สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บีบแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ปลดผู้ว่าธปท.,คลัง,กนง.,ลดดอกเบี้ย,ค่าเงินบาท,บาทแข็ง

กิตติรัตน์"อัดแถลงการณ์แบงก์ชาติ-กนง. ไม่เป็นไปตามข้อตกลงแก้บาทแข็ง ปฏิเสธหารือปลด "ประสาร" ด้าน"วีรพงษ์"เสนอให้นายกฯไกล่เกลี่ย"คลัง-ธปท."

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการคลัง กล่าวว่า ผลการประชุมระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่านั้น แถลงการณ์เกี่ยวกับผลการประชุมดังกล่าว ไม่เป็นไปตามที่หารือร่วมกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายกิตติรัตน์ ร่วมหารือกับ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กระทรวงการคลัง โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือหามาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยนายกิตติรัตน์ ระบุว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้รับข้อเสนอจะไปหารือกับกนง.

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เมื่อดูจากแถลงการณ์ของ กนง. มีสิ่งที่ตรงตามที่ประชุมร่วมกันอย่างเดียว คือ ธปท.จะมีการประสานการทำงานในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

"ยอมรับว่าที่ผ่านมา ธปท. ไม่ได้มีการประสานกับกระทรวงการคลัง อย่างใกล้ชิดตามที่พูด เช่น การเสนอแนะให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อใช้เป็นกลไกหนึ่งในการลดการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเสนอตั้งแต่เงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ จนขณะนี้แข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ จนเกิดความเดือดร้อนมากขึ้น และเป็นห่วงว่าหากตอนนี้ยังมีมาตรการใดออกมาเกรงว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะไม่เกิดขึ้นในครั้งเดียวและอาจจะกระทบกลไกทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้า"

นายกิตติรัตน์ ปฏิเสธว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการปลดผู้ว่าการธปท.

"ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการประชุมลับ เพื่อปลดผู้ว่าการ ธปท.นั้น ไม่เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ทาง ธปท.ได้ทำหนังสือมายังตน ซึ่งเป็นหนังสือที่ตีตราลับ ผมก็มีหน้าที่รายงานครม.เป็นวาระลับ”
นายกิตติรัตน์ ยังบอกว่า นายวีรพงษ์จะเป็นผู้ชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

'วีรพงษ์'คาด ธปท.ขาดทุน 1 ล้านล้าน ในปีนี้

ต่อมา นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือมาสอบถามเกี่ยวกับการขาดทุนของธปท. โดยขณะนี้ การขาดทุนของ ธปท.เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 1/2556 มีการขาดทุนสูงกว่า 8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2555 ซึ่งมีการขาดทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท และการขาดทุนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ไปแตะที่ 1 ล้านล้านบาท ภายในปีนี้

นายวีรพงษ์ ย้ำว่า หากปล่อยให้ ธปท. ขาดทุนถึง 1 ล้านล้านบาท ก็จะใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีการขาดทุนถึง 1.14 ล้านล้านบาท ที่ ธปท. ขาดทุนจากการเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน
"สิ่งเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ธปท. แต่คณะกรรมการฯ ทำอะไรไม่ได้เลย รัฐมนตรีคลังทำหนังสือมาคาดโทษผมว่า ฐานะงบดุลของธปท.ขาดทุนมากมายแบบนี้ กรรมการจะต้องรับผิดชอบ ผมก็ได้รายงานว่า คณะกรรมการได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ทุกครั้งที่มีการประชุม แต่ก็ไม่มีผลอะไร ดูในรายงานการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผู้ว่าการธปท.ก็ไม่ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อที่ประชุม กนง. ผมก็ทำหนังสือตอบรัฐมนตรีคลังไปแบบนี้"นายวีรพงษ์ กล่าว

ชี้ต้องลดดอกเบี้ยแก้บาทแข็ง

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า นายวีรพงษ์กล่าวว่าได้เตือนเรื่องนี้ตั้งแต่เงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเตือนเรื่องนี้มากว่า 4 ปี แต่ขณะนี้เงินบาทอยู่ที่ 29 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่านั้นยังอยู่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของเราถูกกำหนดไว้สูงกว่าอัตราในตลาดโลกส่งผลให้เงินไหลเข้า โดยขณะนี้ดอกเบี้ยต่างชาติไม่ถึง 1% ขณะที่ดอกเบี้ยเราสูงถึง 2.75% เมื่อเงินไหลเข้าก็ส่งผลให้บาทแข็ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ธปท.เอาเงินสดมาซื้อดอลลาร์เข้าไปแล้วก็ออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ดอกเบี้ยก็ตั้งไว้สูงและพันธบัตรก็ต้องตั้งดอกเบี้ยสูง แต่ดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาผลตอบแทนต่ำ ซึ่งก็ดำเนินการกันมาในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่เงินบาทอยู่ที่ 33- 35 บาทต่อดอลลาร์ จนขณะนี้ต่ำกว่า 30 อยู่ที่ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

