สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลปกครอง สั่งรัฐบาลทำประชาพิจารณ์โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องรัฐบาลให้เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล

     วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง เมื่อเวลา 14.30 น.ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาใน คดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับชาวบ้านรวม 45 รายยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 เพื่อขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง เพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3 .5 หมื่นล้านบาทและสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันจัดให้มีการทำประชามติรับ ฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5ประกอบมาตรา 11 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการ
       
       โดยศาลฯได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยรวม 3 ประเด็น 1. ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนินมลพิษ และส่งเสริมสิทธิหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพย์ยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้ อย่างสมบูรณ์ยั่งยืนและเกิดความมั่นคงทางนิเวศ และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชน ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเดือนร้องเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้ง4 ส่วนผู้ฟ้องที่ 2 -45 ก็ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหาย ที่มีสิทธิฟ้องคดีเช่นกัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา57 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนของประชาชน ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องดังกล่าว ก็ได้โต้แย้งไว้ในเรื่องสิทธิข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ เป็นคดีไว้
       
       ส่วนประเด็นที่ 2 การจัดทำแผนแม่บทฯ ของกยน.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้า ไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในแผนแม่บทฯ ได้ระบุรายละเอียดของแผนที่จะดำเนินการ เช่น ในหัวข้อ 3.4.6 แผนงานให้กำหนดพื้นที่รับน้ำรองติดกัน และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง ตั้งแต่เขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือตลอดจนสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชนใน วงกว้างหลายพื้นที่ ประกอบกับมีการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ที่มีลักษณะจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นการวางผังเมืองและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา57 วรรค2 แต่ในคดีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกฯและกยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ได้ดำเนินการหรือมีแผนที่จะจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างทั่วถึง ก่อนการจัดทำแผนแม่บทฯ แต่อย่างใด จึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
       
       ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติในการที่จะดำเนินการต่างๆตามแผนแม่บทฯหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่าง ยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่า ถ้าดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจริงจะต้องมีการใช้พื้นที่ที่เป็นป่าไม้และ ที่ดินซึ่งประชาชนอยู่อาศัยรวมทั้งใช้ประกอบอาชีพ ดังนั้นทำให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อน รวมทั้งให้องค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
       
       โดยแม้ว่าทีโออาร์ดังกล่าวจะกำหนดให้เอกชนผู้รับจ้างทำหน้าที่ศึกษา ด้านต่างๆและจัดให้มีรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ผลอาจเบี่ยงเบนหรืออาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเอกชนผู้รับจ้างดังกล่าวเป็นผู้ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบและก่อสร้างกับ รัฐไปแล้ว ซึ่งจะเป็นปกติวิสัยในทางธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะคำนึงผลกำไรสูง สุดเป็นสำคัญ จึงอาจพยายามให้ผลการศึกษาดังกล่าวออกมาในลักษณะที่ให้มีการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เป็นที่ไม่มั่นใจในความถูกต้องและความน่า เชื่อถืออีกทั้ง ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมของกฎหมายที่กำหนดให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 อีกด้วย
       
       การที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 กำหนด ข้อกำหนดทีโออาร์ให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟัง ความเห็นของประชาชน ทั้งที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง4 ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 แม้ว่าขณะยื่นฟ้องจนถึงระหว่างที่ศาลมีคำพิพากษา จะยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนผู้ที่จะมาเป็นคู่สัญญาและยังไม่มี การออกแบบ รวมทั้งการก่อสร้างจริง ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ต้องจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน แต่เมื่อมีข้อกำหนดทีโออาร์ไว้ชัดแจ้งว่าให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการ ในเรื่องนี้ จึงเป็นที่เล็งเห็นได้ว่า เมื่อมีการทำสัญญาขึ้นแล้วย่อมเกิดการกระทำที่ถือว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่อย่างแน่แท้ โดยที่โครงการดังกล่าวถือได้ว่ามีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับรัฐบาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีการกำหนดกรอบ ระยะเวลาดำเนินการไว้แล้ว หากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงเป็นกรณีที่ศาลจะมีคำบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามกฎหมาย
       
       จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ 67 วรรค 2 ด้วยการนำแผนแม่บทฯไปดำเนินการจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนอย่างทั่วถึงตามสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความ คิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามสิทธิชุมชนก่อนที่จะดำเนินการ จ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (โมดูล)
       
       อย่างไรก็ตามมีตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียงมีความเห็นแย้งคือ นายตรีทศ เจ้าของสำนวน และนายวินัย รุ่งรักสกุล ที่เห็นแย้งเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย ในเรื่องสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องที่ 2-45 ว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้อง และประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 แต่ตุลาการเสียงข้างน้อยทั้งสอง ยังคงเห็นด้วยกับเสียงใหญ่ ที่ควรมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ของประชาชน โดยหน่วยงานหรือผู้ที่มีความเป็นกลางก่อนจะมีการจ้างออกแบบและก่อสร้างแต่ละ แผนงาน
       
       ทั้งนี้ในการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ ฝ่ายผู้ฟ้องคดีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯเดินทางมารับฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้เดินทางมา คงมีเพียง อัยการผู้แทนในการต่อสู้คดี เดินทางมาฟังคำพิพากษา และนายวิทยา ผลประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) พร้อมคณะรวมทั้งตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์
       
       ด้านนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดหวังและพอใจในคำพิพากษาทั้งหมด โดยประเด็นใหญ่คือให้รัฐ ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเริ่มเซ็นสัญญากับบริษัทผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการดำเนินการคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 ปี ซึ่งวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.) สมาคมจะนำคำพิพากษาไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการว่ากระทำการ เข้าข่ายละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 หรือไม่ ส่วน หากรัฐบาลยื่นอุทรคำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ทางสมาคมฯก็ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เป็นไปตามคำ พิพากษาของศาลในวันนี้
       
       ขณะที่นายวิทยา ผลประไพ ผอ. สำนักเลขาธิการ สบอช กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินการต่อจากนี้อยู่ที่คณะผู้บริหาร ซึ่งจะได้เสนอแนวทางให้รัฐดำเนินการตามคำพิพากษาศาล โดยประเด็นเร่งด่วนคือเรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภาครัฐจะเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบศึกษา มีตัวแทนภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ ศึกษาผลกระทบ
       
       ส่วนนายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาเป็นไปตามที่คาด ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐจะต้องชะลอ หรือยุติโครงการ โดยโครงการไหนที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็เดินหน้าไป ส่วนโครงการไหนที่ต้องทำรัฐก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่เอกชน และกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่ต้องรับผิดชอบหรือเสียค่าปรับ หากดำเนินการในแต่ละแผนงานไม่เสร็จตามเวลา ที่ร่างสัญญากำหนดไว้ เนื่องจากจะไม่มีการเซ็นสัญญาก่อนตามแผนงานเดิม สุดท้ายการดำเนินโครงการลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผลดีกับประชาชน เพราะจะนำไปสู่การแยกสัญญาตามที่กบอ.เสนอ และคณะกรรมการป.ป.ช.ก็เห็นด้วย และเราก็จะได้ร่างที่หัวไปทาง หางไปอีกทาง จนอาจไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือโครงการแผนบริหารจัดการน้ำ
       
       นายปรเมศวร์ มินศิริ แกนนำกลุ่มไทยฟลัด พิมพ์ข้อความในทวิตเตอร์ @iwhale ระบุว่า ชัยชนะยกที่ 1 ของประชาชนได้มาแล้ว ยกต่อไปต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ชี้ขั้นตอนการจัดจ้างแบบไม่มีราคากลาง มีความผิดตาม พ.ร.บ.ทุจริต ทั้งนี้ รัฐบาลทำเสียเวลาไปหนึ่งปีครึ่ง แทนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการน้ำ กลับกีดกันมาตลอด จะเอาแต่เอกชน จนมาถึงวันนี้ต้องโทษรัฐบาล ศาลสั่งให้ไปทำอีไอเอ รับฟังประชาชนใช้เวลาหนึ่งปีขึ้นไป อย่าเพิ่งรีบไปกู้เงิน เสียดายดอกเบี้ย รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษา 8 พันล้านอย่ารีบจ้าง
       
