สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิวอีมีผลคล้ายแต่ไม่ถึงการรับจำนำข้าว

คิวอีมีผลคล้ายแต่ไม่ถึงการรับจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังเกิดความถดถอยครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจของโลกตะวันตกเมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ปะทุในตอนกลางปี 2551

ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผลิตคำใหม่ออกมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่า “คิวอี” (QE ย่อมาจาก Quantitative Easing) คำนี้ผู้ที่ไม่อยู่ในวงการเศรษฐกิจมักไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรกันแน่ แต่ถ้าแปลว่าการพิมพ์เงินเพิ่มอาจจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการพิมพ์เงินเพิ่มออกมาจำนวนมหาศาลอาจสร้างความตระหนกตกใจได้ ผู้ดำเนินนโยบายจึงใช้คำที่มีความหมายค่อนข้างเข้าใจยาก หรือกำกวม เรื่องนี้ไม่ต่างกับการใช้คำว่า Good Governance (ธรรมาภิบาล) เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า Corruption (โกง หรือ ฉ้อฉล) โดยตรงซึ่งอาจทำให้เกิดการต่อต้านทันที

ปัจจัยที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของโลกตะวันตกต้องใช้คิวอีอันเป็นการทุ่มเงินเข้าไปในเศรษฐกิจ คือ พวกเขาไม่สามารถใช้นโยบายการคลังและการเงินได้อีกต่อไปด้วยสาเหตุใหญ่ๆ สองประการคือ ประการแรก งบประมาณของรัฐบาลขาดดุลสูงอยู่แล้ว และพร้อมๆ กันนั้นรัฐบาลก็มีหนี้สินสูงจนไม่สามารถทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ประการที่สอง ดอกเบี้ยลดลงจนเหลือใกล้ศูนย์ หรือเป็นศูนย์แล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถใช้นโยบายด้านการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก ฉะนั้น ผู้นำเดินนโยบายหมดทางเลือกนอกจากจะพยายามพิมพ์เงินใหม่เพื่อทุ่มเข้าไปเศรษฐกิจ กลไกในการพิมพ์เงินใหม่ได้แก่การกว้านซื้อทรัพย์สินของสถาบันการเงินจำพวกพันธบัตร สัญญากู้เงินซื้อบ้านและเอกสารทางการเงินอื่นๆ

รายงานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศบ่งว่า ในช่วงเวลาที่เกิดความถดถอยครั้งใหญ่นี้ ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ ได้ทุ่มเงินเข้าไปในระบบถึงกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ ตอนนี้ ธนาคารกลางของอเมริกาแห่งเดียวทุ่มเข้าไปอีกเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์

ผลที่ได้จากนโยบายทุ่มเงินนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยฟื้นตัวจริงๆ อัตราการว่างงานในอเมริกายังอยู่ที่กว่า 8% ในสหภาพยุโรปกว่า 12% ในขณะที่ในบางประเทศกว่า 25% แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเถียงว่าถ้าไม่พิมพ์เงินใหม่เพื่อทุ่มเข้าไปในเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลดังกล่าว เศรษฐกิจทั่วโลกจะตกต่ำต่อไปจนกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าดังที่เห็นอยู่ การถกเถียงกันนำไปสู่ข้อสังเกตจากบางวงการว่า วิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่นักเศรษฐศาสตร์ร่ำเรียนกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ข้อสังเกตนี้น่าจะมีฐานของความเป็นจริง มันสร้างทั้งความวิตกและความดีใจให้หลายวงการ วิตกเพราะเราขาดเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ดีใจคือเราจะได้ค้นหาของใหม่ที่อาจใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ก็เปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปเลย อาทิเช่น เลิกมองว่าการแสวงหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องซึ่งมีค่าเท่ากับการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้งคือทางดำเนินชีวิตที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าในช่วง 5 ปีมานี้ราคาค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ขึ้นไปสูงมากทั้งที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะซบเซา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเงินที่ธนาคารกลางทุ่มเข้าไปในระบบมากมายนั้นไม่รู้จะไปไหน มันจึงไหลเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของอเมริกาเปรยออกมาว่าอาจจะลด หรือหยุดทุ่มเงินดังกล่าว เท่านั้นเอง ราคาค่าหุ้นทั่วโลกก็ตกวูบ เพราะอะไร เพราะนโยบายพิมพ์เงินมากๆ ออกมาเป็นเวลา 5 ปีได้กลายเป็นยาเสพติดของตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว

ไม่นานหลังจากธนาคารกลางของอเมริกาเปรยว่าจะลดยาเสพติด รัฐบาลไทยก็ประกาศว่าจะลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาทเหลือตันละ 12,000 บาท เท่านั้นเอง การเคลื่อนไหวจากหลายกลุ่มชนก็เกิดขึ้นทันที ทั้งนี้ เพราะโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมากๆ นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายซึ่งคนไทยเริ่มเสพติดมาตั้งแต่ปี 2544

ทั้งที่มีความคล้ายกันในด้านเป็นยาเสพติด แต่การพิมพ์เงินจำนวนมหาศาลของธนาคารกลางดังกล่าวจะไม่ทำลายเศรษฐกิจและสังคมโลกตะวันตกเท่ากับโครงการรับจำนำข้าวทำลายเศรษฐกิจและสังคมไทย เพราะอะไร? เพราะตลาดหลักทรัพย์มิใช่กล่องดวงใจของเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา แต่ข้าวเป็นกล่องดวงใจของเศรษฐกิจและสังคมไทย คนไทยหลายสิบล้านอยู่ในกระบวนการผลิตและค้าขายข้าว คนไทยทั้งหมดรับประทานข้าว หรืออาหารที่ทำจากข้าวเป็นอาหารหลัก เมืองไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวหมายเลข 1 มาเป็นเวลานาน คุณภาพข้าวไทยไม่ด้อยกว่าของใครในโลก แต่เพียงสองปีที่รัฐบาลเข้าไปดำเนินโครงการรับจำนำข้าว นอกจากจะขาดทุนจำนวนมหาศาลซึ่งจะมีผลทางงบประมาณต่อไปแล้ว ยังมีผลร้ายในด้านอื่นๆ ตามมาอีกด้วย คุณภาพข้าวไทยตกต่ำ ไทยสูญเสียความเป็นหนึ่ง ชาวนาเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งผลิตข้าวที่ด้อยคุณภาพ ตลาดค้าข้าวถูกทำลายโดยการผูกขาดของรัฐบาล เกิดการคดโกงอย่างมหาศาล ฯลฯ

คอลัมน์นี้เคยเอ่ยถึงเรื่องประธานาธิบดีมาร์กอสทำลายเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์หลังเข้าไปผูกขาดตลาดมะพร้าวซึ่งฟิลิปปินส์เคยเป็นผู้ส่งออกหมายเลข 1 ของโลก การผูกขาดตลาดข้าวโดยรัฐบาลไทยจะมีผลร้ายแรงกว่านั้นเสียอีก ทั้งนี้ เพราะคนไทยรับประทานข้าวในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ผลิตมะพร้าวไว้ขาย ข้าวไทยกำลังเน่าและเป็นพิษจากสารเคมีซึ่งเมื่อรวมกับผลร้ายอื่นๆ จะมีค่าเท่ากับคนไทยและสังคมไทยกำลังอยู่ในกระบวนการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิวอี มีผลคล้าย รับจำนำข้าว

view