สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอชี้แรงงานไทยังไร้สวัสดิการที่ดี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทีดีอาร์ไอเปิดงานวิจัยปัญหาแรงงานไทย พบยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสวัสดิการ แม้รัฐบาลจะขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วไทย

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับประเด็นปัญหาแรงงานของไทย รวมทั้งการปรับตัวในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ภาพรวมแรงงานไทยในช่วงที่ผ่านมา เผชิญการเปลี่ยนผ่านหลายเรื่องที่ยังไม่มีการดูแลที่ดีพอ ตั้งแต่ช่วงผลกระทบน้ำท่วมใหญ่ และการปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ พบว่าแรงงานที่ไหลกลับไปสู่ภาคเกษตร กลับเข้ามาสู่แรงงานในระบบน้อยเกินคาด กลายเป็นการไปเพิ่มจำนวนแรงงานที่ขาดความมั่นคงในภาคเกษตร เป็นทั้งนายจ้างและแรงงานนอกระบบ จึงเรียกร้องให้เพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมกลุ่มของคนทำงาน

ที่ผ่านมาในภาพรวมดูเหมือนแรงงานได้รับการดูแลมากขึ้น ในเรื่องค่าจ้างพื้นฐาน 300 บาท แต่ในด้านการคุ้มครองแรงงานยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีความเหลื่อมล้ำลักลั่นกัน ตั้งแต่การเข้าสู่ระบบ การได้รับบริการจากระบบ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากระบบ ทั้งกองทุนประกันสังคมที่ดูแลเฉพาะแรงงานในระบบหลัก

ส่วนกองทุนเงินทดแทนซึ่งลูกจ้างจะได้รับเมื่อเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานของลูกจ้าง ที่ทำงานเต็มเวลา ขณะที่มีนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก เป็นบางช่วงเวลาหรือช่วงฤดูกาล ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ถึงเวลาที่เราควรสร้างระบบที่ครอบคลุมไม่เหลื่อมล้ำและเป็นธรรม

"ปัญหาตอนนี้ถ้าดูในรายละเอียด จะเห็นว่าในรูปแบบการคุ้มครองแรงงาน ระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบนั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำหรือเขย่งกันอยู่ค่อนข้างชัดเจน แรงงานในระบบได้รับการดูแลค่อนข้างดีมาตลอด แต่ในส่วนของแรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่จริงจังนัก จะเห็นได้จากการให้ความคุ้มครองทั้งหลาย ซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นอยู่หลายเรื่องและหากดูสิทธิประโยชน์ระยะยาว ที่จะได้รับจากประกันชราภาพและกองทุนเงินออมแห่งชาติ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มอย่างจริงจัง เมื่อไร ข้อตกลงในการเก็บอัตราสมทบ ก็ยังไม่มีข้อยุติและดำเนินไปอย่างล่าช้า แม้แต่แรงงานในระบบเมื่อถึงวัยได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพ ถึงจะรวมกับเบี้ยยังชีพชราภาพแล้ว ก็จะมีรายได้เพื่อการยังชีพเพียง 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ซึ่งนับว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป"นายยงยุทธ ระบุ

คนกลุ่มนี้ ได้แก่ คนทำงานบ้าน แรงงานประมง แรงงานภาคเกษตร ที่ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องตลอดปี หรือทำงานตามฤดูกาล รวมถึงแรงงานพาร์ทไทม์ คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ล้วนแต่จะมีปัญหาความมั่นคงในระยะยาวตรงนี้เป็นจุดอ่อนซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุม

โดยหลักการตามกฎหมายคนทำงานทุกคน มีสิทธิได้รับการคุ้มครองโดยกองทุนประกันสังคม ควรปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม สามารถนำสัดส่วนของผลประโยชน์มาสมทบ เพื่อทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน คือ มีการเปลี่ยนผ่านหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ตั้งแต่น้ำท่วมเรื่อยมาจนถึงการขึ้นค่าจ้างรอบแรกและรอบที่สอง (300 บาททั่วไทย) ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างกว้างขวางต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ การประเมินผลกระทบรอบแรกพบข้อมูลสำคัญ ภาคเกษตรที่ควรได้รับผลกระทบน้อย กลับกลายเป็นภาคที่ถูกผลกระทบมาก เพราะภาคเกษตรไทยซึ่งยังใช้เทคโนโลยี ที่ช่วยผ่อนแรงน้อยยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก ค่าแรงจึงเป็นต้นทุนสำคัญ ที่เพิ่มภาระ ในขณะที่ผู้ประกอบการในภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กรายย่อยไม่มีศักยภาพ ในการจ่ายค่าจ้างพื้นฐานที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน ประกอบกับสภาพการทำงานที่หนัก เหนื่อยไม่จูงใจ ไม่มีสวัสดิการในการทำงาน

