สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วงวิชาการถก-ชำแหละ ชนชั้นนำอาเซียน

จากประชาชาติธุรกิจ

วงวิชาการถก-ชำแหละ "ชนชั้นนำอาเซียน"

 

การดำรงอยู่ของ "ชนชั้นนำ"เป็นจุดร่วมของสังคมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีบทบาทยิ่งต่อการเมืองเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ในความเข้าใจเบื้องต้นอาจกล่าวได้ว่า "ชนชั้นนำ" มีที่ยืนเด่นในสังคมเป็นที่ถูกจับตามองและสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ด้วยสถานะที่ตนดำรงอยู่


ส่วนในสายตาประชาชนคนธรรมดาอาจกล่าวได้ว่า "ชนชั้นนำ" เป็นบุคคลพิเศษที่ได้รับ "อภิสิทธิ์" ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรในสังคมเดียวกันได้มากกว่า รวดเร็วกว่า โดยไร้มาตรฐานการตรวจสอบ

 

เมื่อ "ความเท่าเทียม"ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้างของบรรดาประเทศอุษาคเนย์ การทำความเข้าใจกับชนชั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกทำให้แพร่หลาย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการประจำปีอุษาคเนย์ 2556เพื่อขยายความรู้ในประเด็น "ชนชั้นนำ"จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ "ชำแหละ!! ข้อดี หรือ เล่ห์กลชนชั้นนำอาเซียน"



 



จุดเกิด "ชนชั้นนำ"

 

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ"อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ชนชั้นนำ" หรือในภาษาอังกฤษว่า "Elite" เป็นการนิยามทฤษฎีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยนักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาชาวตะวันตก ที่เข้ามาศึกษาสังคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เหล่า นักสังคมวิทยามองความเปลี่ยนแปลงจากสังคมโลกเก่ามาสู่สมัยใหม่โดยเห็นว่ามี กลุ่มคนหนึ่งจะสามารถนำมาได้ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของประเทศในแถบนี้นั่นก็คือ "ชนชั้นนำ"

 

ทฤษฎี "ชนชั้นนำ" เกิดมาจากทฤษฎีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสังคมเข้าสู่สมัยใหม่หรือระบบ Modernization ที่เกิดการขยายอาณานิคมของประเทศตะวันตกมายังประเทศแถบตะวันออก หลังประสบความสำเร็จในการสร้างระบบอุตสาหกรรมขึ้นในสังคมพร้อมๆ กับการพัฒนาระบบการเมืองในโลกตะวันตกที่เริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

 

 

"ชนชั้นนำใหม่ในอาเซียน"

 

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" ให้มุมมองว่าแต่เดิมชนชั้นนำในอาเซียนคือ กลุ่มผู้นำที่สืบทอดมาตามจารีตประเพณี ศาสนาและบุญบารมีที่สั่งสมมาในอดีต เรียกได้ว่า "ชนชั้นนำทางจารีต"


ส่วนในปัจจุบัน หลังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการเปลี่ยนแปลงสังคมเข้าสู่สมัยใหม่มาแล้วอำนาจของชนชั้นนำจึงไม่ได้เป็นไปในแนวดิ่งอย่างเดียวหลายประเทศแถบนี้อำนาจเหล่านั้นถูกบั่นทอนไปเกือบหมดแล้วในสมัยล่าอาณานิคมของตะวันตกส่วนไทยถือว่ารักษา"ชนชั้นนำทางจารีต"ไว้มากสุด

 

"ชนชั้นนำสมัยใหม่"จะขึ้นมาอยู่ในอำนาจพร้อมกับการมาของเศรษฐกิจระบบทุนนิยม ดังนั้น ปัจจัยทางการศึกษาและเศรษฐกิจจึงส่งผลอย่างสูงต่อการขึ้นมาเป็น "ชนชั้นนำสมัยใหม่"


