สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินลงทุนน้ำ มันไม่ใช่หวานหมู

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

พลันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้โครงการบริหารจัดการน้ำ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2ส่งผลให้การลงทุนระบบน้ำ 2.84 แสนล้านบาท ที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เตรียมจรดปากกาเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชน 4 รายต้องเลื่อนเวลาออกไป “ไม่มีกำหนด”

นั่นเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 ระบุว่า “...การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนิน การ”

มาตรา 67 วรรค 2 ระบุว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อน...”

เพื่อหาทางออกและเดินหน้าโครงการน้ำที่สะดุดหยุดลงชั่วคราวให้ได้ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีการบริหารจัดการน้ำ” มี พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเสนอแนะทางออกการดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำ

แต่เชื่อได้เลยว่างานนี้ พงศ์เทพ อดีตผู้พิพากษา น่าจะรับมือได้สบายๆ เพราะเมื่อพลิกคำพิพากษาศาลปกครอง และพิเคราะห์โดยละเอียดพบว่า ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ “ยุติ” การลงทุนโครงการน้ำ แต่สั่งให้การลงทุนที่มีผลกระทบต่อประชาชนต้องจัดให้มีกระบวนการตามบท บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

นั่นส่งผลให้ภายใต้การดำเนินโครงการทั้ง 9 แผนงาน (โมดูล) มีบางโมดูลที่ดำเนินการได้ทันที คือ การจัดทำระบบคลังข้อมูลเพื่อพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3,902 ล้านบาท ซึ่ง กบอ.น่าจะเซ็นสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทค้าร่วมล็อกซเล่ย์เอจีที ดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้

ส่วนแผนงานจัดทำแก้มลิง ฟลัดเวย์ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก ซึ่ง “เข้าข่าย” ว่าต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผลกระทบต่อสุขภาพ (เอชไอเอ) และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจต้องเลื่อนการก่อสร้างไป 12 ปี

“การดำเนินการจะไม่หยุดนิ่ง หรือรอการวิเคราะห์กฎหมายอย่างเดียว เพราะคำพิพากษาชี้ให้เห็นว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงต้องเตรียมการให้พร้อม”ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ย้ำ

แต่ทว่าโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำอีไอเอ เอชไอเอ และรับฟังความเห็นของประชาชนมีเม็ดเงินโครงการคิดเป็น 98.7% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ประเด็นนี้จะมีผลกระทบต่อ“มิติเศรษฐกิจ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะในภาวะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัว และปรากฏว่า 5 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกไทยขยายตัวเพียง 2% จากเป้าหมาย 89% การบริโภคในประเทศแผ่วลงชัดเจน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจากเม็ดเงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จึงทวีความสำคัญยิ่งยวด

หากเม็ดเงินก้อนนี้ไม่ถูกอัดฉีดเข้าระบบ6.7 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ จะมีผลให้การลงทุนของภาครัฐแผ่วกำลังลง และจะทำให้ สศช.ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงจาก 4.25.2% ในการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้แน่นอน

จึงเป็นงานหนักของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ต้องใช้เวลาที่เหลืออีก 6 เดือน ผลักดันเงินลงทุนน้ำเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด

ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การแยกสัญญาการก่อสร้างในแผนงานต่างๆ ออกเป็นสัญญาย่อย และการแยกสัญญาย่อยๆ นี้เอง เป็นสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ข้อเสนอแนะไว้ และนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธาน กบอ.ก็ตอบรับข้อเสนอนี้เช่นกัน

โครงการที่ฝ่าด่านนี้การทำอีไอเอ เอชไอเอ และการรับฟังความเห็นประชาชนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ได้แก่ การจัดทำผังการใช้ที่ดินจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจใน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 2.49 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก ป้องกันการกัดเซาะตลิ่งในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน และเจ้าพระยา 1.67 หมื่นล้านบาท ที่มีกลุ่ม ITDPOWER CHINA JV เป็นผู้รับเหมา และการจัดทำผังการใช้ที่ดิน จัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจหลัก 17 ลุ่มน้ำ 1.36 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า ซัมมิทเอสยูที เป็นผู้ชนะการประมูล

ส่วนงานที่ถือว่า “หิน” ที่สุดในการลงทุนระบบน้ำ ได้แก่ การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในลุ่มแม่น้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก 4.85 หมื่นล้านบาท และการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ 1.16 หมื่นล้านบาท หรือเป็นวงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่ม ITDPOWER CHINA JV เป็นผู้รับเหมา

เพราะรายชื่อพื้นที่กำหนดให้คัดเลือกเพื่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่ กำหนดไว้ในทีโออาร์ เช่น อ่างเก็บน้ำ 21 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่น แม่น้ำยม ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ แม่น้ำยมตอนบน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ แม่วงก์ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำชีตอนบน (เขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดี) จ.ชัยภูมิ คลองมะเดื่อ ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก และท่าแซะ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