สถานการณ์ในขณะนี้มาถึงขั้นที่รุนแรงแล้ว เห็นได้จากผลกระทบที่เกิดต่อผู้ส่งออก ขณะที่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ตั้งใจจะมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย หากสถานการณ์ยังเดินต่อไปแบบนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ และเมื่อมองไปข้างหน้า มาตรการที่ ธปท.บอกว่ามีอยู่ก็เหมือนเป็นมาตรการที่ลี้ลับไม่รู้จะงัดออกมาใช้เมื่อใดและจะรู้ได้อย่างไรว่ามาตรการที่มีอยู่จะไม่เกิดผลข้างเคียงและความเสียหายต่อประชาชนทั้งประเทศ
"ขณะนี้ก็มีการยอมรับแล้วว่าค่าเงินบาทนั้นแข็งกว่าปกติ แข็งค่ามากที่สุดในโลก และได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแต่หาคนรับผิดชอบไม่ได้ ผมในฐานะประธานบอร์ด ธปท.ก็รู้สึกว่าอึดอัดและกังวลต่อสถานการณ์ข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะมองไปแล้วที่ ธปท.บอกว่ามีมาตรการหลายอย่างนอกจากดอกเบี้ย ก็ยังไม่เห็นว่ามีอะไร แม้จะมีการสอบถามแล้วก็ตอบไม่ได้"


หนักใจความขัดแย้งคลัง-ธปท.

ประธานคณะกรรมการ ธปท. ยังกล่าวด้วยว่าหากเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ผู้รับผิดชอบสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี รองลงมา คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมองว่าสถานการณ์ขณะนี้นายกรัฐมนตรีอาจไม่สามารถรับผิดชอบต่อรัฐสภาได้ เพราะอะไรที่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดต่างๆ ใน ธปท.ไม่สามารถก้าวก่ายการทำงานได้เลย เหมือนมีคณะกรรมการชุดต่างๆ มีความเป็นอิสระมาก ส่วนการที่ ธปท.บอกว่าหากค่าเงินบาทแข็งถึง 27 บาท เศรษฐกิจจะโตได้ 4% ก็เป็นเรื่องที่พูดเองเข้าใจไปเอง เหมือนกับที่พูดเองว่าอัตราดอกเบี้ยไม่มีผลต่อเงินทุนไหลเข้าก็พูดเองโดยที่ไม่มีใครเห็นด้วย

"ตามกฎหมาย ธปท. รมว.คลัง เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการทำงานของ ธปท. แต่ก็ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐสภาได้เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ธปท.ได้ โดยขณะนี้ว่า ธปท.ก็โยนความรับผิดชอบว่าเป็นการทำงานของ กนง.ซึ่งก็ไม่รู้ก็เป็นใครมาจากไหนซึ่งผมก็ไม่เห็นว่าจะมีความเชี่ยวชาญในเศรษฐกิจมหภาค แต่มีอำนาจมากใครติก็ไม่ฟัง และไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน"นายวีรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ธปท. กับ กระทรวงการคลังเป็นเรื่องที่ตนหนักใจ เพราะตอบคำถามสวนกันไปกันมา ตนก็ได้แต่หนักใจเพราะท่านทั้งสองก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และก็ถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งจะให้ตนวิ่งเป็นตัวกลางเหมือนท้าวมาลีวราชก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเขาฟังก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ฟัง มันก็จะเสียหน้า

โยนนายกฯให้ช่วยเข้ามาดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่าเสียงข้างมากของบอร์ด ธปท. สามารถปลดผู้ว่าการ ธปท. ได้หรือไม่ นายวีรพงษ์ตอบว่าทำไม่ได้ เพราะเมื่อเปิดดูข้อกฎหมายแล้วก็บอกว่าเปิดดูกฎหมายก็บอกว่า คณะกรรมการฯมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานของ ธปท. ซึ่งเขียนไว้กว้าง ไม่มีอำนาจเสียงข้างมากก็ไม่สามารถหยุดการทำงานของผู้ว่าการ ธปท.ได้
"คงต้องฝากท่านนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาดูแล ส่วนที่ ครม.อาจจะมีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอน ผู้ว่าการ ธปท.ได้ ก็ไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น อย่าให้ผมแสดงความกังวลมากกว่านี้เลย ผมไม่อยากไปก้าวก่ายงานของทั้งสองหน่วยงาน แต่ขอแสดงความวิตกกังวล ว่าจะเกิดวิกฤติต่อระบบเศรษฐกิจของชาติมากซึ่งก็ฝากความกังวลนี้ไปถึง รมว.คลังด้วย"นายวีรพงษ์ กล่าว