       


       


       


       


       


       
       สำหรับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้แก่ มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการ พิจารณาในเรื่องดังกล่าว
       
       การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนิน การ
       
       ส่วนมาตรา 67 ระบุว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้ เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
       
       การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
       
       สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง


“ธงทอง” นัดทีม กม.ถกคำสั่งศาล ปค.พรุ่งนี้ ชี้ไม่ได้วินิจฉัยล้มจัดการน้ำ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปลัด สปน.รับทราบคำสั่งศาลปกครองแล้ว พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย ยันทำประชาพิจารณ์แน่ แต่ขอดูรายละเอียดประเมินผลสิ่งแวดล้อมก่อน พร้อมนัดถกทีมกฎหมายพรุ่งนี้ บอกเร็วไปพูดอุทธรณ์หรือไม่ ไม่ตอบ “ศรีสุวรรณ” จ่อฟ้อง ป.ป.ช.ฟัน รับถ้าสำรวจต้องใช้เวลาพอสมควร โยนคลังดูกระทบ พ.ร.ก.กู้หรือไม่ บอกอ่านเบื้องต้นไม่ได้ล้มโครงการ แค่ทำบางอย่างให้สมบูรณ์
             วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาให้รัฐบาลนำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัด ให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนจะดำเนินการจ้างออกแบบแต่ละแผนงานว่า ได้รับทราบรายงานเบื้องต้นแล้ว ซึ่งจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางอ้างอิงการพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใน 2 มาตราคือ 57(2) ตรงนี้เป็นภารกิจของรัฐบาลที่จะได้ดำเนินการตามหน้าที่ของบทบัญญัติรัฐ ธรรมนูญต่อไป และในมาตรา 67(2) พูดถึงเรื่องการประเมินผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในกรณีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียดในเอกสารจริง อีกทั้งยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่โดยรวมแล้วรัฐบาลน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ในประเด็นเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงนั้นจะ ทำแน่ และเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะต้องดำเนินการก่อนที่จะมี โครงการนั้น ต้องขอดูถ้อยคำและรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยว่าจะดำเนินการไปในส่วนนี้อย่างไร ทั้งนี้ ในวันที่ 28 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะทำงานภายในด้านกฎหมาย เพราะมีประเด็นข้อกฎหมายที่อยากจะวิเคราะห์และศึกษาให้ถี่ถ้วนรอบคอบก่อน และหากจะมีการดำเนินการอย่างไรจะต้องนำเสนอในคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนจะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางหรือไม่ คงเร็วเกินไป เพราะยังไม่เห็นคำพิพากษาฉบับเต็ม
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนจะนำคำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปยื่นให้คณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง นายธงทอง กล่าวว่า เป็นภารกิจหน้าที่รับผิดชอบที่ทุกคนจะพิจารณาตามความรับผิดชอบในบทบาทของแต่ ละคน
       
       เมื่อถามว่า หากทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจะทำให้โครงการล่าช้าหรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า หากข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำงาน แต่การรับฟังความคิดเห็นประชาชนก็จะต้องดำเนินการแน่ แต่ในขั้นตอนจะเป็นอย่างไรคิดว่าต้องใช้เวลาแน่ ส่วนจะกระทบต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องดูแล แต่ในสัญญาที่จะต้องทำกับเอกชนนั้นขอดูข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลปกครอง ก่อน
       
