สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินบริจาคภาษีพรรคการเมือง ดัชนีวัดใจฐานเสียง ชนชั้นกลาง

จากประชาชาติธุรกิจ

ในสารบบการเมืองไทย ปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 มีพรรคการเมืองที่ยังมีลมหายใจทั้งสิ้น 45 พรรคการเมือง

หากแต่พรรคการเมืองที่ดำรงชีพบนเก้าอี้ ส.ส.ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน มีเพียง 11 พรรค

แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังชล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคมหาชน

ฝ่ายค้าน 5 พรรค นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครักษ์สันติ พรรครักประเทศไทย พรรคมาตุภูมิ และพรรคภูมิใจไทย

หลัง เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 คณะรัฐประหารกวาดอำนาจที่รุ่งโรจน์ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ซุกลงใต้พรม โค่นอำนาจการบริหารสูงสุดเปลี่ยนจากพลเรือนมาอยู่ในกำมือทหาร

รัฐ ธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ใช้มานานร่วมทศวรรษถูกฉีก ระบอบรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดระบบ 2 พรรคการเมืองพรรคใหญ่ คือ ไทยรักไทย และประชาธิปัตย์ ต้องถูกยกเลิก และการกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีผลทำให้ระบอบพรรคใหญ่ ถูกซ้ำเติม หั่นซอยให้เป็นระบบหลายพรรค

 



แม้หลังรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกประกาศใช้มากว่า 3 ปี รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้กุมอำนาจขณะนั้น ปรับ-เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งใหม่ เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพรรคการเมือง ด้วยการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง จากพวงใหญ่-เรียงเบอร์+ส.ส.สัดส่วน 8 กลุ่ม มาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ควบบัญชีรายชื่อ

จัดสรรดุลอำนาจให้เหลือ เพียง 2 พรรคใหญ่ บนกระดานการเมือง ขณะที่พรรคเล็ก-พรรคน้อย ที่เรียงรายอยู่บนกระดานอำนาจ เป็นเพียงแค่ตัวประกอบ

แต่ในเอกสาร ของกรมสรรพากร ตีตรา "ลับ" ที่ส่งมายังกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง เป็นตารางแสดงบัญชีที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น มนุษย์เงินเดือน คนชั้นกลาง จนถึงผู้มีรายได้สูง

"คนชั้นกลาง" อันเป็นกลุ่มที่ทางภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า "Active Citizen" ได้กากบาท-แสดงเจตนาบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบจำนวน 100 บาท ตามที่รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดไว้

กลับพบว่า มีพรรคการเมือง ระดับ "ตัวประกอบ" หลายพรรค ที่มีคนบริจาคเงินมากกว่าพรรคใหญ่ ๆ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

โดย ในตารางเงินบริจาคให้พรรคการเมืองประจำปี 2553 ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลครบ 1 ปีเต็ม มีจำนวนผู้เสียภาษีบริจาคให้กับพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมทั้งสิ้น 81,819 คน รวมเป็นเงิน 8,181,900 บาท

ขณะที่พรรคเพื่อไทย อันเป็นพรรคนอมินีลำดับ 3 ต่อจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ที่ต้องพลิกเป็นฝ่ายค้านครั้งแรก ในห้วงเวลานั้นมีคนบริจาคทั้งสิ้น 22,440 คน มียอดเงิน 2,244,000 บาท

ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเวลานั้นมีมวลชนเสื้อเหลือง สังกัดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแบ็กอัพ ยังมีพลังตกค้างจากความสำเร็จในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากการเป็นนายกฯ จึงมียอดบริจาคเป็นอันดับ 3 โดยมีคนบริจาคทั้งสิ้น 20,495 คน รวมยอดบริจาค 2,049,500 บาท

มากกว่า พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย 2 พรรคร่วมรัฐบาล มีอำนาจเหนือกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ที่มีประชาชนบริจาครองลงมาเป็นอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ

และพรรคการ เมืองใหม่ ยังมียอดบริจาคมากกว่าพรรคกิจสังคม ของ "สุวิทย์ คุณกิตติ" รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ส่วนพรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคธรรมาธิปัตย์ ก็มีมากกว่าพรรคเพื่อแผ่นดิน ของ "น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล" รมว.พลังงาน ที่มี "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" อยู่เบื้องหลัง

