหลเข้า 3 ปี



ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ขณะนี้เงินไหลเข้าเอเชียจำนวนมาก ผ่านช่องทางต่าง ๆ จะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีกนาน ขณะเดียวกันก็จะเกิดความผันผวนจากการที่เงินไหลเข้าและออกอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องมองสถานการณ์ให้ทะลุถึงช่วงที่เงินไหลออกด้วย เพราะทุกครั้งที่เงินไหลเข้าจำนวนมากก็จะมีเงินไหลออกจำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเกิดหตุการณ์เงินไหลออก เพราะสหรัฐประกาศชัดว่าปี 2015 จะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก่อนจะขึ้นดอกเบี้ยจะต้องมีการดึงสภาพคล่องกลับ ฉะนั้นคนที่ไปกู้ยืมมาก็ลำบาก

"ฉะนั้น 3 ปีข้างหน้าจะเป็น 3 ปีที่สำคัญ ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการสะสมความเปราะบางเอาไว้ในตัวเองมากเกินไป จนวันที่เงินไหลออกแล้วทุกอย่างจะถล่มลงมาได้ง่าย"

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ถ้าไม่อยากเสี่ยงเจอวิกฤตก็อาจต้องมีมาตรการออกมาชะลอ เพราะไม่ต้องไปรอให้เกิดวิกฤต เพราะถึงตอนนั้นปัญหาทุกอย่างก็แก้ไขไม่ได้แล้ว โดยปัญหาเงินไหลเข้าควร "จ่ายยาตามอาการ" เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุดมากกว่า เช่น กังวลปัญหาสภาพคล่องล้นเข้ามาเก็งกำไรอสังหาฯ จนเป็นความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ ก็ออกมาตรการเข้มงวดในตลาดอสังหาฯ หรือถ้ามองว่าสถาบันการเงินเป็นหัวใจที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ ก็หามาตรการมาคุมที่การปล่อยสินเชื่อ คุมเข้มคุณภาพหนี้

ส่วนภาคธุรกิจเอกชนตอนนี้มีสถานะงบดุลแข็งแกร่งอยู่แล้วก็ระมัดระวังอย่าไปก่อหนี้ต่างประเทศเยอะ

จุดเริ่มต้นของฟองสบู่

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า จะเห็นว่าช่วงนี้ทุกอย่างดูดี ไม่ว่าจะเป็นตลาดอสังหาฯ ตลาดหุ้น รวมทั้งสินเชื่อธนาคาพาณิชย์ที่มีกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ค่อนข้างคึกคัก สถานการณ์ขณะนี้จะทำให้ประเทศไทยสะสมความเปราะบางของระบบ

เศรษฐกิจ ทำเกินความพอดี ขณะนี้ยังไม่เห็นฟองสบู่ แต่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นฟองสบู่ของอสังหาฯ ตลาดหุ้น และหนี้ภาคครัวเรือน

"ขณะนี้เห็นว่าตลาดหุ้นที่มีกิจกรรมมากจนน่าคิด โดยเฉพาะหุ้นที่ขึ้นแรง ๆ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นเล็ก ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ธปท.ก็ต้องไปคิดออกมาตรการไปควบคุมเฉพาะจุด ทั้งหมดต้องจ่ายยาตามอาการให้เราอยู่กับเงินที่ไหลเข้าได้ แต่ไม่ใช่ไปฝืนตั้งกำแพงไม่ให้เงินไหลเข้า เพราะจากประสบการณ์เวลาทำมาตรการจะมีช่องโหว่ และช่องโหว่ที่สำคัญก็คือตลาดพันธบัตร" ดร.กอบศักดิ์

กล่าวและว่า

ที่สำคัญคือมาตรการสกัดเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีผลเฉพาะต่างชาติ แต่คนไทยห้ามไม่ได้ และหลายครั้งคนที่เล่นค่าเงินไม่ใช่ต่างชาติ แต่คือคนไทยและผู้ส่งออกที่ตื่นแห่ป้องกันความเสี่ยงตามคำแนะนำของ ธปท.มากเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบตามมา

"นอกจากนี้ความเสี่ยงคือทุกประเทศในเอเชียอยู่ในสภาพเดียวกันคือ เงินไหลเข้า เราไม่รู้ว่าประเทศเพื่อนบ้านไหนที่มีปัญหา ถ้าไฟไหม้ใกล้บ้าน เราจะเตรียมรับบวิกฤตนี้อย่างไร ดังนั้นถ้าในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศยังดี รัฐบาลเก็บภาษีเกินเป้า สามารถลดภาระหนี้ได้บางส่วนก็จะทำให้ด้านการคลังประเทศมีช่องว่างพอที่จะทำ มาตรการออกมาช่วยเมื่อเกิดวิกฤตเพราะปัญหาของยุโรปคือรัฐบาลมีหนี้เยอะ พอเกิดวิกฤตไม่สามารถก่อหนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก"

ชงยกเว้นภาษีจูงใจลงทุน ตปท.