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ ธปท.ได้เตรียมเอาไว้สำหรับดูแลค่าเงินบาทนั้น ทาง ธปท.ได้ทำเป็นหนังสือส่งไปยังกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว และช่วงนี้โดยส่วนตัวจะของดให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม

คลัง ชี้ ไม่จำเป็นออกมาตรการที่ระดับ 29

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังและธปท. ได้ประสานความร่วมมือกันมากขึ้นในการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งขณะนี้จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่แข็งค่ามากไปกว่า 29 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม หากเงินบาทหลุดต่ำกว่าในระดับดังกล่าว ทั้งสองหน่วยงานก็ต้องมาหารือกันว่าเป็นเพราะเหตุใด

สำหรับมาตรการในการดูแลนั้น ทาง ธปท.ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าจะนำออกมาใช้เมื่อไร หรือ ไม่นำออกมาใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่าเงินบาทในแต่ละช่วง แต่หากธปท.เห็นว่า ควรนำมาตรการออกมาใช้ ก็จะต้องมีการรายงานต่อกระทรวงการคลังเพื่อรับทราบร่วมกันด้วย ทั้งนี้ มาตรการที่เตรียมพร้อมนั้น เป็นมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก

"ขณะนี้ เรายังไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอะไร ถ้าจำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมา ทาง ธปท.เขาจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งก็ต้องรายงานให้ทางกระทรวงการคลังรับทราบด้วย ซึ่งขณะนี้ เราได้ร่วมหารือกันตลอด"นายอารีพงศ์ กล่าว

ค่าบาทอ่อนสุดรอบหนึ่งเดือน ตามภูมิภาค

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ วานนี้ (2 พ.ค.) อยู่ในทิศทางอ่อนค่าตามแรงซื้อดอลลาร์ที่มีเข้ามา หลังจากนักลงทุนบางส่วนคาดว่า ธปท.อาจจำเป็นต้องออกมาตรการในการดูแลเงินบาทเพื่อลดแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง

ในช่วงท้ายตลาด บาทต่อดอลลาร์ อยู่ที่ 29.42/44 จาก 29.36/38 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้า

"บาทวันนี้ sideways แต่แรงซื้อ (ดอลลาร์) ก็มีมาเรื่อยๆ เพราะตลาดก็ยังเชื่อว่า สุดท้ายแบงก์ชาติคงต้องมีอะไรออกมาบ้าง เพื่อลดแรงกดดัน" ดีลเลอร์ กล่าว

เงินบาทในวันนี้แกว่งตัวและอยู่ในทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลว่า ธปท.อาจจะต้องดำเนินมาตรการบางอย่างในการ ดูแลเงินบาท เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง แต่ก็คงไม่ได้เป็นมาตรการที่แรง จนกระทบต่อภาวะการลงทุนมากนัก

นอกจากนี้ การที่ผลการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจในสัปดาห์ก่อนมีการระบุว่า เงินบาทที่ 29 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่แข็งเกินไป ทำให้กรอบในการแข็งค่าของเงินบาทถูกจำกัดไว้ แต่กรอบในทางอ่อนค่า เปิดกว้างมากกว่า

หอการค้าไทยเตรียมพบธปท.

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย เตรียมเดินทางไปพบกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางในการรับมือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น พร้อมกับนำแนวทางการบริหารของธปท.มาปรับใช้กับการบริหารธุรกิจ

ทั้งนี้ ต้องการเสนอให้กระทรวงการคลัง และ ธปท.ดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้ผันผวน และให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค

"ภาคเอกชนมองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าจากต่างชาติลดลง เพราะว่าผู้ประกอบการไทยไม่สามารถตั้งราคาขายได้ เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงผันผวน โดยการนำเสนอมาตรการเหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น แต่หน้าที่ในการใช้มาตรการเป็นของภาครัฐ และ ธปท. มากกว่า รวมถึงเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย” นายอิสระ กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บีบแบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย

view