สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีซีบี หมดท่า ลดดอกเบี้ย ก็ไม่ช่วยอะไร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคาร กลางยุโรป (อีซีบี) ได้ตัดสินใจตัดลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ลงมาเหลืออยู่ที่ 0.50% จากเดิม 0.75% โดยสาเหตุที่ทำให้อีซีบีต้องยอมตัดลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ ก็เนื่องจากว่าสถานการณ์วิกฤตหนี้ยูโรโซนได้วกกลับมาอยู่ในจุดที่ย่ำแย่อีก ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.1% ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หรือมีคนที่ไม่มีงานทำมากถึง 19.2 ล้านคน ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตและบริการก็ย่ำแย่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงอีกว่าสโลวีเนียอาจจะต้องกลายเป็นประเทศที่ 6 ของยูโรโซนต่อจากกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส ที่ต้องแบมือขอรับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ออกมาประกาศหั่นอันดับเครดิตของประเทศสโลวีเนียลง 2 ขั้น จาก Ba1 ลงมาอยู่ที่ Baa2 หรือระดับจังก์ พร้อมให้แนวโน้มเป็นลบ โดยให้เหตุว่าเกิดจากปัญหาหนี้สินในภาคการเงินธนาคาร รวมถึงความน่าเชื่อถืองบดุลของประเทศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การตัดลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไม่สามารถนำพายูโรโซน ฟื้นจากวิกฤตได้ โดยสิ่งที่พิสูจน์ไดอย่างดีก็คือการใช้มาตรการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.75% ของอีซีบี ในตลอดระยะเวลามากกว่า 8 เดือนที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ที่ผ่านมาได้อย่างเป็นรูปธรรมเลย

เพราะว่าประโยชน์ที่เกิดจากการตัดลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้ต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำนั้น ไม่ได้ถูกส่งไปถึงมือของภาคเศรษฐกิจจริงอย่างภาคการผลิต การบริการ และการจ้างงานเลย โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในยูโรโซนช่วงหลายเดือนหลังที่ผ่านมานั้น แทบจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำเลย แต่ในทางกลับกันเงินจำนวนมากกลับไหลเข้าไปอยู่ในภาคสินทรัพย์ การเก็งกำไรในตลาดทุนมากกว่า

ความล้มเหลวของการใช้มาตรการกระตุ้นของอีซีบีที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้จากผลสำรวจปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจรายย่อยในยูโรโซน ที่ปรับตัวลดลง 0.8% ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลสำรวจเอสเอ็มอี 7,510 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่มองว่าปริมาณเงินกู้ในระบบนั้นลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนก็ยังย่ำแย่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาคการจ้างงาน การผลิต และการบริการ ซึ่งล้วนเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางของสภาวะเศรษฐกิจจริงก็ยังย่ำแย่อย่างต่อ เนื่อง โดยดัชนีการผลิตที่จัดทำโดยบริษัท มาร์กิต ระบุในเดือน เม.ย.ว่า ทั่วทั้งยูโรโซนมีการหดตัวลงไปอยู่ที่ 46.7 จุด จากเดิมเดือน มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 46.8 จุด ขณะที่ยอดคนว่างงานของยูโรโซนก็พุ่งขึ้นทำสถิติต่อเนื่องไปที่ 12.1%

จึงสรุป ณ ที่นี้ได้สั้นๆ ว่าบทเรียนจากการใช้มาตรการอัดฉีดของอีซีบีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถช่วยฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจจริง และเปิดทางให้ธุรกิจรายย่อยในยุโรป และภาคครัวเรือนได้เข้ามารับประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนอย่าง ที่อีซีบีต้องการ

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการตัดลดดอกลงอีก 0.25% หรือไม่ ผลที่ออกมาก็จะเหมือนเดิม และก็คงจะไม่ช่วยทำให้สภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซนดีขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะถึงแม้จะมีการตัดลดดอกลงมาอยู่ที่ 0.50% จริง แต่ก็เป็นเพียงการให้ยาที่เบากว่าอาการป่วยทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของยูโรโซน

สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นสอดรับกับความเห็นของ จอร์จ แอสมูสเซน ผู้บริหารระดับสูงของอีซีบี ที่ออกมากล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยระลอกใหม่ของอีซีบี อาจไม่ได้ช่วยประเทศในกลุ่มยูโรโซนซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยได้มากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากอยู่แล้วในปัจจุบัน อาจไปไม่ถึงกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในประเทศที่ประสบปัญหาได้เท่าที่ควร

“นโยบายการเงินไม่ใช่ยาวิเศษที่รักษาได้ทุกโรคทางเศรษฐกิจ” แอสมูสเซน กล่าว

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เหล่านักวิเคราะห์และกูรูผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยจึง พากันออกมาชี้แนะให้อีซีบีกล้าที่จะเดินหน้าใช้ยาแรง ด้วยการจัดชุดยาแรงออกมาใช้โดยด่วน อย่างเช่นมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 3 ปี (แอลทีอาร์โอ) ที่เคยออกมาใช้แล้ว 2 ครั้ง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนมีส่วนสำคัญที่ทำให้การไหลเวียนของภาคการเงินของยุโรปเริ่มดีขึ้นอย่าง เห็นผลได้ชัด หรือไม่เช่นนั้นก็จัดมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) เหมือนอย่างเช่นที่สหรัฐและญี่ปุ่นกำลังใช้อยู่ในขณะนี้

“การตัดลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นสิ่งที่ล่าช้าเกินไปและน้อยเกินไป และก็ไม่ได้ช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนดีขึ้นเลย ดังนั้นในตอนนี้อีซีบีจึงต้องกล้าที่จะเดินหน้าใช้มาตรการอัดฉีดแรงๆ อย่างโครงการแอลทีอาร์โอ หรือไม่ก็คิวอีออกมา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น” ไมเคิล กัลลาเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยไอเดียโกลบอล กล่าว

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าการใช้มาตรการกระตุ้นของอีซีบีจะถูกโจมตีและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างหนักถึงประสิทธิภาพที่มีต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ใช่ว่าอีซีบีจะไม่มีการปรับตัวและรับข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไขเลย ดังเห็นได้จากเมื่อเดือนที่แล้วที่คณะบอร์ดบริหารอีซีบีได้ตั้งคณะทำงานขึ้น มาเป็นการเฉพาะ เพื่อทำการศึกษาแนวทางในการทำให้มาตรการกระตุ้นสินเชื่อต่างๆ ได้ลงไปถึงมือภาคธุรกิจรายย่อยมากขึ้น

ขณะที่หลายประเทศในยูโรโซนก็ออกมาขานรับแนวทางดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เยอรมนี และสเปน ประกาศว่าจะร่วมมือกันในการสนับสนุนการลงทุนของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีให้เพิ่ม มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างงานพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสเปนให้ฟื้นตัว และหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นกระดูกสันหลังสำคัญทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในยู โรโซน โดยเฉพาะในสเปนและอิตาลีนั้น เอสเอ็มอีถือเป็นตัวสร้างการจ้างงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของการจ้างงานทั่วทั้ง ประเทศ

ฉะนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า หลังจากนี้อีซีบีจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางในการกอบกู้วิกฤตหนี้อย่างไร ในอนาคตเพิ่มเติมอีก เพราะการตัดลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวนั้น ดูเหมือนว่าเริ่มจะไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอสำหรับปัญหาในปัจจุบันเสียแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อีซีบี หมดท่า ลดดอกเบี้ย ไม่ช่วยอะไร

view