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อจัดทำมาตรการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น อีกทั้งถือเป็นการลดแรงกดดันของภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายให้ลดความร้อนแรงลง เพื่อทำให้เกิดความสมดุลด้านเศรษฐกิจ

หนึ่งในมาตรการที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา คือ ยกเว้นการเก็บภาษีเงิน กำไรที่นำกลับเข้าประเทศ หลังจากบริษัทไปลงทุนในต่างประเทศให้เหลือ 0% หรือพิจารณาลดขั้นบันไดของภาษีลงให้ต่ำกว่าระดับเดิม จากปัจจุบันที่เก็บภาษีเงินกำไรนำเข้าอยู่ที่ 30% เพื่อเอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อลดปัญหาเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากปกติผู้ที่ไปลงทุนต่างประเทศต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลในประเทศที่ไปลงทุนอยู่แล้ว

"ทั้งนี้จะมีมาตรการอื่นเป็นแพ็กเกจหลาย ๆ ข้อ ซึ่งทาง สศค.กำลังเร่งพิจารณา พร้อมกันนี้ได้ไปหารือกรมสรรพากรแล้วในเบื้องต้น ว่าหากมีการลดหรือยกเว้นจะกระทบต่อฐานะทางภาษีมากน้อยแค่ไหน และได้ฝากไว้ให้กลับไปศึกษาถึงประเด็นเหล่านี้ และจากที่ปลัดคลังได้หารือกับนายกฯวานนี้ นายกฯก็ให้คลังเร่งทำมาตรการออกมาให้เร็วที่สุด" นายสมชัยกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญปลัดทุกกระทรวงเข้าประชุม โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรการทางภาษีเพื่อเอื้อให้นักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศ

3ม�ตรก�รรับมือพ�ยุงเงินร้อน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเพื่อรับมือปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้า/ออกรวดเร็วนั้น ที่ต้องทำทั้งระยะสั้น กลางและยาว ซึ่งระยะสั้นสำคัญมาก เพราะเงินไหลเข้าออกเร็ว ซึ่งคนเดียวที่จะทำได้ก็คือ ธปท. ในการที่จะเข้าไปแทรกแซงแต่ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าที่จะไปถือดอลลาร์ เป็นเรื่องที่ ธปท.จะต้องทำไม่ให้ค่าเงินแข็งกว่าภูมิภาค เพื่อดูแลผู้ส่งออก

สำหรับระยะกลางคือการเปิดช่องให้เงินออกไปเร็วที่สุด ภายใต้ช่องทางเดิมที่มีอยู่ โดยกระทรวงการคลังก็มีนโยบายในช่วงบาทแข็งให้รัฐวิสาหกิจชำระคืนหนี้เงินตราต่างประเทศก่อนกำหนด พร้อมกับการเร่งลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ปีนี้มีงบฯลงทุนราว 3.6 แสนล้านบาท เกือบครึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งหากบริหารจัดการตรงนี้ช่วงบาทแข็ง ต้นทุนรัฐวิสาหกิจก็จะถูกลง ประหยัดงบประมาณ และช่วยลดการแข็งค่าของเงินได้

สำหรับมาตรการระยะยาว คือ การสร้างแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนให้เอกชนไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังร่วมกับบีโอไอ เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ ในการยกเลิกภาษีการนำกำไรหรือเงินปันผลกลับเข้าประเทศ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ในการให้บีโอไอทำให้เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมผู้ประกอบการไปลงทุนต่างประเทศ รวมถึงการตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนธุรกิจไปลงทุนต่างประเทศ

"ประเทศไทยจะประสบปัญหาจากปริมาณเงินที่ล้นโลกอีกนานดังนั้นการบรรเทาพายุเงินร้อนที่เกิดขึ้นจะต้องใช้ทั้ง 3 มาตรการ ดังนั้นระยะสั้น ธปท.ต้องเข้าไปดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนเพื่อเอกชนจะได้ทำธุรกิจต่อไปได้ แต่ระยะยาวหากเราคิดเหมือนญี่ปุ่นในอดีต คือต้องพยายามย้ายฐานการผลิต อัพเกรดแรงงาน ทำอะไรที่เป็นคุณภาพมากยิ่งขึ้น วันนี้ถึงจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทย คือเปลี่ยนโครงสร้าง พื้นฐานให้เอื้อต่อเอกชนไทยไปเติบโตในต่างประเทศ เพื่อบรรเทาพายุเงินร้อน"

