สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุยกับหมอพิณ เมื่ออะไรๆ ก็หย่อนยาน ไม่ถึงกับชีวิต แต่คุณภาพชีวิตลำบาก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ

โดย พญ.พิณนภางค์ ศรีพหล






เวลาผ่านไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อะไร ๆ ในร่างกายเราล้วนหย่อนคล้อย เหลือเต่งตึงอยู่อย่างเดียว ก็คือ หู

ไม่ใช่แค่ผิวหน้าผิวกายที่หย่อนคล้อยได้เท่านั้นนะคะ อวัยวะในอุ้งเชิงกรานของเราก็หย่อนยานตามกาลเวลาได้เช่นกัน

อวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่ว่า ได้แก่ ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ลำไส้ส่วนปลาย

ซึ่งอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเหล่านี้ ถูกพยุงไว้ด้วยแผ่นกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อ ที่เรียกว่า "กระบังลม" (คนละอันกับที่รองใต้ปอดนะคะ)

เวลาผ่านไป อายุที่มากขึ้น กระบังลมที่ว่า ก็อ่อนแรงลงเช่นกัน พอกระบังลมหย่อน อวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานก็เลยหย่อนลงมาด้วย ตามแรงโน้มถ่วงโลก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบังลมหย่อน ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เขาว่ากันว่าในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ประมาณครึ่งหนึ่ง ที่มีภาวะกระบังลมหย่อน แล้วแต่ว่าหย่อนมากหรือหย่อนน้อย แต่มีเพียง 20% เท่านั้นที่มาปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา ที่ไม่มารักษา เป็นเพราะบางคนไม่มีอาการ หรือบางคนก็อายที่จะมาหาหมอ

นอกจากอายุแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้กระบังลมหย่อน ได้แก่ การที่กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อในกระบังลมเคยได้รับบาดเจ็บ จากการคลอดยาก หรือคลอดหลายคน ภาวะอ้วน การที่มีแรงดันในช่องท้องสูง ๆ บ่อย ๆ หรือมีการเบ่งบ่อย ๆ เช่น ท้องผูก เบ่งอุจจาระแรง ๆ เป็นเวลานาน ไอเรื้อรัง ทำให้กระบังลมหย่อนได้เร็วเช่นกัน

ภาวะกระบังลมหย่อน ในบางคนอาจไม่มีอาการ ส่วนบางคนที่มีอาการ ก็จะมีตั้งแต่รู้สึกหน่วง ๆ หนัก ๆ ในอุ้งเชิงกราน รู้สึกมีก้อนผลุบ ๆ โผล่ ๆ ที่ปากช่องคลอด โดยจะโผล่มากขึ้น เวลายืน ยกของหนัก ไอหรือจาม รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์ลำบาก ปัสสาวะผิดปกติ กลั้นไม่ได้ หรือมีไอจามปัสสาวะเล็ด บางคนมีอาการปัสสาวะลำบาก ต้องเอานิ้วช่วยดันก้อนที่โผล่ ๆ ให้ผลุบเข้าไปก่อน ถึงจะปัสสาวะได้

การรักษาและการป้องกัน ได้แก่ การลดน้ำหนัก, หลีกเลี่ยงภาวะแรงดันในช่องท้องที่สูง ๆ เช่น ระวังไม่ให้ท้องผูก และหากมีภาวะไอเรื้อรัง ก็ควรรักษา รวมถึงการขมิบ ถือเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อกระบังลมให้แข็งแรงขึ้น โดยขมิบครั้งละ 10 วินาที แล้วก็คลาย ขมิบ 50 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องกัน 4-6 สัปดาห์ จะช่วยได้บ้าง และในกรณีที่กระบังลมหย่อนแบบไม่มาก

หากกระบังลมหย่อนมาก ๆ บางรายอาจต้องผ่าตัด หากไม่ผ่าตัด ปัจจุบันก็มีการใส่ pressary เป็นอุปกรณ์รูปร่างคล้ายโดนัท ใส่เข้าไปในช่องคลอด เพื่อพยุงไม่ให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานโผล่ออกมา

แม้ภาวะกระบังลมหย่อนจะไม่ใช่ภาวะที่ถึงตาย แต่หากหย่อนมาก ๆ หรือมีอาการมาก ๆ ก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเช่นกันดังนั้น คุณผู้หญิงทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้กระบังลมหย่อน และพบแพทย์เพื่อรักษา หากมีภาวะดังกล่าวนะคะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุยกับหมอพิณ หย่อนยาน ถึงกับชีวิต คุณภาพชีวิต ลำบาก

view