ดังนั้นปัญหาของภาคเกษตรเผชิญปัญหาต้นทุนสูง พร้อมๆ กับการยังขาดแคลนแรงงาน และในด้านการคุ้มครอง แรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่คือแรงงานอายุมาก อมโรค ในระยะยาวจึงมีปัญหาความมั่นคงในชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ

มีเกษตรกรเพียงไม่ถึง 10%ที่จะมีเงินออมเพียงพอจะช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จึงอยากให้ใส่ใจแรงงานหรือคนทำงานภาคเกษตรที่สิทธิสวัสดิการยังเหลื่อมล้ำกับแรงงานในระบบ และถูกละเลยมาตลอด

ส่วนประเด็นของแรงงานในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี นั้น นายยงยุทธ มองว่า สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอความต้องการ และเรามีความต้องการแรงงานไทยเกิน 40 ล้านคน คือราว 42-43 ล้านคน โดยส่วนเกิน 2-3 ล้านคนนั้นคือแรงงานต่างด้าว

แรงงานไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็ยังคงต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณ ซึ่งต้องมียุทธศาสตร์ทั้งการเพิ่มปริมาณและคุณภาพ

การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำได้ 2 ทาง คือ 1.เมื่อธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง และจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีบางส่วนมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง การแก้ปัญหาแรงงานจึงต้องทำให้มีคนออกมาทำงานเร็วขึ้น โดยให้คนออกมาสู่ตลาดแรงงานเมื่อถึงวัยทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนที่ดีและไม่ต้องเรียนมากปีเกินไป หรือ สามารถให้เขาออกมาประกอบอาชีพได้หลังจากจบมัธยมปลาย (สายอาชีพ/สายสามัญ) และนำหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ คือ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ทางนี้ตรงข้ามกับค่านิยมของผู้ปกครองไทย

2.การนำเข้าวัยทำงานมาเติมในส่วนที่ขาด โดยต้องมีกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง โดยมีกระบวนการในการล้างคนเก่าที่ผิดกฎหมายให้หมดไปแล้วนำคนที่ถูกต้องเข้าทำงานโดยมีจำนวนหรือโควตาที่ชัดเจน

สำหรับยุทธศาสตร์การเพิ่มคุณภาพแรงงาน มีความจำเป็นและต้องเร่งทำมากกว่าเดิม ต้องทำให้แรงงานมีทักษะทำงานได้มากกว่าเดิมและมีคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องร่วมมือกัน หรือการจูงใจด้วยมาตรการทางภาษี เป็นต้น

ส่วนการเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน นั้น เห็นว่าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ ในการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานให้ชัดเจน เพราะเราไม่มีโอกาสจะกันคน (แรงงาน) จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้ จึงควรกำหนดมาตรฐานร่วมกันให้ชัดเจน และมีการดูแลกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจำเป็นต้องมีองค์กรตัวแทนในการกำกับดูแล ระบบมาตรฐานสมรรถนะของประเทศ ที่ต่อไปก็จะเชื่อมโยงกับระบบการจ่ายหรือค่าจ้างด้วย ซึ่งเราสามารถใช้เป็นการกีดกันโดยธรรมชาติได้ และยังเป็นกลไกให้คนยกระดับตัวเองพัฒนาขึ้นมาให้เป็นแรงงานที่มีมาตรฐาน

นอกจากนี้ควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ให้สามารถมีข้อมูลยืนยันความต้องการแรงงานในแต่ละประเภทที่ชัดเจนได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ได้แรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนและคุณภาพตามมาตรฐานแรงงานไทย ไม่เข้ามาแย่งแรงงานไทย โดยกำหนดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม

การที่เราจะเป็น เออีซี นั้น สิ่งที่เป็นห่วงอยู่ตอนนี้ ก็คือ แรงงานในภาคบริการโดยเฉพาะ 32 อาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร รีสอร์ท เนื่องจากมีอาชีพหลายอย่างที่มีข้อตกลงกันในกลุ่มอาเซียนที่ใช้คนมาตรฐานไม่สูงมาก ทำให้ธุรกิจที่มีการลงทุนในประเทศไทย สามารถนำแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาได้ ซึ่งเป็นการเข้ามาแย่งงานคนไทยทางอ้อมและกันได้ยาก ภาคบริการเป็นตลาดแรงงานที่รองรับแรงงานคุณสมบัติหลากหลายทุกวุฒิการศึกษา หากมองให้เป็นโอกาส ควรให้ภาคบริการช่วยดูดซับแรงงานปริญญาตรี ที่มีการผลิตล้นเกินความต้องการอยู่มากและว่างงานสะสมทุกปีนั้นได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทีดีอาร์ไอ แรงงานไทย ไร้สวัสดิการที่ดี

view