       “เท่าที่ผมอ่านคำพิพากษาเบื้องต้นไม่คิดว่าคำสั่งศาลปกครองกลางครั้ง นี้จะทำให้โครงการนี้ถึงกับต้องล้มพังพาบไปโดยสิ้นเชิง แต่บางส่วนจะต้องทำเติมให้มีความสมบูรณ์ บางส่วนเดินหน้าได้ เช่น เรื่องคลังข้อมูลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องของการเก็บสถิติ การวางระบบ และการตรวจติดตาม ตรงนี้ไม่มีผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมแน่ จึงคิดว่าเดินได้ จะว่าไปขรุขระประการใดคงนึกไม่ออก” นายธงทอง กล่าว


น้อมรับคำสั่งศาล! รัฐบาลชะลอโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน มุ่งรับฟังเสียงประชาสังคมทั่วประเทศ

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เวลา 15.15น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธงทอง จันทรางสุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินโครงการบริหารจัดการ น้ำ 3.5แสนล้าน ว่า เบื้องต้นนั้นตนยังไม่มีโอกาสอ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางฉบับเต็ม ซึ่งคำวินิจฉัยมีการอ้างอิงตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งในมาตรา57วรรค2นั้นพูดถึงเรื่องของการแผนงานใดๆที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องมีการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งในส่วนนี้เป็นภารกิจที่รัฐบาลจะดำเนินการตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญต่อไป โดยทราบกันแล้วว่าเรามีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับภาคศาลปกครองในประเด็น ที่รับให้เอกชนเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นที่จะให้ข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ด้วย แล้ว ยืนยันจะเดินหน้าต่อไป

ส่วนที่สองซึ่งศาลปกครองได้กล่าวถึงมาตรา 67 ที่ระบุถึงการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกรณีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งในเรื่องนี้ในรายละเอียดตนยังไม่เห็นตัวเอกสารจริง รวมทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ มีประกาศที่เป็นอนุบัญญัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งต้องใช้เวลา1-2 วัน ที่ต้องศึกษา และเมื่อมีความคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้สาธารณะชนทราบ โดยรวมแล้วรัฐบาลน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลปกครองในประเด็นที่ให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ส่วนนี้จะทำแน่เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำอยู่แล้ว แต่ในส่วนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ตนขอดูรายละเอียดและอนุกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการในส่วนนี้ต่อไปอย่างไร โดยจะมีการประชุมคณะทำงานด้านกฎหมายของกบอ.ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการวิเคราะห์ข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วนรอบคอบ

ส่วนเรื่องการอุทธรณ์นั้นตนยังไม่เห็นคำพิพากษาฉบับเต็ม จึงถือว่าเร็วเกินไปที่จะชี้แจงในขณะนี้ ส่วนเรื่องการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น เป็นส่วนที่กระทรวงการคลังดูแลอยู่ ทั้งนี้จะทำให้โครงการล่าช้าออกไปหรือไม่นั้น หากมีการดำเนินการฟังความคิดเห็นประชาชนซึ่งก็ต้องทำ แต่ขั้นตอนเป็นอย่างไรนั้นจะต้องใช้เวลา ส่วนการลงนามสัญญากับบริษัทเอกชนนั้นยังไม่เกิดขึ้นแน่ในเร็วๆ นี้ เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการลงรายละเอียดในสัญญา ซึ่งจะต้องใช้เวลา 3 เดือน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะถึงขั้นล้มโครงการทั้งหมดหรือไม่ นายธงทองกล่าวว่า ตนไม่คิดว่าโครงการนี้ถึงขนาดต้องล้มโดยสิ้นเชิง แต่บางส่วนจะต้องทำเติมให้สมบูรณ์ บางส่วนอาจเดินหน้าได้ เช่น โครงการคลังข้อมูลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องการเก็บสถิติ การวางระบบในการตรวจติดตาม ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่จึงน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบและจะทำความเข้าใจถึงกระบวนเดินหน้าต่อไปของโครงการนี้ให้กับประชาชนทั่วไป ร่วมทั้งจะชี้แจงให้บริษัทเอกชนทั้ง 4 กลุ่มเข้าใจด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาลปกครอง รัฐบาล ประชาพิจารณ์ โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

view