กรณี ของไทยเห็นได้ชัดเจนจากการที่นักเรียนนอกก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำสมัยใหม่โดย ตำแหน่งขุนนางในกระทรวงต่างๆแต่ยังคงมีอำนาจทางชนชั้นที่สืบทอดมาจากชาติ ตระกูลอยู่ส่งผลให้ไทยยังมีบุคคลในระดับบริหารประเทศตำแหน่งสูงๆมาจากชาติ ตระกูลที่เป็น"ชนชั้นนำทางจารีต"อยู่

 

ด้าน "ดุลยภาค ปรีชารัชช"อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มุมมองของ "ชนชั้นนำสมัยใหม่" ว่า ทุนนิยมข้ามชาติเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของอำนาจชนชั้นนำการรวมอาเซียนที่ใช้ความ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำทำให้อำนาจของชนชั้นนำในอาเซียนวัดกันที่ นโยบายการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจและความแข็งแรงของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ

 


 



"ชนชั้นนำ" จำต้องถูก"ชำแหละ" ???

 

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" กล่าวว่าสังคมมีภาพชนชั้นนำในด้านลบ หากต้องมองว่าเราจำต้องชำแหละชนชั้นนำ ซึ่งหากมองชนชั้นนำในสังคมอุษาคเนย์ในรุ่นแรก ตรงกัช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนมาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ไม่ว่าจะเป็น โฮจิมินห์นักปฏิวัติและประธานาธิบดีของชาวเวียดนาม, ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย, นายพลอองซานนักปฏิวัติคนสำคัญของพม่า รวมถึงอ.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ของไทย


ชนชั้นนำรุ่นแรกเหล่านี้มีที่มาจากบริบททางการเมือง ด้วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อต้านลัทธิอาณานิคม และสู้เพื่อเอกราช ด้วยคุณสมบัติและคุณูปการของชนชั้นนำรุ่นนี้เราไม่สามารถ "ชำแหละ" พวกเขาได้เลย เราต้อง "ยกย่อง"เท่านั้น

 

ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าชนชั้นนำนั้นเลวร้ายและต้องถูกชำแหละจึงไม่จริงเสมอไปและใช้อธิบายไม่ได้กับชนชั้นนำรุ่นแรกในสังคมอุษาคเนย์

 

ความเข้าใจที่ว่า "ชนชั้นนำ"จำต้องถูก "ชำแหละ" เพิ่งมาเกิดในยุคหลัง


เนื่องจากชนชั้นนำในยุคหลังไม่มีความเป็นอิสระในการใช้อำนาจถูกบงการจากอำนาจนอกประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ และขยายอิทธิพลเข้ามาสู่อุษาคเนย์เพื่อคานอำนาจกับโซเวียต และยึดเอาดินแดนในภูมิภาคนี้เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติ


จุดมุ่งหมายของสหรัฐฯที่ชัดเจนคือ การควบคุมชนชั้นนำในอุษาคเนย์ให้ขึ้นอยู่กับตนเท่านั้น

 




ข้อสำคัญอีกประการคือชนชั้นนำรุ่นใหม่ในอุษาคเนย์ยุคที่สหรัฐฯแผ่อำนาจนี้ ไม่มีฐานมวลชนในประเทศรองรับไม่มีความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ


ดังนั้น การเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศยุคนี้จึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นในกรณีของไทย เห็นได้ชัดเจนจากการที่กองทัพยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร ส่งผลให้อ.ปรีดี ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ นับแต่ปี 2490

 

"หน ทางประชาธิปไตยในการสร้างความชอบธรรมให้ชนชั้นนำจึงไม่เกิดขึ้นเปิดโอกาสให้ หนทางในการใช้ระบอบอำนาจนิยมเข้ามาสู่การขึ้นมาของชนชั้นนำรุ่นหลัง"

 

กรณีชัดเจน ราวช่วงปี 2510 ชนชั้นนำหลายประเทศในอุษาคเนย์ ดึงเอาอำนาจนิยมเข้ามาปกครองโดยไม่อิงการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาแต่อย่างใด ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ของไทย, ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย และมาร์กอส ในฟิลิปปินส์


