สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กัมพูชารุกกองทัพเจาะปราการด่านสุดท้าย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

สัญญาณอันตรายเริ่มตั้งเค้าอีกรอบ หลัง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อม พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก นำคณะร่วมรับประทานอาหาร และหารือกับ พล.อ.เตียบันห์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กัมพูชา ที่บริเวณปราสาทพระวิหาร วานนี้

แม้จะเป็นการเดินทางเพื่อไปสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกัมพูชา ขยายผลจากจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้หารือกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็เกิดกระแสเป็นห่วงว่าการหารือรอบนี้ พล.อ.อ.สุกำพล กำลังเดินไปหา “หลุมพราง” ที่กัมพูชาวางเอาไว้หรือไม่

เมื่อพื้นที่ปราสาทพระวิหารเวลานี้ ถือเป็นจุดล่อแหลมทาง ยุทธศาสตร์ทั้งไทยและกัมพูชา ที่กำลังมีข้อพิพาทอยู่ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 และศาลได้นัดให้ทั้งสองประเทศมีถ้อยแถลงวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ทุกก้าวย่างจึงสุ่มเสี่ยงต่อการที่กัมพูชาจะหยิบยกไปใช้ประโยชน์ ทั้งในระหว่างพิจารณาคดีรวมไปถึงหลังพิจารณาคดี เพราะชัดเจนว่านี่เป็นเกมที่ทาง “กัมพูชา” บีบให้ไทยต้องเดินทางไปหารือที่ปราสาทพระวิหาร แทนที่จะเลือกพื้นที่กลางๆ อย่างโรงแรมสุรินทร์มาเจสติก จ.สุรินทร์ ตามแผนเดิม

คำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ตั้งข้อสังเกตโดยย้อนบทเรียนในอดีต เมื่อครั้ง พ.ศ. 2472 สมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีหรือ รมว.มหาดไทย เดินทางไปยังปราสาทพระวิหารพบเห็นการปักธงฝรั่งเศส แต่ไม่ได้ทักท้วง เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ประเด็นนี้ได้ถูกหยิบยกมาปิดปากประเทศไทยว่าการไม่คัดค้านเสมือนกับเป็นการ ยอมรับ

ดังนั้น จึงเรียกร้อง พล.อ.อ.สุกำพล ว่าหากพบเห็นการปักสัญลักษณ์ หรือการตั้งชุมชนในพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาอยู่ขณะนี้ ขอให้ดำเนินการประท้วงทั้งการให้ข่าว และออกแถลงการณ์ หากเพิกเฉยอาจจะเสียเปรียบในคดีที่ศาลโลกได้

ไม่ต่างจาก ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการประวัติศาสตร์ ที่มองว่าไม่ควรยอมให้กัมพูชาใช้พื้นที่พิพาทอย่างปราสาทพระวิหารเป็นสถาน ที่เจรจา เพราะจะสะท้อนว่าไทยกำลังตกเป็น “เบี้ยล่าง” และจะเป็นการแพ้ทางจิตวิทยาที่คนระดับ รมว.กลาโหมต้องยอมกัมพูชา ซึ่งจะมีผลต่อการต่อสู้ต่อไปจากนี้ และมีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจเสียเปรียบซ้ำรอยอดีต

ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ผลกระทบจากการไปเจรจาที่ปราสาทพระวิหารนั้น หากมองในแง่ดีก็คงจะไม่มีผลกระทบไปถึงคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลโลก เพราะรายละเอียดต่างๆ ที่จะไปให้ถ้อยแถลงต่อศาลในเดือน เม.ย.นี้ น่าจะเตรียมข้อมูลเสร็จแล้ว

ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชา ที่จะนำไปใช้หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะมีแนวคำตัดสินที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยหรือฝ่ายกัมพูชา หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ปณิธาน ยกตัวอย่างว่า หากเกิดคำตัดสินของศาลโลกออกมาเป็นประโยชน์กับทางกัมพูชา และฝ่ายไทยเกิดไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทางกัมพูชาก็อาจจะนำข้อมูลพฤติกรรมของฝ่ายไทยที่เก็บรวบรวมเหล่านี้ออกมา เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการปลุกกระแสในเวทีนานาชาติโจมตีประเทศไทยต่อไปได้

ดังนั้น การเจรจาในครั้งนี้จึงคาดว่าจะเป็นการพูดคุยหยั่งท่าทีของไทย ต่อคดีเรื่องพระวิหาร ซึ่งทางกัมพูชาก็ต้องการทราบท่าทีของไทยว่า หากคำวินิจฉัยของศาลออกมาเป็นประโยชน์กับกัมพูชา ทางฝั่งไทยจะยอมรับหรือไม่ ทั้งเรื่องการถอนทหาร เรื่องต่างๆ ว่าจะยอมปฏิบัติตามหรือไม่ เพื่อนำไปประมวลผลของเขาต่อไป

ทั้งนี้ จะเห็นว่าทางกัมพูชามีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบชัดเจนอย่างต่อเนื่อง ต่างกับไทยที่การเจรจาครั้งนี้ดูจะปุบปับกะทันหัน จนน่าเป็นห่วงว่าจะขาดความรอบคอบ และจะส่งผลเสียตามมา ดังนั้นจึงจะต้องระมัดระวังให้มาก

ปณิธาน ยังระบุว่า การเจรจาเช่นนี้ควรมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศไปด้วย และจะพิจารณาว่าสิ่งไหนจะส่งผลกระทบกับไทยบ้างก็จะได้แก้ไขกันต่อไป อย่างเรื่องการทำหนังสือชี้แจงประท้วงในรายละเอียดที่เห็นว่าไม่ถูกต้องและ จะทำให้ไทยเสียเปรียบ หากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่เป็นผลดีตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเดินทางไปสาน สัมพันธ์อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การรุกคืบมากระชับความสัมพันธ์ในระดับ “กองทัพ” ของไทยและกัมพูชา ถือเป็นการต่อยอดจากความสัมพันธ์ของฝ่ายการเมือง เพื่อจะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาในอนาคต เมื่อคำวินิจฉัยของคดีออกมา เพราะดังจะเห็นจากท่าทีของกองทัพที่ส่งสัญญาณจะยืนยันปกป้องอธิปไตยต่อไป ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม

ยุทธศาสตร์ของกัมพูชาเวลานี้จึงต้องพยายามเจาะกองทัพไทยให้ได้ โดยจับจุดเลือกจากฝ่ายที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ซึ่งก็คือฝ่ายนโยบาย ยิ่งในวันที่กองทัพไม่ได้เหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น

ก้าวย่างต่อจากนี้จึงเต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กัมพูชา รุกกองทัพ ปราการด่านสุดท้าย

view