สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองต่างมุม ผู้ผลิต-ผู้ค้าวัสดุ ว่าด้วยเขตปลอด ส้วมนั่งยอง กับมูลค่าตลาดส้วมซึม 1,000 ล.บาท

จากประชาชาติธุรกิจ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาส้วมไทย ระยะที่ 3 หนึ่งในมาตรการคือแผนงานรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ส้วมแบบนั่งราดและชักโครกทดแทนส้วมแบบเดิม ๆ หรือ "ส้วมนั่งยอง" ที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน เหตุผลเพราะส้วมแบบนั่งยองมีผลเสียต่อสุขภาพผู้ใช้ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังเข้าสู่สังคมประชากรผู้สูงอายุในขณะนี้

ตลาดนั่งยองปีละ5 แสนชิ้น

นั่นหมายความว่า "ส้วม" ได้ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลมีเป้าหมายภายในปี 2559 ทุกครัวเรือนต้องมีส้วมแบบนั่งราด และชักโครกสูงถึง 90% จากปัจจุบันมีครัวเรือนที่ใช้ส้วมแบบนั่งยองมากถึง 86%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถิติข้อมูลการผลิตส้วมแบบนั่งยองและส้วมชักโครกของสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า เฉพาะในปี 2555-เดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีการผลิตส้วมแบบนั่งยองรวมประมาณ 567,273 ชิ้น ขณะที่การผลิตส้วมชักโครกมีสูงถึง 3,989,647 ชิ้น

หรือเท่ากับมีอัตราส่วนที่แตกต่างกันถึงเกือบ 8 เท่า ดังนั้น นโยบายนี้จึงเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่สุดของประเทศไทย ความนิยมใช้ส้วมนั่งยองยังมีเหตุผลสำคัญมาจากประเด็น "ราคา" ที่แน่นอนว่าย่อมทิ้งห่างกันหลายช่วงตัวเช่นกัน

ถึงแม้จะประเมินได้ว่าไม่ใช่นโยบายที่จะทำได้ง่าย แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีสัญญาณที่ดีว่ากลุ่มผู้บริโภคระดับกลางยุคใหม่ หันมาใช้ส้วมชักโครกเพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน กลับมาสำรวจดูกลุ่มผู้ผลิตโถสุขภัณฑ์บิ๊กแบรนด์ในตลาดก็จะพบว่า ไม่มีการผลิตส้วมนั่งยองเลยแม้แต่รายเดียว ทำให้กำลังการผลิตส้วมชักโครกมีปริมาณที่เพิ่มสูงต่อเนื่องทุก ๆ ปี

เอกชนขอความชัดเจน

จากการสำรวจมุมมองผู้ประกอบการสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ดูเหมือนว่าจะขานรับและสนับสนุนกับแนวคิดนี้ แต่ยังไม่มีค่ายใดลงมือปฏิบัติหรือเพิ่มกำลังการผลิต เพราะมองว่าเป็นเรื่องอีกยาวไกล

เปิดประเด็นกันที่ "วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์" ประธานกรรมการ บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ในห้องน้ำแบรนด์ "บาธรูมดีไซน์" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนค่อนข้างนาน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

พร้อมกับมีข้อแนะนำว่า ในเบื้องต้นควรเริ่มจากบ้านที่มีผู้สูงอายุก่อน จากนั้นค่อยขยายผลออกไปสู่ประชาชนในระดับรากหญ้าที่ยังนิยมการใช้ส้วมแบบนั่งยองที่มีกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

"ผมว่านโยบายนี้เป็นเรื่องการรณรงค์ของรัฐบาลมากกว่า มีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนให้ประชาชนมาใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพผู้ใช้ ประเด็นสำคัญต้องมีการออกนโยบายที่ชัดเจนว่าหลักการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง อย่าลืมว่าประชาชนระดับรากหญ้ายังมีปัญหาในเรื่องงบประมาณค่อนข้างจำกัด บวกกับพฤติกรรมการใช้ยังนิยมส้วมแบบนั่งยองอยู่ ในมุมธุรกิจอาจได้รับอานิสงส์อยู่บ้าง แต่คิดว่าคงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้"

เทรนด์โลก...เลิกส้วมนั่งยอง

ด้าน "พงษ์ธร วานิชพงษ์พันธุ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเก้น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ นโยบายนี้ถือเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่แต่ละประเทศกำลังมุ่งยกระดับด้านสุขภาพให้กับประชาชน เช่น จีน และหลายประเทศในยุโรปได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้ว สำหรับประเทศไทยเห็นว่าเรื่องนี้ยังต้องใช้เวลา เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มระดับล่างที่มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร

"ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของสุขภัณฑ์ห้องน้ำมี5,000-6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าระดับบน 50% อีก 50% เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท เป็นกลุ่มผู้ใช้ส้วมแบบนั่งยอง จะเห็นว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก หากมีการส่งเสริมอย่างจริงจังในอนาคตสัดส่วนส้วมแบบนั่งยองจะค่อย ๆ ลดลงอย่างแน่นอน"

"พงษ์ธร" กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของส้วมแบบนั่งยองในปัจจุบันที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำได้ไม่ง่ายนัก นั่นคือราคาขายที่ค่อนข้างถูก ชิ้นละประมาณ 200-300 บาท บำรุงรักษาได้ง่าย ต่างจากส้วมแบบนั่งราดและชักโครกที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว แถมต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นที่ "ส้วมสาธารณะ"

ขณะที่ "อรพิน ศิริจิตเกษม" ผู้จัดการทั่วไป สายพัฒนาการตลาดลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือโฮมโปร มองว่า หากทำได้จริงจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น เป็นนโยบายที่ภาคเอกชนขอให้การสนับสนุนเต็มที่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า

"สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ทันทีคือ การปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ วัด โรงเรียน และหน่วยงานราชการให้เป็นส้วมแบบนั่งราด หรือชักโครก เป็นวิธีที่ทำได้เร็วที่สุด จากนั้นจึงขยายผลไปสู่ภาคประชาชน" ข้อแนะนำของผู้บริหารโฮมโปร

แม้ยังไม่มีความชัดเจนของนโยบาย "ส้วมแห่งชาติ" ในหลายประเด็น อาทิ แนวทาง งบประมาณ รูปแบบ ตลอดจนวิธีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ถือได้ว่านี่คือก้าวย่างสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่ยังมีข้อจำกัดในด้านกำลังซื้อ ยกเว้นแต่รัฐบาลเพื่อไทยจะมีนโยบายประชานิยมส้วมนั่งยองขึ้นมาใหม่ เรื่องนี้รอไปลุ้นไปก็ไม่เสียหายอะไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองต่างมุม ผู้ผลิต ผู้ค้าวัสดุ ส้วมนั่งยอง มูลค่าตลาด ส้วมซึม

view