และ เมื่อพลิกดูตารางเงินบริจาคให้พรรคการเมือง ประจำปี 2554 ที่สรุปยอดเมื่อ 9 สิงหาคม 2555 ซึ่งเริ่มบันทึกตั้งแต่ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนถึงห้วงเวลาที่รัฐบาล

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศครบ 1 ปี ในปี 2555 พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นอันดับ 1 แม้จะพ้นจากอำนาจมาเป็นฝ่ายค้านก็ตาม โดยมีจำนวนผู้บริจาค 96,616 ราย เป็นเงิน 9,661,600 บาท เพิ่มจากปี 2553 ทั้งสิ้น 1,479,700 บาท

ส่วน พรรคเพื่อไทย ที่พลิกจากฝ่ายค้านขึ้นสู่อำนาจการบริหารประเทศ มีจำนวนผู้บริจาคเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังห่างจากพรรคประชาธิปัตย์ถึง 3 เท่าตัว โดยมีผู้บริจาคทั้งสิ้น 30,707 คน คิดเป็นเงิน 3,070,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ทั้งสิ้น 826,700 บาท

ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งในปี 2553 เคยรั้งยอดเงินบริจาคภาษีเป็นอันดับ 3 แต่ผ่านมาเพียง 1 ปี หลังเกิดศึก 3 ก๊ก แตกเป็นแผลภายในถึง 3 รอยร้าวระหว่างปีกพันธมิตรฯ ที่มี "จำลอง ศรีเมือง" เป็นแกนนำ ปีก "สมศักดิ์ โกศัยสุข" และปีก "สุริยะใส กตะศิลา" กลับร่วงมาอยู่ที่อันดับ 4 ซึ่งมีผู้บริจาคน้อยกว่าพรรคตัวประกอบอย่างพรรคเพื่อฟ้าดิน ที่มีผู้บริจาคเป็นอันดับ 3

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากกลุ่มที่เป็นแฟนคลับสนับสนุนกำลังทรัพย์ของพรรคการเมืองใหม่ ได้ย้ายตาม "จำลอง" ที่แยกตัวออกมาเดินทางสายเดิม โดยสวมหัวโขนแกนนำพันธมิตรฯ ทิ้งพรรคการเมืองใหม่ให้อยู่ภายใต้ของ "สมศักดิ์" จึงทำให้ยอดเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองใหม่ลดฮวบทันที จากเดิมที่มีถึง 2 ล้านบาท แต่ในปี 2554 ลดลงเหลือเพียง 211,900 บาทเท่านั้น

ส่วนพรรคเพื่อฟ้าดินที่แซงขึ้นเป็นอันดับ 3 มีผู้บริจาคทั้งสิ้น 2,328 คน คิดเป็นเงิน 232,800 บาท มากกว่าพรรคภูมิใจไทย ที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีผู้บริจาคภาษีเพียง 271 คน เป็นเงิน 27,100 บาท

นอกจากนี้ พรรคเพื่อฟ้าดินยังมียอดเงินบริจาคมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทย พัฒนา ของ "บรรหาร ศิลปอาชา" พรรคพลังชล ของ "วิทยา คุณปลื้ม" รมว.วัฒนธรรม

ขณะ เดียวกัน พรรครักประเทศไทย ของ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" มาเป็นอันดับ 5 โดยมีผู้บริจาคทั้งสิ้น 1,992 คน เป็นเงิน 199,200 บาท และอันดับที่ 6 คือ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีจำนวนผู้บริจาคทั้งสิ้น 1,940 คน เป็นเงิน 194,000 บาท มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเช่นกัน

ทั้งหมดเป็นตาราง จำนวนเงินที่ผู้เสียภาษีบริจาคให้แก่พรรคการเมือง เป็นการวัดฐานการเมือง-ฐานแฟนคลับคร่าว ๆ จากประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองแท้ ๆ เพียว ๆ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคุมฐานเสียงคนชั้นกลาง ได้มากกว่าพรรคเพื่อไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินบริจาค ภาษีพรรคการเมือง ดัชนีวัดใจ ฐานเสียง ชนชั้นกลาง

view