พบว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานมีแบบก่อสร้างทั้งหมดแล้ว แต่ตลอดสิบปีที่ผ่านมาโครงการกลับเดินหน้าไม่ได้ เพราะเมื่อลงไปทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ชาวบ้านไม่เอาด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะลงไปรับฟังความคิดเห็นกี่รอบก็จะถูกคัดค้านเช่นเดิม ฉะนั้นโอกาสที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสำเร็จตามแผน 5 ปี จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง

“โครงการใหญ่ๆ ต้องทำประชาพิจารณ์ ขั้นตอนตรงนี้เราจะก้าวข้ามไม่ได้ อย่างโครงการสร้างเขื่อนป่าสักฯ เรามาประชุม นั่งถกเถียงกันจนเวียนหัว ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง แต่มันคุ้ม เพราะพอเราเข้าใจกันแล้ว ที่เหลือก็ม้วนเดียวเลย แต่ถ้าลัดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ปัญหาจะสะสมในตอนท้าย” สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าประสบการณ์

เช่นเดียวกับการสร้างฟลัดเวย์ ผันน้ำลงสู่อ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วงเงิน 150,484 ล้านบาท ซึ่งพบว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะพาดผ่านพื้นที่ชุมชน ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนหลายหมื่นครัวเรือน รวมทั้งการสร้างฟลัดเวย์จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “น้ำเค็ม” รุกเข้ามาพื้นที่ตอนในโดยง่าย

เช่น สร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปรับปรุงขยายคลองชัยนาทป่าสัก ขยายคลองระพีพัฒน์ คลองสิบสาม คลองรังสิตใต้ คลองพระองค์ไชยานุชิต และคลองอื่นๆ ที่จำเป็น พร้อมทั้งขยายหรือทำคัน ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้มีบานระบายน้ำกว้าง เพื่อให้มีอัตราการไหลของน้ำ 300400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจากเหนือ จ.นครสวรรค์ (แม่น้ำปิง) ช่วงแรก สร้างแนวผันน้ำจาก จ.นครสวรรค์ ไปลงเขื่อนแม่กลอง และช่วงที่สอง อาจเลือกการขุดคลองผันน้ำด้านฝั่งขวาขนาบกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาลงสู่ อ่าวไทย บริเวณ ต.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยทำจุดเชื่อมเพื่อระบายน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย

แม้แต่แผนงานปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อกักเก็บน้ำชั่วคราว หรือแก้มลิง เพื่อลดยอดน้ำหลาก ปริมาณความจุ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กรอบวงเงิน 9,863 ล้านบาท ที่มีพื้นที่ของประชาชนใน จ.นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท พิษณุโลก และสุโขทัย ได้รับผลกระทบหลายแสนไร่

การจัดทำกระบวนการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการรับความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม และการที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐเรียกร้องให้ประชาชน “เสียสละ” เพื่อส่วนรวมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจเพิกเฉยหรือละเลยเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้ รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญไปได้

นอกจากนี้ การนำความเจ็บปวดและเดือดร้อนของคนที่ประสบเคราะห์กรรมจากเหตุการณ์น้ำท่วม ใหญ่ปี 2554 มากดดันเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าแบบสุกเอาเผากินนั้น ก็รังแต่จะสะสมปัญหาให้ยืดเยื้อบานปลายเปล่าๆ

ดังนั้น คำสั่งศาลปกครองครั้งนี้ เรียกได้ว่า “เป็นคุณ” กับรัฐบาลไม่น้อยเลยทีเดียว และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ส่วนประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ คือ คำพิพากษาของศาลปกครอง ทำให้การเบิกจ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่กำหนดให้เบิกเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่30 มิ.ย. 2556 จะ “ตกไป” หรือไม่นั้น คงต้องถกเถียงกันต่อ และการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมอีกหลายด่าน

แม้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะระบุว่า “คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการระบุให้รัฐบาลดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการ ดำเนินการต่อไปได้ ไม่ใช่เป็นคำสั่งยุติโครงการและห้ามกู้เงิน” แต่ฝ่ายค้านกลับมองต่างว่ารัฐบาลไม่สามารถใช้เงินกู้ก้อนนี้ได้แล้ว และหากจะลงทุนโครงการน้ำต้องเสนอเป็นงบประมาณปกติเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการลงทุนโครงการน้ำเป็นบทเรียน สำคัญของรัฐบาล และเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง 2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูง อีกด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินลงทุนน้ำ ไม่ใช่หวานหมู

view