หนี้สาธารณะต่ำพร้อมรับมือ

ขณะเดียวกัน ดร.เอกนิติยืนยันว่า วันนี้ฐานะการคลังของประเทศยังมีช่องว่างสำหรับรับมือเงินร้อนในการที่จะนำเครื่องมือต่าง ๆ ออกมาใช้ หนี้สาธารณะ 44% เป็นการรวมหนี้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ถ้าเทียบกับมาตรฐานยุโรปที่มีเพดาน 60% จะดูเฉพาะหนี้รัฐบาล ซึ่งถ้าประเทศไทยดูเฉพาะหนี้รัฐบาลจริง ๆ จะเหลือประมาณ 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯที่มีการจัดการเรียบร้อย รู้ว่าใครจ่ายต้น ใครจ่ายดอกเบี้ย

แสดงให้เห็นว่าเรามีช่องว่างทางการคลังที่ใช้ได้และเรากำลังจะทำอยู่ นั่นก็คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นแผนการลงทุนระยะกลาง-ยาว เพราะงบประมาณแต่ละปีถูกตั้งรวมกับงบฯประจำต่าง ๆ ก็เกิดการแย่งงบฯกัน เหลืองบฯลงทุนไม่ถึง 5% ของจีดีพี จึงต้องมีแผนการลงทุนตรงนี้เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องระยะยาว แต่โจทย์สำคัญที่กระทรวงการคลังกำลังจะทำคือทำอย่างไรให้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านมีวินัยการคลัง โปร่งใสให้ไม่น้อยกว่าวินัยการคลังในงบประมาณประจำปี

นโยบายการลงทุนตรงนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินร้อนเพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีการนำเข้าสูงก็ช่วยลดพายุเงินร้อนได้ แม้จะไม่ใช้เป้าประสงค์หลัก เพราะเป้าหมายหลักก็คือการเพิ่มศักยภาพประเทศและลดต้นทุนการขนส่ง

ธปท.ติดตามเก็งกำไรอสังห�ฯ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากที่มีการกล่าวถึงสัญญาณเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้มีทีมเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอยู่ แต่ยังไม่มีข้อเสนอว่าต้องปรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือแอลทีวี (Loan to Value) โดยต้องดูที่สินเชื่อว่าการขยายตัวของ

สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรืออสังหาริมทรัพย์ จะกระทบระบบเศรษฐกิจแรงหรือไม่ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว เมื่อดูการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังอยู่ในระดับปกติ ไม่สูงเกินไป อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ก็มีระบบดูแลอยู่ระดับหนึ่ง แม้ ธปท.จะกำหนดแอลทีวี ธนาคารพาณิชย์จะทำเข้มกว่าก็ได้อยู่แล้ว

"การที่มีทีมงาน ธปท.เฝ้าติดตามเรื่องนี้ เพราะเราต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเราได้ศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศ แล้วรู้ว่า ปัญหาอาจมาในรูปแบบของเสถียรภาพราคา ด้วยเหตุนี้จึงได้ริเริ่มให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อดูแลระบบเสถียรภาพการเงินและสร้างระบบข้อมูลเพื่อใช้ติดตามวิเคราะห์" นายประสารกล่าว

ประสารยันเงินสำรองพอ

ส่วนสถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และอาจมีผลทำให้ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงในระยะสั้น ๆ ถัดจากนี้ นายประสารให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของทางสหรัฐมากกว่าของไทย และตลาดเงินมักจะคาดการณ์ไปล่วงหน้า เนื่องจากในวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์นี้ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด จะต้องแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรส

"เป็นคำถามของธนาคารกลางทั่วโลกอยู่แล้วว่า เมื่อถึงวันหนึ่งที่เฟดหยุดทำเรื่องนี้แล้วดึงเงินกลับ สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะเป็นอย่างไร และนี่ก็เป็นเหตุหนึ่งว่าทำให้ ธปท.ต้องรักษาเงินสำรองเอาไว้ เผื่อสถานการณ์แบบเงินไหลกลับด้วย" นายประสารกล่าวและว่า

ปัจจุบัน ธปท.มีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ 2 แสนล้านดอลลาร์ และมีหนี้ต่างประเทศอยู่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหากมีสถานการณ์เงินไหลออก ธปท.ก็มีเงินสำรองเพียงพอ

"ธปท.ต้องถือดอลลาร์ไว้เพื่อรักษาประเทศของเรา ทั้งที่รู้ว่ากำลังอ่อนค่า เราก็เหนื่อย ก็ขาดทุน แล้วคนก็มาชี้ว่าแบงก์ชาติทำไมต้องขาดทุน นั่นเพราะเรารู้ว่าโลกมันไม่แน่นอน ถ้ามันพลิกไปอีกข้างหนึ่ง แล้ววันใดวันหนึ่งคนอยากจะได้ดอลลาร์ออกไป ธปท.จะเป็นด่านสุดท้ายของประเทศ เราก็ต้องเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะเราต้องรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศให้ได้" นายประสารกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินร้อน ท่วมไทย เสี่ยงยาว ปู คลัง เว้นเก็บภาษีธุรกิจ ดันลงทุนนอก

view