สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กสท เล็งกวาดเงิน24ช่องทีวีดิจิทัล1.1หมื่นล.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กสท เล็งเคาะราคาประมูลทีวีดิจิทัลจุฬาฯ เสนอรวม 24 ช่อง กวาดเงินไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท เปิดเผยว่าบอร์ดกสท ที่มีพันเอกนที ศุกลรัตน์ เป็นประธานจะประชุมในวันจันทร์ที่ 11 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาราคาตั้งต้นประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ช่องธุรกิจ 24 ช่อง ตามที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา ราคาตั้งต้นที่จุฬาฯเสนอนั้นแบ่งออกเป็นช่องความละเอียดสูง หรือ High Definition (HD) ราคาเริ่มต้นประมูลที่ 1,000-3,000 ล้านบาทต่อช่อง โดยเตรียมเปิดประมูลทั้งหมด 4 ช่อง ส่วนช่อง Standard Definition (SD) ซึ่งประกอบด้วย ช่องทั่วไป 10 ช่อง ช่องข่าว 5 ช่อง และ ช่องเด็ก 5 ช่องไม่เกินช่องละ 500 ล้านบาท โดยช่องข่าวจะมีราคาประมูลต่ำกว่าช่องทั่วไป และช่องเด็กจะอยู่ที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการจะได้สิทธิดำเนินการ 15 ปี

"ราคาประมูลนี้มาจากผลการศึกษาของที่ปรึกษา และในแต่ละช่องรายการ เรามีเงื่อนไข เช่น ช่องข่าวจะมีราคาเริ่มต้นประมูลถูกกว่าช่องทั่วไป เพราะช่องข่าวจะถูกกำหนดให้ต้องเป็นรายการข่าวถึง 70% ส่วนช่องเด็กที่ราคาต่ำสุดนั้น เราก็จะมีเงื่อนไข เช่น ห้ามโฆษณาสินค้าที่มีน้ำตาล และราคาประมูลนี้ จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์ การปฏิรูปสื่อ เพื่อสร้างความหลากหลายของเนื้อหาให้แก่ประชาชน"ดร.ธวัชชัย กล่าว

ดร.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า การกำหนดราคาประมูลต้องพิจารณาจากความสามารถในการหารายได้ มูลค่าอุตสาหกรรมทีวี รวมถึง การกำหนดเพดานการถือครองช่องรายการทีวีดิจิทัล และค่าเช่าโครงข่าย ที่ต้องขึ้นอยู่กับราคาค่าโครงข่าย เพราะหากราคาโครงข่ายมีราคาสูง จะทำให้ราคาเริ่มต้นประมูลต่ำ แต่หากราคาโครงข่ายราคาต่ำ ราคาตั้งต้นประมูลก็จะสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการโครงข่าย ราคาค่าโครงข่ายนั้นกำหนดราคาไว้ที่ 40-60 ล้านบาทต่อปีต่อช่อง ส่วนการกำหนดถือครองจำนวนช่องว่าจะได้ 2 หรือ 3 ช่องนั้น จะมีข้อสรุปอีกครั้งในเดือน เม.ย.2556 นอกจากนี้การกำหนดให้ออกอากาศได้ทุกช่องทาง เพื่อให้เป็นตามประกาศหลักเกณฑ์การนำพาช่องรายการโทรทัศน์ที่สามารถรับชมได้เป็นการทั่วไป หรือ Must Carry นั้นมีความเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ออกมาก่อนหน้านี้ เป็นอุปสรรคต่อการออกใบอนุญาตและต้นทุนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จึงควรมีการออกหลักเกณฑ์ Must Carry แยกระหว่างทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียมรวมทั้งเคเบิลทีวี

แหล่งข่าวจากกสทช.เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการทีวีถึงราคาที่คาดว่าจะเข้าประมูล โดยส่วนใหญ่เสนอให้ไม่เกิน 300-400 ล้านบาทสำหรับช่อง SD ส่วนช่อง HD นั้นราคาสูงกว่า SD ประมาณ 3 เท่าหรือประมาณ 1,500 ล้านบาท การคำนวณราคาตั้งต้นยังคำนึงถึงการแจกคูปองประชาชนเพื่อแลกซื้อทีวีดิจิทัล หรือแลกรับกล่องแปลงสัญญาณทีวีดิจิทัล ในเบื้องต้นกสท.คาดว่ามูลค่าคูปองจะอยู่ที่ใบละ 500 บาท ซึ่งต้องแจก 22 ล้านครัวเรือน หรือหมายถึงต้นทุนทั้งหมดในการแจกคูปองอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 11,000 ล้านบาท ดังนั้น กสท ต้องได้เงินค่าประมูลช่อง HD ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทต่อช่อง ส่วนช่อง SD เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250-300 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับที่จุฬาฯเสนอตัวเลขราคาตั้งต้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทสำหรับ HD และ SD ไม่เกิน 500 ล้านบาท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กสท เล็งกวาดเงิน 24ช่อง ทีวีดิจิทัล หมื่นล.

view