ส่งผลให้ ชนชั้นนำเหล่านี้มีอำนาจมากตรวจสอบไม่ได้ และดึงเอาพรรคพวกเดียวกันมามีบทบาท ส่งผลให้เกิดการ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" 

 

ส่งผลให้ชนชั้นนำรุ่นใหม่ไม่มีความชอบธรรมในการครอบครองอำนาจตามวิถีประชาธิปไตยและเป็นจุดเริ่มของภาพลักษณ์ด้านลบของชนชั้นนำในสังคม

 

 

ความพิสดารของ "ชนชั้นนำ" อาเซียน

 

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ"ตั้งข้อสังเกตุถึงที่มาของ "ชนชั้นนำ" อาเซียนเปรียบเทียบกับการขึ้นมาเป็น "ชนชั้นนำ" โดยยกกรณีการขึ้นเป็นผู้นำของ"โอบามา" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หากจำลองภาพนั้นว่าเกิดขึ้นในสังคมไทยจะเปรียบเทียบได้ว่า "โอบามา" เป็นลูกหลานของชนเผ่าส่วนน้อยในสังคมอาจเทียบได้กับเผ่าปะกากะญอ หรือกระเหรี่ยงในไทย ซึ่งหากชนกลุ่มน้อยในไทยได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเกิดการถกเถียงและวิจารณ์แน่นอน

 

แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ถูกตั้งคำถามในสังคมอเมริกาและทั่วโลก เนื่องจากการขึ้นมาเป็นผู้นำของ"โอบามา" คือ การขึ้นมาตามระบอบรัฐธรรมนูญ ในวิถีทางประชาธิปไตยเป็นการขึ้นทางอำนาจมีกระบวนการที่แน่นอน ที่มีกฎหมายกำกับซึ่งเป็นกระบวนการที่สูงส่งและศิวิไลซ์แล้วนั่นเองส่วนการขึ้นมาของชนชั้นนำไทยเป็นไปในทางตรงข้าม

 

นี่จึงเป็นความพิสดารอีกประการของ"ชนชั้นนำในอุษาคเนย์"

 


การอยู่รอดของ "ชนชั้นนำ"

 

"ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" กล่าวว่า ที่ผ่านมาชนชั้นนำทางอำนาจของไทยอยู่รอดได้เพราะความสามารถในการสร้างรัฐและอำนาจทั้งนี้ สังคมไทยสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านผู้นำด้วยอำนาจมาโดยตลอด


พูดได้ว่าชนชั้นนำทางอำนาจของไทยไม่มีความสุขเลยตราบเท่าที่การใช้อำนาจนอกระบบยังมีอยู่

 

ส่วนชนชั้นนำทางเศรษฐกิจนั้นอาศัยการอยู่รอดโดยอิงฝ่ายกุมอำนาจรัฐเป็นหลักในขณะที่ระบบการเมืองไม่มั่นคง

 

ที่ผ่านมาชนชั้นนำไทยไม่เคยมีประสบกับการจัดการปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องจากการเข้าถึงทรัพยากรมาก่อน


บรรดา ชนชั้นนำมีเพียงปัญหาแย่งชิงอำนาจในแวดวงกันเองส่วนในอนาคตการอยู่รอดของชน ชั้นนำจะขึ้นอยู่กับระบบการเมืองประชาธิปไตยว่าจะเปิดกว้างและอิงอยู่กับ ประชาชนหมู่มากเพียงใด

 

"โจทย์ สำคัญคือชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจต้องแก้ปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร ของประชาชนให้ได้หากยังแก้ปัญหาแบบเดิมๆโดยการใช้กำลังทำลายหรือฆ่าดังที่ ผ่านมาอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว


ดัง นั้นทางออกของสังคมหากเกิดปัญหาเช่นนี้คือชนชั้นนำต้องยอมรับความหลากหลายใน สังคมทั้งภาครัฐและภาคประชาชนถึงจะอยู่ได้หากคิดถึงแต่ประโยชน์เฉพาะส่วนจะ อยู่ไม่รอด"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วงวิชาการ ชำแหละ ชนชั้นนำ อาเซียน

view